top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

Vickteerut x Federbräu จากความหลงใหลในศิลปะของปิกัสโซ่สู่คอลเล็คชั่นสุดเพอร์เฟ็คต์



ELLE Fashion Week ครั้งนี้ ไม่มีตั๋วใดจะร้อนแรงเท่าโชว์ของ Vickteerut ที่เป็นโชว์ปิดงาน โดยซีซั่นนี้เป็นการร่วมงานกับเบียร์เฟเดอร์บรอย (Federbräu) และเป็นคอลเล็คชั่นที่สี่ ที่แป้ง – อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ เข้ามาดีไซน์แทนดีไซน์เนอร์คนเก่า ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน ที่ย้ายไปทำแบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายของเขาเมื่อปีที่แล้ว สี่คอลเล็คชั่นเป็นการทำงานที่นานพอที่จะทำให้แป้งผู้อยู่กับแบรนด์นี้ทุกวันมา 6 ปี ปรับทิศงานออกแบบมาในทางที่เธอถนัด แต่ก็รักษา DNA ของแบรนด์ที่เป็นที่ลูกค้าชื่นชมในความ เนี้ยบ-คม ได้อย่างไม่บกพร่อง ฝีตะเข็บยังคงปราณีต เนื้อผ้าคุณภาพสูง เป็นความเรียบง่ายที่มาพร้อมลูกเล่นใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงดูโก้ เป็นผู้หญิงแถวหน้า


การร่วมงานกับ Federbräu เกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่รู้ว่าเป็น Federbräu เราก็เห็นขนนกมาเลย แล้วเราก็มาคิดว่า Vickteerut กับขนนกมันจะลงเอยกันได้อย่างไร แต่พอเห็นว่าอาร์ตไดเรคชั่นของเขามีความเป็นเยอรมันแบบบาวเฮาส์ (Bauhaus – ลัทธิศิลปะในช่วงยุค 40s ที่เกิดจากโรงเรียนศิลปะชื่อเดียวกันในเยอรมันนี มีเอกลักษณ์คือการตัดทอนรายละเอียดที่วุ่นวายไม่ว่าจะในงานศิลปะ เฟอร์นิเจอร์ หรืองานสถาปัตย์ ให้เหลือเพียงความสมบูรณ์แบบที่เกิดจากความเรียบง่าย) เราก็คิดว่า มันก็เป็นไปได้ที่มันจะนำบาวเฮาส์มาใช้ด้วยกันกับงานออกแบบคอลเลคชั่นนี้ แป้งก็บอกเขาว่า ถ้าทำกับ Vickteerut เราเอาความเป็นบาวเฮาส์มาใช้ด้วยได้ไหม ในเรื่องของสี เส้น และพวกรูปทรงเรขาคณิตทั้งหลาย เขาก็บอกว่า จริงๆ แล้วเขาอยากได้อะไรอย่างนี้ ก็เลยแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย


Vickteerut ก็มีคอนเซ็ปท์ silmplicity with edge มาตลอด และมีความเป็นเรื่องของเส้นและโครงสร้างซึ่งก็เป็นหัวใจของบาวเฮาส์เลย งานนี้ก็น่าจะเข้าทางแป้งเหมือนกันนะ ใช่พี่ เอาจริงๆ ตอนแรกแป้งไม่รู้จักแบรนด์เขา แต่พอไปอ่านก็รู้สึกดีนะ รู้สึกว่าทำงานกันได้ แล้วพอเจอทีมมาร์เก็ตติ้งเขา ก็พูดกันรู้เรื่อง ก็เลยทำงานแล้วเข้าใจกันได้ดี แล้วเขาก็ดูทันสมัยด้วย



ทีนี้เรื่องขนนก ซึ่งเราไม่เคยเห็นขนนกในงานของ Vickteerut มาก่อนเลย ใช่! นี่เป็นครั้งแรกที่ Victeerut มีขนนก คือขนนกที่ใช้ทำเสื้อผ้ามันก็มีหลายพันธ์ุค่ะ แล้วแต่ละชนิดก็ให้ความรู้สึกต่างกันไป ขนนกที่แป้งใช้ แป้งอยากให้มันดูพุ่งออกมาเพื่อให้ชุดมีมิติเพิ่มขึ้น ก็เลยเอาขนนกที่มาดึงๆ เป็นเส้นๆ แล้วก็เอาลูกปัดสีแดงติดไว้ที่ปลาย พอเสร็จก็เอามารวบเป็นช่อ รวบเป็นช่อเสร็จแล้วก็มาเย็บใส่ตัว มันไม่ได้ยาก แต่มันมันถึกอะค่ะ ตอนนี้ขนนกมีเป็นหมื่นเส้นแล้วเนี่ย


คอลเลคชั่นนี้ของ Vickteerut ว่าด้วยเรื่องผู้หญิงของปิกัสโซ่ ซึ่งคงเอามาทำอะไรได้เยอะเลย เพราะปิกัสโซ่มีเมียเยอะมาก ใช่ เยอะฮึ่ม


ถ้าอย่างนั้นเอาแง่มุมไหนมาใช้ทำงาน ที่นำมาใช้คือสีและเส้นในภาพเขียนที่เขาวาดเมียๆ ของเขา แป้งชอบสีที่เขาใช้ มันสนุกดี แล้วแป้งอยากทำอะไรให้ Vickteerut ดูสนุกขึ้นอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองที่มีความเพี้ยนและบ้าๆ บอๆ ที่ยังไม่เคยได้ใช้ เราก็อยากจะลองมาทำอะไรที่มันกล้าขึ้นดีไหม  แล้วเพราะได้ไปดูงานของเขาที่ Museum Picasso ที่ปารีสมาด้วยแหละ แต่ไม่ได้เพิ่งไปดูนะคะ ไปมานานแล้วแต่ยังชอบอยู่ รูปผู้หญิงเหล่านั้นก็ยังอยู่ในใจ พอนึกถึงก็เลยกลับไปอ่านๆ ดู แล้วก็เลยชอบขึ้นไปอีก ก็เลยเอามาใช้นี่ล่ะ



เวลาเหมาะเจาะจังเลย เพราะงานคิวบิสซึ่ม (Cubism) ของปิกัสโซ่ก็เป็นเรื่องเส้นและโครงสร้าง ก็นับเป็นพี่ๆ โมเดิร์นนิสต์แบบบาวเฮาส์นะ ใช่ เขามาหาถูกช่วงมาก เพราะฟอร์มที่คอลเล็คชั่นนี้เอามาใช้คือความเป็นเส้น เป็นสีของปิกัสโซ่ที่เราสนใจอยู่ด้วย เป็นดีเทลที่เราอยากจะทำ พวกดีเทลที่เป็นแพทเทิร์นเส้นโค้งทั้งหลาย เลยเอาไอ้พวกรูปทรงเรขาคณิตบิดเบี้ยวที่มันมีอยู่ในงานของภาพเขียนปิกัสโซ่มาใช้กับเสื้อผ้า เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าของคอลเลคชั่นนี้มันจะไม่เป็นเส้นตรงน่ะค่ะ มันจะโค้ง มันจะเบี้ยว และจะมีแบบสีที่โดดขึ้นมาแปลกๆ


เคยคิดไหมว่าถ้าเกิดตัวเองต้องเป็นเมียปิกัสโซ่จะเป็นอย่างไร ก็น่าจะฟินเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะดีอย่างไร แต่แป้งก็ชอบบ้านเขา แล้วก็ชอบหมาเขาด้วย


ELLE แฟชั่นวีคโชว์นี้ Vickteerut x Federbräu มีอะไรบ้าง อยากพูดเรื่องดนตรีค่ะ แป้งขอพี่ปั๊ม (อพาร์ตเม้นต์คุณป้า) มาช่วยทำค่ะ พอได้คุยกับพี่ปั๊ม เขาก็บอกว่าอยากแต่งเพลงใหม่เพื่อโชว์นี้เลย แป้งบอกพี่เขาว่าอยากได้ที่มันรู้สึกถึงผู้หญิงที่เป็นแฟนปิกัสโซ่น่ะ ก็ได้เพลงที่ออกมาเป็นมีเมโลดี้ที่มีความเป็นผู้หญิงแต่ยังเท่อยู่และดาร์คนิดๆ พี่ปั๊มเขากลับมาพร้อมกับเพลงที่ค่อนข้างสะกดคนให้อยู่ในห้วงค่ะ แป้งฟังแล้วชอบเลย แต่มันก็จะหลับๆ นิดๆ นะคะ แต่ว่าแป้งว่ามันก็ดีที่มันนิ่ง มันเป็นเพลงที่มีหลายๆ อย่างผสมกัน ทั้งเปียโน กีตาร์ มีกลองเล็กๆ ด้วย แล้วก็บางอย่างแป้งไม่ทราบ แต่เหมือนพี่ปั๊มแกเขย่าๆ อะไรของแก แล้วก็มีเสียงเหมือนวัตถุที่มันตกกระทบทั้งหลาย คือเขาพยายามให้ทำเสียงให้เหมือนห้องทำงานของปิกัสโซ่ ส่วนเรื่องแสงได้พี่ติ๋ม (พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์) มาทำให้ ซึ่งแป้งก็ยังคงความเรียบของ Vickteerut เอาไว้ โดยรวมโชว์นี้จะแฝงอารมณ์ความเป็น Vickteerut กับความเป็น Federbräu ที่มาทำงานด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบค่ะ



Passion ที่ทำให้แป้งรักการทำงานเกิดจากอะไร ความสนุกในที่ทำงานทำให้เราอยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ อยากไปทำงานทุกวัน ชอบทำงาน ชอบทำงานดึกๆ ชอบทำงานก่อนนอน ตื่นเช้ามาทำงาน


ตื่นกี่โมง นอนกี่โมง ตื่น 7 โมง ไปทำงาน 8 โมงครึ่ง ออกจากออฟฟิศก็ทุ่มสองทุ่ม บางครั้งก็ดึกกว่านั้นค่ะ แล้วแต่วัน


ชั่วโมงการทำงานยาวเหมือนกันเนอะ แต่ก็ไม่ได้ว่าทำงานตลอดเวลาไงพี่ บางทีก็นั่งไปเรื่อยๆ ดูไอ้นั่นไอ้นี่ไปเรื่อย แต่ชอบอยู่ออฟฟิศ เพราะว่าอยู่แล้วมันสุนก เพราะเรามีทีมที่สนุก มันก็เลยทำให้อยากทำงานไปเรื่อยๆ อ้อ แล้วก็มี passion เรื่องเที่ยว!


เห็นว่าแป้งเป็นคนชอบดำน้ำและตระเวนดำน้ำมาหลายที่ในโลกมาก ขอ 3 อันดับที่ชอบที่สุด 1. สิมิลัน ประเทศไทย น้ำสีสวยมาก ข้างล่างปะการังก็สมบูรณ์สวยมากที่สุด น้ำอุณหภูมิดี ปลาเยอะ จุดที่ชอบสุดคือกองหินริเชริว (เกาะตาชัย) ที่มันจะเป็นเหมือนหน้าผาสองอันมาชนกันใต้น้ำ แล้วระหว่างช่องน้ำตรงนั้น น้ำจะแรงมาก แล้วน้ำจะเอาปลามาเยอะมาก ปลาก็จะผ่านช่องน้ำนั้นเข้ามาเรื่อยๆ 2. ปากัวนิวกินี อันนี้น้ำสีสวยกว่าสิมิลัน แต่เนื่องจากไปยาก ต้องขึ้นเครื่องบินหลายต่อกว่าจะไปถึง แต่ธรรมชาติทุกอย่างสมบูรณ์ไปหมด เจ๋งค่ะ 3. อเมริกาใต้ เคยไปครั้งเดียว แต่ชอบเพราะมันเหมือนโลกไดโนเสาร์ มันดูดึกดำบรรพ์ แล้วสัตว์ที่นั่นมันก็ดูหงิกๆ


สำหรับแป้ง นิยามคำว่า perfection คืออะไร แป้งก็อยากทำทุกอย่างให้มันออกมาดีที่สุดแหละค่ะ ก็เลยไม่สามารถนิยามมันได้เลย เพราะเราต้องการทำให้มันดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นเสื้อผ้า ความสมบูรณ์แบบก็คือคุณภาพเสื้อผ้า ที่ต้องดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะว่าเราขายคุณภาพและรูปทรงของเสื้อผ้าที่ดี ถ้าสิ่งเหล่านี้มันยังดีอยู่ เรื่องราวรอบๆ ที่เหลือ เราก็แต่งแต้มมันเพิ่มขึ้นมาได้ทั้งนั้น


 

โชว์ของ Vickteerut x Federbräu ที่  ELLE Fashion Week 2017 คือวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน เวลา 19.00 น.















































Comments


bottom of page