ความโดยจิม เมอเรย์ ว่าด้วยความรู้สึกอ้างว้างที่อยู่ในอัลบั้ม “Unknown Pleasures” ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกและอัลบั้มก่อนสุดท้ายของ Joy Division ที่ปีนี้มีอายุครบรอบ 40 ปีแล้ว เรื่อง Jim Murray Click here for English
ถ้าจะมีคำจำกัดความอันเป็นเอกฉันท์สำหรับ Unknown Pleasures อัลบั้มแรกอันยอดเยี่ยมไร้เทียมทานของวง Joy Division คำนั้นคือความเวิ้งว้าง ไม่ว่าจะเป็นความเวิ้งว้างระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น, ความเวิ้งว้างของซาวด์ ไปจนถึงบรรยากาศของอัลบั้มที่เกิดจากการปลุกเสกของพ่อมดแห่งวงการเพลงอย่างมาร์ติน เฮนเน็ตต์ ผสานกับเรื่องราวระหว่างบรรทัดของเนื้อเพลงเก็บกดและมุมมองคมคายของเอียน เคอร์ติส ที่สะท้อนภาพความเวิ้งว้างวังเวงของเมืองแมนเชสเตอร์ในปลายยุค 70s เมื่อครั้งก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตกตำ่ สภาพอาคารบ้านเรือนสีเทาและน้ำตาลหม่นหมอง ถนนหนทางปุปะด้วยแผลเป็นจากการทิ้งระเบิดของกองกำลังทางอากาศลุฟท์วัฟเฟอร์ของเยอรมนี ที่โจมตีเมืองนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
วง Joy Division: (L-R) Peter Hook (เบส) / Ian Curtis (ร้องนำ) / Stephen Morris (กลองและเพอร์คัสชัน) / Bernard Sumner (กีตาร์และคีย์บอร์ด) (ภาพ: Paul Slattery / Retna Pictures)
ย้อนกลับไปที่เพลงจาก EP แรกของ Joy Division ที่ปล่อยออกมาหนึ่งปีก่อนอัลบั้มเต็ม: เมื่อสิ้นเสียงตะโกนของเอียน เคอร์ติสในแทร็คแรกว่า ‘Three Five Oh One Two Five Go!’ สิ่งที่ตามมาจากนั้นคือความดิบ ความสด และความห่วยของการบันทึกเสียงทั้งสี่เพลงใน EP “Ideal For Living” (และถึง EP นี้จะถูกโปรดิวซ์ออกมาได้แย่ขนาดไหน ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งใน EP ที่ต้องมีไว้ครอบครองที่สุดในโลก) หรือเนื้อเพลงที่พูดถึงรูดอล์ฟ เฮส (ผู้นำระดับสูงของนาซีที่บินมาเพื่อเจรจาสันติภาพกับอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็ยังน่าแปลกใจที่แม้อีพีนี้มันจะดิบและแย่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้วงนี้กลายเป็นแค่วงหางแถวของยุคนั้น ที่ตลบไปด้วยกระแสวัยรุ่นแข่งกันทำเพลงด้วยตัวเอง แถม EP นี้ยังช่วยกระพือเชื้อไฟให้สปิริตแบบ DIY ของยุคโพสต์พังก์ช่วงปี 1977 อีกต่างหาก
ทีนี้ลองไปดูภาพความเวิ้งว้างในเพลงแรกของ EP ที่ว่า และเพลงแรกของอัลบั้ม Unknown Pleasures (เพลง Disorder) ที่ท่อนเปิดมีเสียงร้องก้องๆ ห้วนๆ ของเคอร์ติสว่า "I've been waiting for a guide to come and take me by the hand, could these sensations make me feel the pleasures of a normal man?" ความเหมือนที่แตกต่างของสองเพลงที่ปล่อยห่างกันหนึ่งปีนี้ เชื่อมกันได้ด้วยเสียงกลองที่ฮาร์เน็ตใช้เอฟเฟ็คต์ดีเลย์เดียวกัน ทำให้เกิดบรรยากาศโหวงเหวงกับบีตกลองย่ำๆ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนว่ากลองแต่ละชิ้นมันตั้งอยู่ห่างกัน
กล่าวได้ว่า สิ่งที่อัลบั้ม Unknown Pleasures ยังคงสะท้อนสู่แฟนเพลงในยุคนี้ ไม่ว่าจะอายุ 17 หรือ 70 คือความรู้สึกว่างเปล่า ความรู้สึกอับเฉาและสิ้นหวัง ความรู้สึกเหล่านั้นถูกจับฉีกแยกให้ยืนห่างกันบนพื้นที่เดียวกัน นั่นคือความซับซ้อนของมนุษย์ และโดยไม่รู้ตัว มันก็ผสมผสานกลายเป็นความงามประหลาดที่ช่วยให้เราได้เข้าใจความรู้สึกที่เคยอธิบายไม่ถูก
เอียน เคอร์ติสฆ่าตัวตายในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 (อายุ 23 ปี) หลังจากปล่อยอัลบั้มแรกได้แค่ปีเดียว เมื่อเขาจากไปสมาชิกวงสามคนที่เหลือก็เปลี่ยนชื่อวงเป็น New Order
ความรู้สึกเดียวดายนี้ยังทำให้เราเข้าใจว่าในขณะที่เพลงหลายเพลงก็ถูกลืมไปตามกาลเวลา แต่ทำไมเพลงบางเพลงจึงกลายเป็นตำนานแบบอัลบั้ม Unknown Pleasures ได้ นั่นเพราะซาวด์ของอัลบั้ม Unknown Pleasures ให้ความรู้สึกเหมือนมาจากช่วงเวลาในอนาคตและถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกอย่างนั้นได้อยู่ บางทีความหมกหมุ่นกับภพภูมิอื่นนี่เอง ที่เป็นตัวดึงดูดให้คนยังฟังได้เรื่อยๆ ดูจากการที่แฟนเพลงหยิบเอามาฟังอย่างสม่ำเสมอปีแล้วปีเล่า เหมือนเป็นเพื่อนร่วมเดินทางบนเส้นทางอ้างว้างไปด้วยกัน
ยังมีเรื่องหนึ่งที่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ หรือพูดแล้วจะซ้ำซากหรือเปล่าก็ไม่รู้ นั่นคือภาพปกอัลบั้มอันโด่งดังที่ก็สื่อเรื่องพื้นที่เวิ้งว้างอีกเช่นกัน และเป็นการสื่ออย่างตรงไปตรงมา
ภาพนี้เป็นภาพจากสารานุกรมดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เป็นการแสดงผลของคลื่นวิทยุพัลซาร์หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ถูกกลับค่าสีให้เป็นภาพลายเส้นสีขาวบนพื้นสีดำ ปกนี้ออกแบบโดยสุดยอดกราฟิกดีไซเนอร์ปีเตอร์ เซวิลล์ และถึงแม้มันจะทั้งโดนก็อป, ทำขึ้นใหม่, ถูกดัดแปลงเป็น meme ไปทั่วอินเตอร์เน็ต หรือโดนตีความหมายไปสารพัดทั้งจากแฟนเพลงหรือคนทั่วไป
แต่เจ้าคลื่นวิทยุนี้ก็มีนัยยะมากกว่าคลื่นบนจอชีพจร เพราะมันเป็นเรื่องของการวัดพื้นที่เวิ้งว้างในจักรวาล ที่บางทีดีไซน์เนอร์อาจต้องการเอามาใช้สื่อถึงเสียงจากจังหวะการตีกลองของสตีเฟ่น มอรริส ที่เสียงกระเดื่องกลองซึมแทรกอยู่ในความเวิ้งว้างของอัลบั้มนี้มาตลอด 40 ปี
Jim Murray is a music nerd based in Melbourne, Australia when he's not at gigs or record shopping in other parts of the world.
Comments