top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ใบหน้าเมือง- เรื่องศิลปะ- และไปให้ไว



Third World Movies โดย: จักรพันธุ์ ขวัญมงคล


Faces Places


หนังสารคดีของอานเญส วาร์ดา ผู้กำกับหญิงวัย 88 ชาวเบลเยี่ยมกับ เจอาร์ ช่างภาพและศิลปินชาวฝรั่งเศส และ “The Square” หนังของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสลุนด์ เป็นสองเรื่องนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเลยครับ


เรื่องแรกเป็นหนังสารคดีของผู้กำกับหญิงระดับตำนาน อานเญส วาร์ดา ทำหนังมากว่า 60 ปีแล้วครับ เธอเป็นบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์ฝรั่งยุโรปเลยก็ว่าได้ และ “Faces Places” ก็ได้รับกระแสวิจารณ์ดีไปจนถึงดีมาก ถึงขั้นที่นิตยสาร Time ยกให้เป็นหนึ่งในสิบหนังยอดเยี่ยมของปีที่ผ่านมาครับ แถมยังชนะรางวัล “Most Popular International Documentary” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองแวนคูเวอร์ในปีที่แล้วด้วย (แต่ในบ้านเรานี่เพิ่งเป็นหนังเรื่องแรกของเธอที่เข้าฉายอย่างเป็นทางการ) ส่วนเรื่องที่สองนี่มีดีกรีเป็นถึงหนังรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d‘Or) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีที่แล้วเช่นกัน เป็นรางวัลเดียวกับที่พี่เจ้ย– อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้จากหนัง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ในปี 2010 นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าเมื่อดูจากชื่อชั้นรางวัลต่างๆ ทั้งสองเรื่องถือว่าเป็นหนังที่ไม่ธรรมดาจริงๆ แต่จะไม่ธรรมดาแบบไหนนั้น ผมรบกวนอ่านให้จบจนถึงย่อหน้าสุดท้ายก็แล้วกัน


Faces Places


“Faces Places” เป็นหนังสารคดีที่น่าสนใจและสนุกมาก หนังว่าด้วยสองศิลปินต่างวัยอย่าง อานเญส วาร์ดา และ เจอาร์ (คนแรกเป็นนักทำหนังรุ่นลายครามอยู่ในกลุ่ม French New Wave ราวยุค 50’-60’s ส่วนคนหลังเป็นช่างภาพไฟแรงที่อายุพอจะเป็นลูกหรือแม้แต่หลานของ วาร์ดา ได้เลย) ทั้งคู่ทำแคมเปญพิเศษซึ่งออกจะดูคล้ายนิทรรศการศิลปะเคลื่อนที่กลายๆ ขึ้นมาโดยทั้งสองตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศสเพื่อถ่ายภาพบุคคลซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นๆ แล้วปรินต์ออกมาเป็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ยักษ์แล้วจึงนำไปแปะบนอาคารบ้านเรือน ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตามแต่นิทรรศการภาพถ่ายเหล่านั้นก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี เรื่องราวที่บางครั้งก็หล่นหายไปจากกระแสสังคม เรื่องราวที่ไม่อาจเล่าได้ด้วยคำพูดเพราะมันลึกซึ้งและซับซ้อนเกินไป หรือแม้แต่เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ทั้งหมดนั้นถูกเล่าด้วยภาพถ่ายขาวดำขนาดยักษ์สะดุดตาผู้พบเห็น เพื่อเน้นย้ำว่าเมืองทุกเมือง สถานที่ทุกสถานที่ ล้วนมีใบหน้าที่แท้จริงหลบซ่อนอยู่ แต่ละพื้นที่ แต่ละใบหน้าก็ล้วนมีเรื่องราว มีความทรงจำ หรือแม้แต่เรื่องราวดีๆ ที่สร้างกำลังใจให้กับผู้ชมได้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาอันซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ เพียงเพราะเสียงของผู้คนเหล่านั้นยังดังไม่พอ


Faces Places


สิ่งที่ทั้งวาร์ดาและเจอาร์ทำจึงเป็นมากกว่านิทรรศการแสดงผลงาน แต่มันเป็นเหมือนกระบอกเสียงซึ่งบอกเล่าเรื่องราวอันไม่ถูกเปิดเผย และในอีกแง่หนึ่งมันคือรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “การทำให้ศิลปะเข้าถึงและรับใช้ผู้คน” เพราะมันไม่ได้วางตนอย่างไว้ตัวอยู่แต่ในแกลเลอรีรอให้คนเข้าไปพบ หากแต่มันติดล้อห้อตะบึงออกไปหาผู้คน นอกจากเส้นเรื่องหลักคือการพบปะผู้คนเพื่อถ่ายภาพแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ของวาร์ดาและเจอาร์ที่ดำเนินไปอย่างน่าสนใจเป็นเส้นเรื่องรอง เพราะมีทั้งความขัดแย้ง ทัศนคติอันเกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ความเข้าอกเข้าใจและปลอบประโลมซึ่งกันและกัน ซีนที่เจอาร์เข็นวีลแชร์พาวาร์ดาชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ในตอนท้ายนั้น ถือเป็นซีนที่อธิบายทุกอย่างที่ว่ามาได้ดีที่สุด และถือเป็นตอนจบของหนังที่ทำให้ผู้ชมเป็นสุขและโล่งใจ


Faces Places เริ่มฉายวันที่ 11 มกราคมเป็นต้นไปที่ SF Cinema facebook.com/DocumentaryClubTH



The Square


The Square


ส่วน “The Square” นั้นอาจจะเป็นหนังที่นักดูหนังทั่วไปไม่คุ้นเคยอยู่สักหน่อย พูดง่ายๆ ว่าคุณเปิดระบบออโตไพลอตเพื่อดูหนังเรื่องนี้แล้วน่าจะมีอาการเคว้งคว้างกลับไม่ได้ไปไม่ถึงอยู่บ้าง แต่ถ้าดูไปเรื่อยๆ แล้วหนังจะไต่ระดับสนุกขึ้น

“The Square” เล่าเรื่องวิบากกรรมของคริสเตียน ภัณฑารักษ์คนหนึ่งซึ่งถูกขโมยโทรศัพท์และกระเป๋าสตางค์ ลูกน้องคนหนึ่งของเขาจึงออกไอเดียให้เขียนจดหมายขู่แบบหว่านแห คือร่อนไปทั่วอพาร์ตเมนต์ที่สืบทราบได้ว่าคนที่เป็นหัวขโมยอาศัยอยู่ หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องอันน่าอึดอัดใจต่างๆ ตามมา คู่ขนานไปกับความวิบัติที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอันเนื่องมาจากนิทรรศการศิลปะชิ้นใหม่ซึ่งกำลังจะจัดแสดง เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบในการจ้างนักการตลาดมาทำแคมเปญให้ผู้คนสนใจ โดยที่แคมเปญนั้นสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตีกลับให้ คริสเตียน และอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนถึงชีวิตในหลายๆ มิติ


The Square


หลักใหญ่ใจความของ “The Square” ก็คือแม้มันจะเป็นหนังที่ตั้งคำถามถึงนิยามความเป็นศิลปะว่าแท้จริงแล้วศิลปะคืออะไรกันแน่ ผ่านการเสียดสีที่มีตั้งแต่กัดเบาๆ ละมุนละม่อมไปจนถึงจิกทึ้งแบบเอาถึงตาย แต่ลึกลงไปกว่านั้นแล้ว “The Square” กำลังวิพากษ์วงการศิลปะว่ามีส่วนทำให้มนุษย์มีลำดับชั้น ฉันเป็นคนชั้นสูงสนใจงานศิลปะ เธอเป็นชนชั้นกลางเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ และช่องว่างที่เกิดขึ้นจากศิลปะนั้นเองที่ทำให้เราหวาดระแวงกัน ไม่ไว้ใจกัน ไปจนถึงกระทั่งไม่มองอีกฝ่ายเป็นมนุษย์

หลายฉากใน “The Square” นั้นสะท้อนความจริงเหล่านี้ออกมาได้อย่างแหลมคมและเจ็บปวดซึ่งบางฉากก็เจ็บปวดและทำให้อกสั่นขวัญแขวนได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะฉากมนุษย์วานรในปาร์ตี้ไฮโซฯ แม้แต่คอนเซปต์ “The Square” อันกลายเป็นที่มาของชื่อหนังเองก็ยังยอกย้อนและเสียดสี เมื่อหนังเล่าว่าภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นสิ่งที่อยู่ข้างในจะกลับมีความสำคัญ มีคุณค่า แต่เมื่อเอามันออกมาหรือเอากรอบนั้นออกไป คุณค่าที่แท้จริงก็เผยตัวตนออกมาว่าแท้จริงมันอาจไม่มีคุณค่าในสายตาของใครเลย ทั้งที่เป็นของชิ้นเดียวกัน ไร้คุณค่าเหมือนเช่นที่เคยเป็นมายาวนาน กรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส (อันมีนัยยะถึงงานศิลปะ) จึงเป็นทั้งสิ่งสร้างและสิ่งทำลายคุณค่าที่แท้จริงในคราวเดียวกัน


The Square


ทั้ง “Faces Places” และ “The Square” จึงเป็นหนังสองเรื่องที่พูดถึงนิยามความเป็นศิลปะในแง่มุมที่แตกต่างกัน หนึ่งนั้นใช้ศิลปะในการบอกเล่าเรื่องราวเปิดเผยโฉมหน้าของเมืองและผู้คน อีกหนึ่งนั้นตั้งคำถามทั้งความเป็นศิลปะและความเป็นมนุษย์ หนึ่งในทำให้ศิลปะมีหน้าที่ที่ชัดเจนและควรจะเป็น อีกหนึ่งนั้นคือการวาดกรอบให้ศิลปะแล้วลบกรอบนั้นเสีย ทั้งหมดนั้นเพื่อให้คนดูได้หาคำตอบ การให้คนดูได้คิดและหาคำตอบนั้นเองจึงบรรลุหน้าที่ของภาพยนตร์

ซึ่งในโลกแห่งการดูหนังแบบบ้านเรา หนังที่ทำหน้าที่แบบนั้นมักไม่ค่อยได้รับความนิยม ยิ่งเป็นหนังรางวัล (หนังเมืองคานส์นี่แหละตัวดีเลย) ก็มักจะถูกมองว่าดูไม่รู้เรื่อง ดูยาก ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมร้องขอไว้ตั้งแต่แรกว่าอ่านให้จบถึงย่อหน้านี้ สิ่งนั้นก็คือสำหรับท่านที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น “Faces Places” หรือ “The Square” หนังทั้งสองเรื่องนี้จะเข้าฉายในบ้านเราวันแรกคือวันนี้ (11 มกราคม) และถ้าจะให้แน่ใจว่าท่านจะได้ชมแน่ๆ ก็อย่ารอให้เกินหนึ่งสัปดาห์ เพราะหลังจากนั้นหนังอาจลดจำนวนรอบฉาย อาจหาดูยากขึ้น หรือถึงขั้นอาจจะหลุดออกจากโปรแกรมไปเลยก็ได้ สรุปก็คือท่านชักช้าไม่ได้จริงๆ มันมาเร็วไปเร็วราวดาวหางฮัลเลย์ก็ไม่ปาน

Comments


bottom of page