top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

อยากให้มองว่าเราไม่ใช่ช่างสัก แต่เป็นคนทำงานศิลปะแบบนึง

มีคนบอกว่าถ้าเริ่มสักแล้ว ลายแรกผ่านไป ลายสอง ลายสาม ก็จะค่อยๆ ผ่านไป ซึ่งไม่ผิดสักนิด เพราะหลังจากที่วันนี้ได้คุยกับช่างสักรุ่นใหม่สามคนที่สตูดิโอสักบนร้านกาแฟ Akirart ก็อยากจะได้ลายใหม่เพิ่มทันที


ทั้ง แบม อี๊ฟ และขวัญ ต่างคนต่างมาจากสายงานที่ต่างกัน แต่มีจุดร่วมอย่างเดียวกันคืออยากให้คนเห็นคุณค่าของงานสักว่าเป็นงานศิลปะ และอยากให้มองช่างสักเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดผลงานลงบนเนื้อตัวของเรา ซึ่งก็ถือเป็นสื่อรูปแบบหนึ่งไม่ต่างจากผืนผ้าใบ

 

สัมภาษณ์: มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ @iarbuckle ภาพบุคคล: คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง @chubbychain

 

แบม—นภัสสร สุรินทรศักดิ์ @bamsur

ขวัญ—ครองขวัญ บุญอำพล @parangjew

อี๊ฟ—ณัฐธิดา ครุฑพงษ์ @_l_u_r_e_a_r_

 

อะไรทำให้สนใจงานสัก

ขวัญ: ตั้งแต่เรียนช่างศิลปแล้ว ขวัญรู้จักกับพี่คนนึงเขาสักกับพี่ที่ข้าวสาร ขวัญเลยขอตามไปดู เขาสักเก่งมาก หลังจากนั้นขวัญไปดูตลอดเลยว่าเขาสักเครื่องทำยังไง เขาเห็นหนูตามมาดูก็เลยสอน แล้วขวัญก็ลองสักบ้าง แล้วเขาก็สักให้หนูด้วย ทีนี้ไปเห็นใน YouTube ที่เขาทำ handpoke (การสักแบบไม่ใช้เครื่องสัก ใช้แค่เข็มและหมึก) ก็เลยหัดกับเพื่อนก่อน


ตอนหลังก็ไม่ค่อยได้สักเครื่องแล้ว ไม่อยากทำตามลูกค้าที่เอาแบบของคนอื่นมาให้เราสัก พอหนูอยู่กับพี่พวกนี้มาแล้วรู้สึกว่าการสักมันเหมือนงานศิลปะ ตอนแรกหนูไม่เข้าใจว่าการสักมันจะเป็นศิลปะไปได้ไง พอหนูโตขึ้นมาแล้วไปเจอคนนู้นคนนี้ ไปดูงาน เห็นว่าต่างประเทศมีคนที่เรียกตัวเองว่า ‘tattoo artists’ จริงๆ เลยรู้สึกรักมันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราอยากสักลายนี้ตามคนนั้นเพราะเห็นว่าเท่

อี๊ฟ: ตอนเรียนจบก็คิดว่าทำอะไรดีที่ยังได้ทำงานศิลปะอยู่ ก็รับจ้างตัดโมเดล ที่เลือกอันนั้นไปก่อนเพราะที่บ้านไม่ส่งแล้ว ต้องหาเงินเอง แล้วเหมือนเขาจะเปิดเป็นบริษัทเลยคิดว่า หรือว่าเราจะเป็นพนักงานประจำไปเลย ที่บ้านก็บอกว่าทำๆ ไปก่อน แต่พอเรามาคิดดูก็รู้สึกว่าที่มาทำจ๊อบนี้ 5 วัน ไม่มีความสุขเลย เลยไม่ทำต่อ เลยไปขอให้รุ่นพี่สอนสัก เพราะอยากลองว่าตัวเองจะทำได้ไหม ก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้

แบม: แบมว่าวิธีการสักมัน fascinating มาก ด้วยความที่เรียนตากล้องมาก็รู้สึกว่าวิธีนี้จะทำภาพอะไรก็ได้ การเป็นตากล้องมันต้องถ่ายสิ่งที่มีอยู่จริง ต้องเซ็ตไฟถ่าย แต่งานสักมันเหมือน painting มีแค่สีกับผ้าใบ (canvas) เราไม่สามารถไปถ่ายช้างอยู่บนอวกาศได้ แต่เราวาดรูปหรือสักออกมาได้


ตั้งแต่ตอนแรกที่ลองเล่นๆ แบมก็ไม่รับรูปที่เซฟมาเลย แล้วก็รับสักให้แค่เพื่อนๆ ด้วยความที่วาดรูปไม่เป็น งานที่ออกมาก็ดูเหมือนเด็กวาด และเราไม่อยากจะไปสวย หรือเก่ง เพราะเราไม่ใช่ช่างสักที่เก่ง เรารู้ว่าช่างสักเก่งๆ มีเยอะมาก แต่เราแค่อยากขายสไตล์งานของเรา

 
ขวัญ—ครองขวัญ บุญอำพล
 
อี๊ฟ—ณัฐธิดา ครุฑพงษ์
 
แบม—นภัสสร สุรินทรศักดิ์
 

สไตล์ของแต่ละคนได้แรงบันดาลใจจากอะไร

ขวัญ: เดิมทีงานกราฟิตี้ขวัญคือกรอบที่เอาไปบอมบ์พวกเด็กช่างที่พ่น แล้วก็ลบข้างในออกให้เป็น abstract แล้วเอา abstract ไปก็อปปี้ มาทำเป็น exhibition ในงานขวัญก็มีสักงานปั่นๆ ฟีลแบบวาดรูปหลุดๆ เช่น รองเท้าแตะ ฟัน ก็วาดๆ ไป แล้วติดไว้บนกำแพง เป็นไซส์ที่สามารถทำได้ในตอนนั้น ใครมาเห็นก็ตัดกระดาษอันนั้น มาสัก เป็นกิจกรรมในงานนั้น


ทีนี้เราก็คิดว่า ทำไมเราไม่ทำงานสักเป็นงานเดิม คือเอากรอบทั้งหมดที่ดีไซน์มา ตัดทอนเป็นเส้น สี เอามาเป็นงานสัก ทีนี้คนที่เขาตามงานขวัญมาก็อยากสัก แต่ใน exhibition ไม่สามารถสักงานกรอบได้เพราะมันใช้เวลานาน แล้วคนมันเยอะ วุ่นวาย ขวัญเลยต้องมาหาที่ทำ พอมีร้านทุกคนจะได้สักงานกรอบที่เป็น signature ขวัญอีกที เน้น handpoke แต่เครื่องก็ทำ แต่จะทำหรือไม่ทำ ถ้าเป็นงานที่ไม่อยากทำก็จะแจ้งลูกค้า แล้วส่งให้ช่างในร้านคนอื่นทำ


แบม: ของแบมมาจากอะไรรอบๆ ตัว และการไม่ได้ทรีตว่าตัวเองเป็นคนวาดรูปเก่ง เราก็จะไม่กดดันในการวาด เลยออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้


อี๊ฟ: เราไม่ได้มีสไตล์งานชัดตั้งแต่เรียน หรือวาดรูปเอางานตัวเองมาทำงานสักตั้งแต่แรกแบบขวัญ ก็ต้องเริ่มด้วยการทดลอง ค่อยๆ พัฒนา หาสไตล์ตัวเอง ช่วงนี้มีช่างใหม่เยอะมากๆ งานก็คล้ายๆ กัน เราเลยคิดว่าต้องทำสไตล์ตัวเองให้ชัดกว่าเดิมแล้ว เลยจะมีอีกอินสตาแกรมไว้ลงงานวาดของตัวเอง


ที่ชอบทำให้เป็นงาน abstract เพราะไม่อยากให้ลายเส้นมีความหมาย

แบม: คือมันมีความหมายได้แหละ แต่คนรอบตัวแบมส่วนใหญ่เขาจะถามว่า รอยสักอันนี้หมายความว่าอะไร เรารู้สึกว่าไม่จำเป็น เราอยากชูประเด็นแค่ว่ามันเป็นศิลปะ ถ้าชอบก็จบ ก็พอแล้ว ไม่ใช่ว่ามีความหมายแล้วผิดนะ แต่ไม่มีก็ได้เหมือนกัน

ขวัญ: อย่างอันนี้ที่นิ้วขวัญสักเส้น ตอนแรกอยากสักทั้งมือ แต่ลองสักเองแค่นิดนึงก่อนดีกว่าเดี๋ยวน่าเกลียด แม่งน่าเกลียดจริง (หัวเราะ) แต่ขวัญก็โอเคนะ ตอนนั้นโดนเพื่อนล้อ อะไรเนี่ย รอยสักขี้กุ้ง

ลูกค้าบางคนเขาก็จะมีความนึกภาพไม่ออกอะ ต้องมีตัวอย่างมาก่อน คือถ้าไม่มีอันนั้นก็จะไม่มีอะไรในหัวเลย อย่างเวลาขวัญวาดรูปอะไรที่ประหลาด รูปเปรตอะไรเงี้ย ลูกค้าก็ถามว่ามึงบ้าป่าวเนี่ย ใครจะเอารูปเปรตไปสัก กูไม่บ้า! มีคนสัก "I don’t know" เต็มหลัง ได้รางวัลที่หนึ่งยังมีเลย ใครอยากสักอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีความหมายเลย


ทำไมงานสักสไตล์เกาหลีถึงฮิต

ขวัญ: บางอันไม่ใช่งานคาแร็กเตอร์ เป็นงานวาดเล็กๆ realistic น่ารักๆ บางคนจะชอบการวาดภาพ ต้องให้เหมือน กราฟิตี้ต้องพ่นแบบนี้ แต่บางทีถ้าเป็น abstract ก็จะงงละ คืออะไรเอ่ย? เขาจะมองว่ามันแปลก แล้วก็พยายามจะหาความหมายให้มัน หรือที่เขาชอบสักทีแปรงสี ก็ยังพอดูออกว่าเป็นทีแปรง เขาจะชอบอะไรที่มันดูออกอะ

อี๊ฟ: คืออาชีพช่างสักที่นู่นมีเยอะมาก งานแต่ละคนก็แทบจะไม่เหมือนกัน มีคล้ายกันบ้าง เท่าที่เห็นเราว่างานเขามีคุณภาพ

ในทางกลับกัน เกาหลีมีวัฒนธรรมไม่ยอมรับคนที่สัก แล้วยังมีกฎหมายเข้มงวด

ขวัญ: ร้านที่นู่นต้องมีใบอนุญาต เวลาจะเปิดร้านก็ต้องมีเส้นนิดนึง ไม่ได้เปิดง่ายๆ แล้วร้านนึงจะมีช่างเป็นสิบๆ คน ชั้นนึงเป็นของเขาเลย ร้านจะอยู่ในตึก ห้ามมีหน้าร้าน ห้ามมีกระจกมองเห็น พวกที่อยู่ชั้น 1 ชั้น 2 ได้ก็จะเข้าไปอยู่ในหลืบลึกๆ

อี๊ฟ: เห็นในอินสตาแกรม ร้านนึง มี tattoo artists 29 คน สุดยอด

ขวัญ: มันมีกลุ่มช่างสักแบบนับได้ แล้วกลุ่มนึงก็มีหลายคนมากๆ เคยถามจากเพื่อนเกาหลีที่เป็นช่างสัก บอกว่าถ้ามีคนเดียวจะไม่สามารถเปิดร้านสักเองได้ เพราะเขาไม่ให้ซื้ออุปกรณ์เองถ้าเราไม่รู้จักใคร แล้วเวลาเขารับงานก็จะทำกันแบบซีเรียสมากๆ

ในความเป็นจริงการสักมันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอะ มันเข้าไปในเลือด ติดเชื้อถึงตายได้เลย แล้วถ้าเขาขาดความรู้ ช่างที่ไม่ดีจะทำไง แต่คนเดี๋ยวนี้ไม่ได้มองจุดนั้นด้วยซ้ำ


 
ผลงานสักของขวัญ-ครองขวัญ
 

ปกติช่างสักคุยกันเรื่องอะไร

ขวัญ: ก็คุยกันเรื่องการดูแล ร้านนี้ดูแลอย่างนึง อีกร้านดูแลอีกอย่างนึง (TW: อย่างบางคนบอกว่าก่อนไปสัก อย่าดื่มแอลกอฮอล์ไปก่อน)


อี๊ฟ: มีรุ่นพี่บอกว่าถ้ากินก่อนไปสักวันนึง ก็ไม่ควร แต่ถ้าดื่มขณะที่สัก มันอาจจะลดความเจ็บ แล้วเราก็ถามเขาว่า 'แล้วเลือดจะไม่ออกหรอ' เขาก็บอกกินได้ตอนสัก เพราะพี่เขาลองมาแล้ว แต่ถ้ากินก่อนวันไปสัก แล้วนอนไม่พอ ก็อาจจะมีวูบได้

แบม: มีคนกินแล้วมาหาแบม ยังไม่ทันทำอะไรเยอะเลย รู้สึกผิวเขาดูแปลกๆ แล้ว เลยถามว่าเขาไปกินเหล้ามาหรือเปล่า เขาบอกใช่

ขวัญ: ขวัญถามเพื่อนเกาหลีว่าสักเสร็จแล้วจะไปเที่ยว กินเหล้าได้ไหม มันบอกกินได้ปกติเลย ลองกินดูก็ไม่เป็นไร เลือดก็ไม่ได้ออก แต่คือมันมีน้ำเหลืองออกมาอยู่แล้ว


ออกกำลังกายก็ยังไม่ควร?

อี๊ฟ: อาจจะสกปรกเพราะเหงื่อออกมา แล้วทำให้แผลไม่แห้ง เหมือนถ้าสักเสร็จแล้วไปแช่น้ำ เล่นน้ำ ออกกำลังกาย แผลมันก็ต้องยุ่ยถูกไหม แสดงว่ามันดันสีออกมา เพราะมันยังไม่ถึงเวลาที่ร่างกายเซ็ตตัว

 
ผลงานของ อี๊ฟ—ณัฐธิดา
 

รอยสักรอยแรกของตัวเอง

แบม: อันนี้เป็นดอกไม้อยู่บนตึก ก็คือเริ่มมาจากอยากถ่ายให้ได้แบบนี้บ้าง แต่คิดว่ามันมีวิธีอื่นบ้างไหมที่จะให้ได้วิชวลนี้ เราก็ลองวาดจากไม่มีความรู้เลย ซื้อแปรง ซื้อสี คิดว่าพอถ่ายไม่ได้ วาดรูปเอาก็ได้วะ กำ... อันนี้ดันมีความหมายซะละ (หัวเราะ)

อี๊ฟ: เป็นธนูที่หลังคอแต่ตอนนี้ถมไปแล้ว เหมือนตอนนั้นความชอบเรายังไม่ชัดมาก แค่อยากลอง แต่ก็มีอีกหลายลายที่ตอนนั้นสักแบบคิดน้อยไปหน่อย จนตอนนี้อยากแก้มาก อย่างตอนนี้เราก็ไม่รีบละ เหมือนถ้าเราชอบงานคนนี้จริงๆ ก็จะค่อยไปสัก มันก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ว่าเราจะไม่ชอบมันทีหลัง มันเป็นการอยากสะสมงานของศิลปินคนนั้นมากกว่า


อีฟอยากแนะนำน้องๆ มาก ว่าให้โตก่อน ให้รู้ความชอบของตัวเองจริงๆ ถ้ารู้แน่ๆ แล้วว่าชอบสไตล์งานแบบไหน ก็ไปสักกับคนที่ออกแบบลายนั้นเลยจะดีกว่า


ขวัญ: รอยแรกของขวัญถมไปแล้ว ไร้ซึ่งวุฒิภาวะตอนสัก แอบไปสักตั้งแต่เด็กๆ แล้วลายมันเกิ๊บจัด บ่ได้ๆ ตอนเด็กไม่รู้ว่าจะสักรูปอะไรก็ไปสักรูปที่ชอบ ณ ตอนนั้น เป็นตัวการ์ตูน ก็เสียดายพื้นที่ตรงนั้น จะเก็บพื้นที่บนหนังเราไปให้คนนั้นสัก


อย่างขวัญจะมีธีมสัก คือแขนนี้ get high หมดเลย แต่มันก็เกิ๊บอะ... คือหนูอยากสักทั้งตัวเลย ไม่อยากให้มีผิวหนังอยู่เลย แต่ในความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการสักมันทั้งแพง แล้วก็ต้องเลือกคนสัก

เคยแนะนำคนที่มาสักไหมว่า ‘จะเอาตำแหน่งนี้จริงหรอ เอาลายนี้จริงๆ เหรอ’ แล้วเขาไม่ฟังบ้างไหม

ขวัญ: มี แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องพูด ส่วนใหญ่เราจะเจอคนที่อยากได้ตรงนั้นจริงๆ แล้วเขาก็ต้องได้ แต่ถ้าเขาโอเคแบบนั้น เราก็โอเค้ การสักมันคือการตอบสนองตัวเองอยู่แล้วไง


อี๊ฟ: ก็มีแนะนำบ้าง บางคนมาแบบไม่รู้ว่าจะวางตรงไหนเลยก็มี ก็ถามเขาก่อนว่าอยากจะโชว์ตรงไหน ก็ช่วยดู ช่วยวาง แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเขา


แบม: บางคนชัดเจนมากว่าจะเอาตรงนี้ คิดมาตั้งแต่ที่บ้านแล้ว สวยของเราอาจจะไม่สวยของเขา แต่ในอนาคตก็อยากให้เป็นสวยของเราหมด อยากทรีตตัวเองเป็นศิลปินอย่างเดียว ในอนาคตจะไม่รับงานที่เขาเอามาให้ทำแล้ว อยากให้เป็นแค่สไตล์เรา ถ้าแบบที่เขาอยากได้มันไม่ตรงกับเรา ก็เอาไปให้คนอื่นทำให้ได้เลย

 
ผลงานของ แบม—นภัสสร
 

ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีช่างสักผู้หญิงเกิดขึ้นเยอะมาก

ขวัญ: มันกว้างขึ้นแล้วไง เพราะว่าคนไม่ได้มองว่าคนสักไม่ดีแล้ว ผู้หญิงก็เลยกล้าเปิดใจที่จะสักมากขึ้น คือผู้หญิงอยากที่จะสักอยู่แล้วแหละ แต่ในทุนเดิมคือคนที่สักนี่แย่แล้ว ผู้หญิงที่สักแย่กว่าอีก ขึ้นบีทีเอสก็จะมีคนมองแล้ว พอมันเปิดขึ้น คนที่ใจเขาอยากจะทำก็กล้าทำ สามารถไปทำงานได้โดยที่ไม่มีใครพูดไม่ดีกับเขาแล้ว เป็นที่สังคม


อี๊ฟ: สังคมเปิดกว้างขึ้นแล้วแหละ


แบม: ไม่ใช่แค่อาชีพนี้นะ การเป็น DP (director of photography ผู้กำกับภาพ/ตากล้องในกองถ่าย) ก็มีคนพูดว่า เก่งมาก ไม่เคยเจอ DP ผู้หญิงเลย กับอีกกลุ่มคือ แค่เราขอไฟตรงนี้อะ เขาไม่ทำให้เลย ต้องให้พี่ผู้ชายพูดให้เขาถึงจะทำให้


ขวัญ: เออ ตอนต้องไปเขียนกำแพงใหญ่ ทีมขวัญผู้หญิง 4 คนหมดเลย คำแรกที่เขาพูดคือ 'ขึ้นที่สูงได้หรอ เขียนได้หรอ' 'ผู้หญิงตัวแค่นี้' โดนประจำ ชอบคิดว่าเราทำไม่ได้ ไม่ค่อยเชื่อมั่นผู้หญิง ยิ่งเป็นเด็กอีก... แต่ทรงขวัญจะแข็งๆ นิดนึง ก็ลองดู๊

อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในซีนสัก

ขวัญ: มันก็มีร้านที่เป็น artists ไม่กี่กลุ่ม มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดมาก แล้วเขาจะสักงานแพงมาก คนที่มาสักกับเขาก็จะเป็นแฟนคลับเขาเลย เพราะเขาเข้าใจ คนที่มาสักงานทั่วไปไม่มีใครสนใจคุณภาพ เขาจะดูที่ราคา แล้วถามว่าทำไมร้านนี้แพงจัง ทำไมไม่ถูกเหมือนร้านนี้


หนูชอบร้านนึงที่เชียงใหม่ เขาสัก handpoke แล้วพอคนรู้ว่ามันมีกลุ่มนี้ เขาก็จะเลือกสักแต่กับกลุ่มนี้ สักอะไรก็ได้ รูปยีราฟเอากันคนก็สัก มีคนสักลายนั้นจริงๆ นะ ด้วยเมืองเขาอาร์ตและเปิดมาก มีพิพิธภัณฑ์ แกเลอรี่ มีซีนดนตรี สังคมมันไม่ได้ใหญ่มาก ทุกคนสามารถเข้าใจงานศิลปะได้ง่าย

แต่กรุงเทพฯ คนไม่เหมือนกันเยอะ แล้วมันกว้าง สังคมไม่ได้เล็งเห็นหรือให้ความสนใจว่า ไหนลองไปดูอันนั้น อันนี้ไหม อะ ลองสังเกตว่าคนที่มาดู exhibition ก็มีแต่กลุ่มคนเดิมๆ ถ้าไปดูกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มเดิม เขาจะไม่ค่อยแตกกลุ่ม หรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คือมันอยู่ตั้งแต่การเปิดใจหรือวิธีการเข้าสังคมแต่แรกแล้ว


แบม: อยากให้คนมองช่างสักเป็นศิลปินมากขึ้น เขาไม่ได้ดูว่างานใครสไตล์ไหนขนาดนั้น เขาเห็นใครสักได้ก็มาเลย บางทีมีคนอยากได้เส้นเนี้ยบๆ ก็มาหาแบม (หัวเราะ) แบมสัก handpoke ควรไปหาคนที่สักเครื่องจะดีกว่า แต่ก็ไม่ผิดแหละ เขาแค่ไม่รู้ มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่เขาไม่ได้ทรีตเราเป็นศิลปิน

อี๊ฟ: อยู่ที่ตัวศิลปินด้วย คือเทสต์ของแต่คนด้วย มันก็มีคนคิดแบบนี้ แล้วมันก็มีคนที่ไม่คิดอะไรเลย เขาถึงสักไปเรื่อย

 

Comments


bottom of page