ในชั่วโมงนี้คงไม่มีกระแสอะไรร้อนแรงไปกว่าซีรีส์ทริลเลอร์สัญชาติเกาหลี Squid Game (2021) หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เล่นลุ้นตาย” ของ Netflix ที่โด่งดังระเบิดระเบ้อ จนกลายเป็นความคลั่งใคล้แพร่สะพัดไปทั่วโลก ทั้งแฟชั่น เกมการละเล่น ไปจนถึงขนมหวาน เรียกได้ว่าเป็นการพิสูจน์อานุภาพแห่ง Soft Power ของเกาหลีใต้กันอีกครั้งจริงๆ อะไรจริง! เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นอกจากพล็อตเรื่องอันเข้มข้นเร้าใจ ความโดดเด่นเป็นเอกอีกประการของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ องค์ประกอบศิลป์และการออกแบบฉากและงานสร้าง ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยความประณีตละเอียดละออ เปี่ยมสุนทรียะ ยังอ้างอิงไปถึงแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมเมือง วิถีชีวิต และการละเล่นพื้นบ้านของเกาหลีใต้ ที่สำคัญ มันยังมีเรฟฯ หรือแรงบันดาลใจจากงานศิลปะและงานออกแบบชั้นเยี่ยมของโลกมากมายหลายชิ้น
เริ่มตั้งแต่ฉากทางเดินที่นำพาผู้เล่นทั้งหลายไปยังสนามแข่งขันสุดอันตรายของทุกๆ เกม ทางเดินบันไดในอาคารอันลึกลับอัซับซ้อนคดเคี้ยวเลี้ยวลดราวกับเขาวงกต ที่ฉาบด้วยสีสันสดใสราวกับลูกกวาด (เคลือบยาพิษ) ที่ว่านี้ ทำให้เรานึกถึงผลงาน Relativity (1953) ภาพพิมพ์หินของ เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ (M.C. Escher) ศิลปินภาพพิมพ์ชาวดัตช์ ผู้เป็นที่รู้จักในโลกศิลปะจากผลงานภาพทิวทัศน์อันพิสดาร เปี่ยมจินตนาการและความฝันอันผกผันลักลั่น, ภาพสถาปัตยกรรมแปลกประหลาด, ทัศนียภาพพิลึกพิลั่นต้านแรงโน้มถ่วง, แถมตัวละครผู้คุมสวมหน้ากากที่คอยคุมเชิงผู้เล่น ก็ยังดูละม้ายคล้ายคลึงกับตัวละครไร้ใบหน้าผู้เดินวนเวียนบนทางเดินไม่รู้จบ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในผลงานชิ้นนี้ และอื่นๆ ของเอสเชอร์อยู่ไม่หยอก, ผลงานของเอสเชอร์ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Labyrinth (1986), Lara Croft Tomb Raider : The Cradle of Life (2003), A Nightmare on Elm Street : The Dream Child (1989), The Lord of the Rings : The Fellowship of the Ring (2001), The Two Towers (2002), The Matrix (1999-2003), Inception (2010) และ Tenet (2020)
สีสันและการตกแต่งทางเดินบันไดของอาคารนี้ยังทำให้เรานึกถึงผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกอย่าง La Muralla Roja (“The Red Wall” หรือ “กำแพงสีแดง” ในภาษาสเปน) อาคารอพาร์ตเมนต์สไตล์โพสต์โมเดิร์น ผลงานการออกแบบของ ริคาร์โด โบฟิล (Ricardo Bofill) สถาปนิกระดับตำนานชาวสเปน ที่สร้างขึ้นริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเมืองกัลเป แคว้นบาเลนเซีย ประเทศสเปน ในปี 1973 โดยได้แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมแบบป้อมปราการในแอฟริกาเหนือและอาหรับเมดิเตอร์เรเนียน ที่โดดเด่นด้วยลักษณะสูงตระหง่านคล้ายหอคอย ตัวอาคารภายในเชื่อมโยงด้วยระบบทางเดิน สะพาน และบันไดอันสลับซับซ้อนคล้ายกับเขาวงกต (ดูๆ ไปก็คล้ายกับผลงานของเอสเชอร์อยู่เหมือนกัน) เอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการของอาคารแห่งนี้ก็คือการใช้สีสันฉูดฉาดสดใสอย่างสีแดง แซมด้วยสีฟ้า สีม่วง และสีชมพูอ่อนกับตัวอาคารทั้งภายนอกภายใน ตัดกับสีของท้องฟ้าและน้ำทะเลรายรอบ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ในฉากบันไดทางเดินในซีรีส์ Squid Game ด้วย
ตามมาด้วยฉากเล็กๆ (แต่สำคัญ) ใน EP1 กับเหตุการณ์นองเลือดที่เกมมาสเตอร์ลงมือสังหารหมู่ผู้เล่นที่แพ้ในเกมเป็นครั้งแรก, ในซีนที่ผู้เล่นคนหนึ่งโดนลั่นกระสุนปืนใส่จนเลือดสาดกระเซ็นไปเปรอะหน้าของผู้เล่นอีกคนจนเธอหวีดร้องด้วยความตื่นตระหนก นั้นช่างคล้ายคลึงกับฉากในภาพวาด The Scream (1893) อันลือลั่น ของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวนอร์เวย์อย่าง เอ็ดเวิร์ด มุงก์ (Edvard Munch) เอาการ, ซึ่งอันที่จริง “เสียงหวีดร้อง” ในภาพนี้ ที่มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Der Schrei der Natur หรือ The Scream of Nature (เสียงหวีดร้องของธรรมชาติ) ก็ไม่ได้หมายความถึงเสียงหวีดร้องของตัวละครในภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นเสียงหวีดร้องของธรรมชาติที่ศิลปินได้ยินจากอาการป่วยไข้ทางจิตใจ ดังที่ปรากฏในข้อความที่มุงก์เขียนถึงภาพนี้ว่า
“ตอนนั้นผมกำลังเดินอยู่บนถนนกับเพื่อนสองคน ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังลับฟ้า ฉับพลันนั้นท้องฟ้าก็แปรเปลี่ยนเป็นสีแดงเหมือนเลือด ผมหยุดฝีเท้า เพราะรู้สึกอ่อนล้าจนต้องเอนกายพิงรั้วข้างทาง สายตาผมเหลือบขึ้นไปเห็นเลือดและเปลวไฟลามเลียท้องฟ้าเหนืออ่าวสีดำปนน้ำเงินในเว้าหน้าผาสูงชัน เพื่อนผมเดินรุดหน้าไปแล้ว หากผมยังคงชะงักงัน สั่นเทาด้วยความหวาดหวั่น หูแว่วเสียงหวีดร้องอันไม่รู้จบของจักรวาลที่กำลังฉีกทึ้งธรรมชาติเป็นชิ้นๆ”
การบรรยายถึงเลือด เปลวไฟ และร่างกายอันสั่นเทาด้วยความหวาดหวั่นในภาพ The Scream ของมุงก์ที่ว่านี้ซ้อนทับกับฉากการนองเลือดครั้งแรกในซีรีส์นี้ได้อย่างแนบเนียน
หรือฉากปาร์ตี้วีไอพีใน EP7 ที่เหล่าบรรดาชนชั้นสูงผู้เป็นแขกไวไอพีที่เฝ้าสังเกตการณ์เกมการละเล่นลุ้นตายอย่างเพลิดเพลิน ต่างก็สวมหน้ากากสิงสาราสัตว์อันหรูหราเพื่อปกปิดใบหน้าของตัวเอง ทำให้เราหวนระลึกไปถึง Surrealist Ball งานกาล่าปาร์ตี้สุดพิสดาร ที่จัดขึ้นโดย มารี เฮเลเน่ เดอ รอธส์ไชลด์ (Marie-Hélène de Rothschild) มหาเศรษฐีตระกูลดัง ในคฤหาสน์ Château de Ferrières ในปารีส ฝรั่งเศส ปี 1972 ที่มีแขกรับเชิญเป็นทั้งมหาเศรษฐีและชนชั้นสูงในปารีสยุคนั้น รใมถึงเหล่าบรรดาเซเลบฯ และดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ออดรีย์ เฮปเบิร์น, บริจิตต์ บาร์โดท์, อีฟว์ แซ็งโลร็อง หรือศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ชื่อก้องอย่าง ซัลบาร์ดอร์ ดาลี มาร่วมงาน, นอกจากธีมการตกแต่งของงานที่เต็มไปด้วยความหรูหราและแฟนตาซีเหนือจริงแล้ว เดรสโค้ดของงานยังเจาะจงให้แต่งในสไตล์เซอร์เรียลลิสต์ อันมีจุดเด่นที่เครื่องสวมหัวสุดพิสดาร ทีมีตั้งแต่กรงนก, เครื่องเล่นแผ่นเสียง, ประติมากรรมสุดพึลึกพิลั่น, ไปจนถึงหัวสัตว์ทองประดับเพชรพลอยหรูหรา แถมหลายชุดยังเป็นฝีมือการออกแบบของดาลีด้วยตัวเอง, บรรยากาศแฟนตาซีเหนือจริงและการแต่งกายพิสดารในปาร์ตี้ Surrealist Ball ที่ว่านี้นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้ฉากและเครื่องแต่งกายปาร์ตี้วีไอพีใน Squid Game แล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ฉากพิธีกรรมเซ็กส์หมู่ของสมาคมลับในหนัง Eyes Wide Shut (1999) อีกด้วย
แต่เรฟฯ ของงานศิลปะอันโดดเด่นที่สุดในซีรีส์นี้เห็นจะเป็นฉากอาหารค่ำมื้อสุดท้ายใน EP8 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโต๊ะอาหารรูปสามเหลี่ยมสุดตระการตาที่ใช้รับรองผู้เล่นสามคนสุดท้าย นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากผลงาน The Dinner Party (1974–79) ของ จูดี้ ชิคาโก (Judy Chicago) ศิลปินอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบสตรีนิยม (Feminist art) ในช่วงยุค 1970s ที่พยายามสะท้อนชีวิตของเพศหญิงและเรียกร้องสิทธิและบทบาทของผู้หญิงในฐานะศิลปิน ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจครอบงำอันเบ็ดเสร็จของเพศชายในโลกศิลปะตะวันตก
ชิคาโกมักจะใช้กระบวนการทำงานศิลปะ (ที่ทำโดยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่) ที่ถูกด้อยค่าและเหยียดหยามมาอย่างยาวนาน ว่าเป็นงานฝีมือมากกว่างานศิลปะชั้นสูง อย่างงานเย็บปักถักร้อย งานประดับตกแต่ง งานเซรามิก งานศิลปะแก้ว ไปจนถึงงานช่างแรงงานอย่างงานเชื่อม หรือแม้แต่การทำดอกไม้ไฟ อันเป็นหัวใจสำคัญในผลงานของเธอ เพื่อทำลายกรอบที่แบ่งแยกและด้อยค่าผลงานของผู้หญิงเหล่านี้ให้ต่ำต้อยกว่างานศิลปะชั้นสูงที่มักจะทำโดยผู้ชาย
ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเธออย่าง The Dinner Party เป็นศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโต๊ะเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาด 48 ฟุต บนโต๊ะถูกจัดด้วยสำรับสำหรับแขกผู้มีเกียรติจำนวน 39 คน ซึ่งเป็นสตรีผู้มีความโดดเด่นในวงการต่างๆ จากหลายยุคสมัยในอารยธรรมตะวันตก สำรับของแขกแต่ละคนจะมีผ้าปูแถบยาวพาดคลุมโต๊ะ ชายผ้าด้านหนึ่งปักชื่อของแขกสตรีผู้มีเกียรติแต่ละคน ชายผ้าอีกด้านปักเป็นภาพที่เล่าเรื่องราวความสำเร็จของพวกเธอ แต่ละสำรับประกอบด้วยจานกระเบื้องเคลือบที่ตกแต่งด้วยลวดลายผีเสื้อหรือดอกไม้อันเป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศหญิง (เช่นเดียวกับรูปทรงสามเหลี่ยมของโต๊ะ) ด้วยการผสมผสานองค์ประกอบของเหตุการณ์ทางสังคมร่วมสมัยเข้ากับสถานะและภาพลักษณ์ของงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ชิคาโกยกย่องสตรีเหล่านี้ประหนึ่งวีรบุรุษ ซึ่งตามธรรมเนียมดั้งเดิมเคยถูกสงวนไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น
ผลงานชิ้นนี้ของเธอนำพาผู้ชมไปเยี่ยมเยือนอารยธรรมของโลกตะวันตกผ่านทางเลี่ยงจากเส้นทางที่เคยถูกมองว่าเป็นเส้นทางกระแสหลักในประวัติศาสตร์ บนพื้นกระเบื้องใต้โต๊ะยังจารึกชื่อของสตรีผู้ควรค่าแก่การจดจำอีก 999 คน ป้ายข้อมูลบนผนังยังแสดงการให้เกียรติแก่ผู้ร่วมงานจำนวน 129 คนที่ทำงานชิ้นนี้ร่วมกันเธอ
The Dinner Party เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของเพศหญิงที่ถูกหลงลืมและตกหล่นไปจากประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานศิลปะเฟมินิสต์อันยิ่งใหญ่ชิ้นแรกๆ ของโลก และเป็นปากเสียงแทนเหล่าบรรดาผู้หญิงที่ถูกกดขี่และเบียดบังจากระบอบชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน ชิคาโกนิยามผลงานชิ้นนี้ของเธอว่า เป็นการตีความภาพ The Last Supper หรือ อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ขึ้นใหม่ในมุมมองของผู้หญิง ซึ่งมักเป็นผู้เตรียมอาหารและจัดโต๊ะอาหารมาตลอดเวลาในประวัติศาสตร์
น่าขันขื่นที่การนั่งประจันหน้ากันระหว่างผู้เล่นเพศหญิงหนึ่งคนสุดท้ายกับผู้เล่นชายสองคนสุดท้ายบนโต๊ะที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินสตรีนิยมตัวแม่ชิ้นนี้ ถึงแม้จะสะท้อนบทบาทของเพศหญิงที่มักจะถูกมองข้าม ละเลย ด้อยค่า และไร้สิทธิไร้เสียงในสังคมชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้ออกมาได้อย่างแยบยล แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทของผู้หญิงในเกมการละเล่นลุ้นตายในเรื่อง ก็ยังถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนที่จะถ่วงทีมให้พ่ายแพ้และไม่มีใครต้องการ แถมยังเป็นเป้าหมายของการกำจัดทิ้งเป็นรายแรกๆ เสมอ และท้ายที่สุดแล้ว คนที่เอาชนะและเอาชีวิตรอดในเกมคนสุดท้ายก็ยังคงเป็นผู้เล่นเพศชายอยู่ดี
แถมท้าย: แรงบันดาลใจจากหัตถ์ของพระเจ้า
ถ้าใครได้ดูซีรีส์ Squid Game ถึง EP สุดท้าย น่าจะจำซีนที่เป็นบทสรุปของเกมการละเล่นลุ้นตายซีนนี้ได้ ซึ่งภาพโคลสอัพมือของสองผู้เล่นคนสุดท้ายที่กำลังจะสัมผัสกันนั้นทำให้เราอดนึกถึงหนึ่งในผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่าง The Creation of Adam (1508-1512) ผลงานภาพวาดปูนเปียก (Fresco) บนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน ในวาติกัน ของศิลปินเอกชาวอิตาเลียนแห่งยุคเรเนซองส์อย่าง มีเกลันเจโล (Michelangelo) ไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าทีมผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้จงใจเรฟฯ ภาพวาดนี้หรือเปล่า?
เรฟศิลปะละอันพันละน้อยที่สาธยายมาหลายหน้าเหล่านี้ เป็นหลักฐานเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งละเอียดอ่อนของทีมงานเบื้องหลังซีรีส์เรื่องนี้ หรือแม้แต่ผลงานอื่นๆ ของเกาหลีใต้ ที่ไม่เพียงใส่ใจในการใส่ประเด็นทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชนชาติตัวเองลงไป หากแต่รวมถึงสอดแทรกศิลปะและงานสร้างสรรค์ทั้งคลาสสิคและร่วมสมัยเข้าไปด้วย จึงไม่น่าไม่แปลกใจที่เกาหลีใต้จะก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมในเวลาไม่นาน ผิดกับหน่วยงานทางวัฒนธรรมบางประเทศ ที่ปากก็พร่ำเพ้อแต่นโยบายการสร้างอุตสาหกรรม Soft Power ให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร แต่กลับไม่เคยมีความเข้าใจใดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยเลยแม้แต่น้อย.
Comments