นอร์แมน ร็อคเวลล์คือศิลปินชาวนิวยอร์ค ที่คนชอบศิลปะรู้จักกันดีว่าเป็นจิตกรอัจฉริยะ เขาวาดภาพเหมือนจริงที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน สไตล์งานของเขาจะเป็นการถ่ายถอดเรื่องราวของชีวิตประจำวันเรียบง่ายของผู้คนในเมืองเล็กของอเมริกา ที่ผู้คนล้วนยิ้มแย้มแจ่มใส ดูมีความสุขแบบพอเพียง ภาพมีอารมณ์ขันน่ารัก ในยุคที่ภาพถ่ายสียังไม่ถือกำเนิด ภาพเหมือนจริงของโมเม้นต์เล็กๆ ในชีวิตง่ายๆ แบบนี้จึงเข้าถึงความรู้สึกทุกเพศทุกวัย เช่นแก๊งเด็กแก่นแอบมาเล่นน้ำ ภาพครอบครัวเปี่ยมสุขในอุดมคติอเมริกัน (พ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว และหมาน่ารักหนึ่งตัว) โลกนี่ช่างสวยงามสุขสันต์ อเมริกันจงเจริ้ญ!
แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงในตอนนั้น นอร์แมนมีอายุระหว่างปี 1894-1978 หมายความว่าเขามีชีวิตวัยหนุ่มในช่วงยุคขัดสนของอเมริกา ผู้คนกระจัดกระจายออกจากบ้านนอกเข้าไปหางานในเมืองใหญ่ อเมริกาเข้าร่วมส่งครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1917) พอจบสงครามก็ตามด้วยยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (1929 - The Great Depression) ที่มีแต่คนยากจนตกงาน พ้นช่วงนั้นแต่ยังไม่ทันจะตั้งตัวได้เท่าไหร่ ก็สงครามโลกครั้งที่สองอีกแล้ว (1939) ภาพชีวิตที่นอร์แมนเขียนจึงดูตรงข้ามกับโลกแห่งความเป็นจริง แต่มันก็ทำให้คนดูหนีจากโลกแห่งความจริงได้ชั่วขณะ ผลงานของเขาจึงเป็นเหมือนภาพโลกยูโทเปียของชาวอเมริกันว่าความหวังยังมี
ด้วยเหตุนี้นอร์แมนจึงเป็นศิลปินสุดรักของชาวอเมริกัน งานที่โด่งดังของเขาแทบทั้งหมดคืองานเขียนภาพประกอบให้ปกนิตยสาร The Saturday Evening Post ที่เขาเริ่มทำตั้งแต่อายุแค่ 22 มันเป็นนิตสารเนื้อหาเบาๆ ที่อ่านด้วยกันได้ทั้งครอบครัว เขาสร้างงานให้นิตยสารเล่มนี้ถึง 50 ปี เขียนงานไปทั้งหมด 323 ปก
แต่มีบางอย่างหายไปในผลงานเหล่านั้น นั่นคือภาพของนอร์แมนใน The Saturday Evening Post แทบไม่ภาพคนดำเลย คำถามคือนอร์แมนเป็นพวกเหยียดผิวหรือเปล่า?
และคำตอบคือไม่
เขาเป็นศิลปินที่ต้องทำตามโจทย์ลูกค้า สังคมอเมริกันก่อนยุค 50s คนดำเป็นชนชั้นที่โดนเหยียดหยาม ทำได้แต่งานแรงงานหรือรับใช้ แต่นิตยสารที่นอร์แมนทำนั้นเจาะกลุ่มคนขาวอนุรักษ์นิยมล้วนๆ และนิตยสารก็อยากจะอยู่แบบโลกสวยไปเรื่อยๆ
แล้วจุดเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นในปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประธานาธิปดีโรสเวลต์ต้องการปลุกความรักชาติด้วยการผลักดันเสรีภาพชาวอเมริกันสี่ประการ คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, เสรีภาพในการนับถือศาสนา, เสรีภาพในการมีชีวิตที่ดี และเสรีภาพในการปกป้องประเทศ ช่วงนั้นนอร์แมนเองก็ต้องการทำงานสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติและทหารอเมริกันในสงคราม เขาอยากเขียนภาพประกอบที่มาจากเสรีภาพสี่ประการของโรสเวลต์มาเป็นปีแล้วแต่ยังคิดไม่ออก จนคืนหนึ่งของปี 1943 พอดีอขาได้ไปเข้าร่วมเสวนาชุมชน (town hall meeting) ใน Vermont, New York เมืองของเขา แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืนออกความเห็นที่สวนทางความคิดคนทั้งห้อง ตอนนั้นเองที่นอร์แมนรู้แล้วว่าเขาจะเขียน “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” อย่างไร และเป็นภาพที่เกิดจากชีวิตประจำวันแบบที่เขาถนัด
นอร์แมนที่ตอนนั้นอายุ 49 ปีและทำงานให้ Saturday Evening Post มา 25 ปีแล้ว นำสเก็ตช์ไปเสนอสำนักพิมพ์แบบไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือเปล่า แต่ Saturday Evening Post กลับเห็นดีด้วย ถึงขั้นยินดีให้นอร์แมนหยุดส่งงานภาพปกสามเดือนเพื่อใช้เวลาเขียนภาพทั้งสี่ภาพในซีรีส์เสรีภาพสี่ประการของโรสเวลต์นี้ เพื่อใช้ตีพิมพ์ในเล่มต่อกันสี่ฉบับรวด
แล้วสี่ภาพนั้นก็ฮิตถล่มทลายเกลี้ยงแผงพิมพ์ไม่พอขาย ภาพเป็นที่ต้องการจนต้องพิมพ์เป็นโปสเตอร์แยกขาย และต่อมากลายเป็นสแตมป์ขายดิบขายดีทั่วอเมริกา กลายเป็นสี่ภาพประวัติศาสตร์ของอเมริกา
จากนั้นนอร์แมนก็เริ่มมีอิสระในการถ่ายทอดความคิดของเขาผ่านการเขียนภาพ ปกนิตยสารก็เริ่มอนุญาตให้มีคนดำบ้าง แต่นอร์แมนรู้ดีว่าบางทีมันอาจจะหนักไปหน่อยสำหรับนิตยสารครอบครัวคนขาวหัวโบราณ เขาจึงเปลี่ยนไปเขียนให้นิตยสาร Look นิตยสารวิจารณ์สังคมที่เปิดโอกาสให้เขาแสดงการเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิวได้สบายใจกว่า เช่นภาพที่เขาเขียนให้นิตยสาร Look ในปี 1964 "The Problem We All Live With" (ปัญหาที่เราหนีไม่พ้น) ที่ทรงพลังมาก จนต่อมาในปี 2011 ประธานาธิปดีโอบามาต้องขอไปติดในทำเนียบขาว
ดังนั้น ถ้าเราเอางานยุคแรกกับยุคหลังของนอร์แมนมาวางคู่กัน จะเห็นบรรยากาศและเรื่องราวงานที่คนละเรื่องคนละขั้วกันเลยกับกับยุคโลกสวยในวัยหนุ่มของเขา
อัลบั้มล่าสุดของลาน่า เดล เรย์ ชื่อ "Norman Fucking Rockwell" แต่นอร์แมน ร็อคเวลล์ไม่ได้เป็นผัวลาน่าหรือเกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เป็นศิลปินชั้นยอดของโลกที่นำเสนอภาพอเมริกาในช่วงชีวิตของเขาได้อย่างปราณีตชัดเจน ส่วนลาน่า เดล เรย์ ก็เป็นนักรองสาวเสียงดิ่งที่เราชื่นชอบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ฟังทั้งอัลบั้มเลยไม่รู้ว่าเธอเอานอร์แมน ร็อคเวลล์มาเล่นเรื่องอะไร รู้แต่ว่าอัลบั้มนี้ได้ Jack Antonoff จากวง Bleachers มาโปรดิวซ์ให้ ก็คิดว่าน่าจะเข้าทีมากๆ
Comments