top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

บัณฑิตหญิงคนแรกของศิลปากร และศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรมคนแรกที่เป็นผู้หญิง


อาจารย์ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) คนล่าสุด
"เราต้องรู้จักคนๆ นั้น เวลาเราเขียนรูปเราจึงจะได้ชีวิตจิตใจของคนๆ นั้น คือถ้าเขียนแค่เหมือนเฉยๆ รูปถ่ายก็มี ก็ไม่จำเป็นจะต้องเขียน"
Family Portraits: คุณพ่อ คุณแม่ และลูกทั้งสองคนของอาจารย์ลาวัณย์

วันที่ผมไปห้องทำงานอาจารย์ลาวัณย์ บนขาตั้งภาพมีภาพสีน้ำมันรูปในหลวงรัชกาลที่ 10 เขียนค้างไว้ ในวัย 81 ปี อาจารย์ลาวัณย์ผู้เป็นที่รักของนักศึกษาศิลปากร ยังคงสง่างาม ยิ้มง่าย ใจดีเหมือนที่ผมเคยรู้จักสมัยเป็นนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ในปีนี้อาจารย์ได้รับพระราชทานรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ได้รับรางวัลในสาขาจิตรกรรม อาจารย์ลาวัณย์ชอบเขียนภาพบุคคล (portrait) โดยส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ท่านชื่นชม และมีความหมายต่อชีวิตของท่าน


อาจารย์เป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 11 ซึ่งเป็นรุ่นที่ยังได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรีทั้ง 5 ปี (คณะจิตรกรรมฯ เรียน 5 ปี) พอขี้นปี 4 อาจารย์ศิลป์ก็ให้มาเป็นผู้ช่วย พอเรียนจบปี 5 อาจารย์ลาวัณย์ก็เริ่มงานอาจารย์ประจำที่ศิลปากร สอนคณะจิตรกรรมฯ ต่อด้วยคณะมัณฑนศิลป์ หลังเกษียณก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษต่ออีก 17 ปี ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2550 ปัจจุบันอาจารย์เลิกสอนได้ 5 ปีแล้ว แต่ยังคงเขียนรูปอยู่กับบ้านทุกวัน ด้วยอายุการสอนหนังสือกว่า 50 ปีแบบนี้ แน่นอนว่าท่านสอนศิลปะนักศึกษาศิลปากรไปหลายพันคน

 

เด็กศิลป์

"สมัยก่อนมีโรงเรียนศิลปะอยู่ที่เดียวนะคะ คือโรงเรียนเพาะช่าง แต่จบ ม.6 คุณแม่ไม่ให้ไปเรียน ก็เลยต้องเรียต่อ ม.7 โรงเรียนสตรีวัดระฆังต่อไป ซึ่งข้ามฟากไปท่าช้างไปก็เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เราก็ไปดูงานแสดงเขา พอดีมีพี่ชายของเพื่อนเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่น เขาก็บอกว่าศิลปากรจะเปิดโรงเรียนเตรียมศิลปากรเป็นรุ่นแรก เราก็คิดว่าน่าสนใจ ก็แอบไปฝึกมือเพื่อสอบเข้า พวกผู้ใหญ่ก็ไม่สงสัย เพราะปกติเราก็ไม่อยู่บ้านอยู่แล้ว คือครูเป็นพวกนักเรียนกิจกรรมน่ะค่ะ ถึงตอนสอบก็แอบไปสมัครสอบ แล้วสอบเข้าได้ที่ 1 ด้วยนะคะ แต่ไม่ใช่ว่าเราเก่งหรอก แต่เพราะว่าเรามีโอกาสได้ไปฝึกมือมาแล้ว"


"แล้วพอสอบเข้าได้ ผู้ปกครองก็ต้องพาไปมอบตัวใช่ไหมคะ เราก็ทำใจกล้าไปบอกคุณแม่ คุณแม่ก็ฉุนหน่อยๆ บอกว่าทำไมล่ะลูก ก็บอกให้เรียนต่อ ม.8 อีกปีแล้วค่อยไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ เราก็บอกว่ามันไม่เหมือนกัน ถ้าเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยมันจะมีพื้นฐานแน่นกว่า สุดท้ายคุณแม่ก็ไม่ว่าอะไร ก็พาไปมอบตัว ได้เบอร์ 5 ดีใจมากเลยได้เบอร์นี้ เบอร์ห้าบ้าเห่อ"

บัตรประจำตัวนักเรียน "โรงเรียนศิลปศึกษา" หรือชื่อเล่นในยุคนั้นคือโรงเรียนเตรียมศิลปากร ปัจจุบันคือวิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง

"ตอนนั้นคุณพ่อไปนอก 8 ปี พอกลับมาถึงก็บ่น คือที่บ้านคุณพ่อมีลูกก็ตั้ง 9 คนนะคะ คุณพ่อเป็นข้าราชการทหาร ท่านบอกว่าเราไม่ได้ร่ำรวยนะ ลงเรียนซ้ำแบบนี้ก็ต้องเสียเวลาไปปีหนึ่งเปล่าๆ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรมากกว่านั้นค่ะ"


"ถึงตอนได้เรียนก็ยิ่งไม่อยู่บ้านใหญ่เลย คุณพ่อก็จะชอบบ่นว่าทำไมมันไม่ค่อยอยู่บ้านเลย ตอนนั้นไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยกันน่ะค่ะ เพราะคุณพ่อก็ทำงานกลับบ้านเย็นมาก ส่วนเราก็ไม่อยู่เหมือนกัน แต่ก็อยากจะให้คุณพ่อรู้ ว่าที่เราไปทุกวัน เราไม่ได้ไปเกเรหรือไปเที่ยวที่ไหน เราไปเขียนรูป พอเรียนจบก็เลยจัดแสดงงานเดี่ยว แล้วให้คุณพ่อเป็นประธานเปิดงาน พอคุณพ่อเห็นก็ไม่ได้บ่นว่าอะไรอีกเลย อันนั้นเป็นงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกเลยค่ะ"

 

ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี


บัตรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ 55 ปีที่แล้ว (2505) ประตูหลักยังอยู่ฝั่งสนามหลวง

ตอนอาจารย์เป็นนักเรียน มีผู้หญิงในรุ่นกี่คนครับ ถ้าตอนเรียนเตรียมศิลปากรมีนักเรียนทั้งหมด 35 คน มีผู้หญิง 10 คนได้มั้งคะ แต่พอสอบเข้าศิลปากรก็เหลือแค่ 5 คน พอจบปี 3 ก็จะได้อนุปริญญา แต่ถ้าจะเรียนต่อต่อ ปี 4 และ ปี 5 ได้ คะแนนรวมต้องได้ 70% และคะแนนวิชาเอกคือเพ้นต์กับปั้นก็ต้องถึง 70% ด้วย ตอนที่ถึงปี 4 ปี 5 รุ่นครูก็เหลือครูเป็นผู้หญิงคนเดียวค่ะ แต่ที่จริงคือคนที่จะเรียนต่อถึงปี 4 ปี 5 ก็มีน้อยอยู่แล้วนะคะ ปีนึงนักศึกษาทั้งหมดอย่างมากก็ 4 คน บางทีก็ 2 อย่างปีของครูนี่มีทั้งหมด 4 คน ตอนแรกครูเรียนปั้น แต่เป็นหืดอยู่กับดินชื้นๆ ไม่ได้ ก็เลยไปเรียนเพ้นท์ต่อจนจบ เป็นผู้หญิงคนแรกที่จบศิลปากร


อาจารย์ศิลป์ท่านสอนสนุกไหมครับ คืออาจารย์เป็นคนตลกนะคะ แต่ว่าเวลาพูดบางทีเราก็ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านพูดสำเนียงฝรั่ง เคยมีเรื่องตลกตอนเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ที่นักศึกษาตอนนั้นจะรู้กันหมดเรื่องหนึ่งค่ะ คืออาจารย์ท่านสอนถึงเรื่องศิลปะอียิปต์ แล้วท่านก็บอกว่า "อียิปต์มีวัดสุทัศน์ " พวกเราก็นึกในใจว่า เอ๊ะ อียิปต์นับถือศาสนาพุทธหรือถึงมีวัด ก็จดไว้หมดทุกคำเลย สุดท้ายพวกเราก็ต้องไปถามรุ่นพี่ รุ่นพี่เขาก็บอกว่าอาจารย์หมายถึง “วัตถุธาตุ”

อาจารย์ลาวัณย์ (เสื้อลาย) และอาจารย์ศิลป์กับนักศึกษาที่จังหวัดสุโขทัย

อาจารย์เริ่มเป็นผู้ช่วยอาจารย์ศิลป์ตอนไหนครับ ตอนปี 4 ค่ะ ช่วยเป็นล่ามให้อาจารย์ตอนสอน สมมุติอาจารย์จะให้งานเด็ก พอสั่งเสร็จท่านก็ต้องหันมาบอก “ลาวัณย์แปลไทยเป็นไทยให้ที” ก็อย่างที่เมื่อกี้เล่าให้ฟังล่ะค่ะ ท่านพูดอะไรไม่ค่อยชัด สำเนียงเป็นอิตาเลียน พูดคำว่าวัตถุธาตุเป็นวัดสุทัศน์ อนุสาวรีย์คนขี่ม้า เป็นอนุสาวรีย์คนขี้หมา แล้วก็มีนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนงเยาว์ อาจารย์ก็เรียกนมยาว


แต่ก็เป็นล่ามให้อาจารย์แค่ 2-3 ปีเท่านั้นค่ะ แล้วก็อาจารย์ท่านก็ให้ไปสอนวิชา anatomy (กายวิภาคศาสตร์) สมัยนั้นวิชาอนาโตมี่ต้องสอบทั้งเขียนรูปและสัมภาษณ์ คืออาจารย์ที่สอนจะแอ็คชั่นให้ดูแล้วสัมภาษณ์ ว่าถ้าทำท่านี้จะมีกล้ามเนื้อส่วนไหนทำงานบ้าง แล้วตอนเป็นนักเรียน ปกติจะครูเป็นคนเรียนดี ก็จะคอยติวให้เพื่อนๆ อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ ท่านก็เลยให้สอนวิชานี้

บรรยากาศคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากรปี 2498 (62 ปีที่แล้ว) ตอนอาจารย์ยังเป็นนักศึกษา
 

สาวเปรี้ยว



ผมเห็นรูปอาจารย์กับอาจารย์สุวรรณี สุคนธา (นักเขียนคนสำคัญของไทย) สมัยก่อนนี่เปรี้ยวมากเลยนะครับ ตอนนั้นหาเสื้อผ้าที่ไหนมาใส่กันครับ ก็ออกแบบกันเองนี่ล่ะค่ะ แต่ไม่ได้ตัดเย็บกันเองนะคะ จะออกแบบแล้วให้ช่างตัดให้ อาจารย์สุวรรณีท่านเป็นผู้นำ คือครูจะไม่ชอบแต่งตัวค่ะ แต่ว่าพี่แต๋ว หรืออาจารย์สุวรรณีน่ะนะคะ แกเป็นคนขยันแต่งตัวด้วย แล้วก็เป็นคนที่มีความสามารถหลายด้านเลยค่ะ


กิจกรรมของศิลปินหนุ่มสาวตอนนั้นเป็นยังไงครับ เช่นไปเที่ยวไหนกันบ้างครับ ถ้าไปเที่ยวจะเป็นตอนเป็นนักศึกษามากกว่านะคะ แต่ไปเที่ยวทางการเรียน อย่างการสอนประวัติศาสตร์เขาก็พาไปอยุธยา ไปสุโขทัย หรือเขมร

 

แพะเดือนตุลา

"หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ ตุลาฯ แทบจะเรียกว่าเรานี่เป็นตัวเสนียดหรือตัวจัญไร โผล่เข้าไปที่ไหนทุกคนจะพยายามเดินเลี่ยง และก็มีบางครั้งที่ บางทีเราก็ขำ บางทีเราก็ยัวะเหมือนกัน ถ้าเราเดินไปทางท่าช้าง หรือท่าพระจันทร์ ก็จะมีคนมาสะกิดกัน นี่ไงอาจารย์ลาวัณย์ นี่...อีนี่เป็นคอมมิวนิสต์"

-- จากหนังสือ กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง โดย ผู้หญิง 6 ตุลาฯ , คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 , ตุลาคม 2544 , หน้า 20-28

 

อาจารย์ลาวัณย์มีความสนใจเรื่องการเมือง นอกจากชอบไปฟังปราศรัยการเมือง ในยุคที่การเมืองไทยระอุ อาจารย์เป็นแม่แรงหลักในการรวบรวมศิลปินมาทำงานด้านการเมือง เช่นโปสเตอร์หรือป้ายประท้วงขนาดใหญ่ อาจารย์ลาวัณย์อายุ 41 ปีและมีลูกสองคนตอนที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ชนวนสำคัญของเหตุการณ์เกิดจากที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงละครเกี่ยวกับกรณีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้านครปฐม แล้วหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ภาพนั้น แล้วบอกว่ามีการแต่งหน้านักศึกษาที่โดนแขวนคอให้เหมือนสมเด็จพระบรมฯ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สร้างความเดือดดาลให้คนไทยทั้งแผ่นดิน ตอนนั้นวิทยุยานเกราะออกข่าวย้ำๆ ว่าคนที่แต่งหน้าให้นักศึกษาในภาพ คือนางลาวัณย์ อุปอินทร์ ในยุคที่สื่อยังไม่เข้าถึงผู้คน การล่าแม่มดไม่ใช่แค่การเม้นต์ด่าบนเฟซบุ๊ก แต่เป็นการล่าตัวกันเป็นๆ ซึ่งแม้หลังเหตุการณ์สงบลง และมีการแถลงความบริสุทธิ์ไปแล้ว ก็ยังมีคนไม่เชื่อว่าอาจารย์ไม่เกี่ยว ผมจึงขอได้ยินการยืนยันจากปากอาจารย์อีกครั้ง

อาจารย์เป็นคนแต่งหน้าหรือเปล่าครับ ไม่รู้เรื่องเลยค่ะ เพราะตอนเย็นวันที่ 5 (ตุลาคม) ประเทือง เอมเจริญเขาเปิดงานแสดง เราก็ไปงานเขา พอขากลับนั่งรถเพื่อนกลับมา เปิดวิทยุฟังก็ได้ยินข่าวว่า ลาวัณย์ อุปอินทร์เป็นคนแต่งหน้านักศึกษา แล้วยังขุดชื่อแซ่โคตรเหง้าเรามาหมด ว่าเราเป็นกบฏ ครูก็งงว่าไปแต่งตอนไหน ก็ยังนั่งอยู่ในรถนี่

ตอนนั้นครูเช่าบ้านอยู่แถวเชิงสะพานบางกอกน้อย พอถึงบ้านก็มีเรื่องตกใจอีก เพราะวันนั้นลูกสาว (องค์อร อุปอินทร์) ที่ยังเล็กเขาตกลงมาจากรถเมล์ไม่รู้สึกตัว พี่เลี้ยงไปอุ้มกลับมา เป็นแผลทายาแดงเต็มเลย พอวันที่ 6 เราก็เลยไม่ได้ออกจากบ้านเพราะต้องดูลูก วันนั้นก็มีลูกศิษย์มาหาที่บ้าน บอกว่าโล่งอกไป เพราะคิดว่าอาจารย์ไปที่ธรรมศาสตร์ เพราะตอนนี้เขาปะทะกันแล้ว มีคนโดนยิงตายหลายคน


แล้วอาจารย์โดนตามล่าไหมครับ ตอนนั้นก็น่ากลัวเหมือนกันค่ะ คืนวันที่ 6 ต้องหนีไปอยู่ร้านหมอที่รู้จักกัน ทั้งคืนนั้นเขาก็ประโคมข่าวว่าครูเป็นคนแต่งหน้า คุณแม่ของร้านหมอเขาก็กลัวเพราะเราไปอยู่บ้านเขา เพราะว่าเขามีปลุกระดมพวกลูกเสือชาวบ้าน พวกอะไรต่ออะไรขึ้นมาใช่ไหมคะ เราเลยต้องนั่งแท็กซี่หนีไปอยู่บ้านคุณแม่ ถ้าวันนั้น (6 ตุลาคม) ถ้าครูออกจากบ้านก็น่ากลัวว่าจะอันตรายมาก ดีไม่ดีอาจจะถึงตายก็ได้


ทำไมถึงเป็นอาจารย์ครับ จริงๆ ก็ไม่รู้นะคะ แต่ก็คงมีคนไม่ชอบหน้าเรามั้ง เพราะตอน 14 ตุลา 16 เราก็ไปช่วยนักศึกษาเขาทำโปสเตอร์ที่ธรรมศาสตร์ แล้วเราก็รวบรวมศิลปินหลายๆ แขนง สร้างเป็นแนวร่วมศิลปิน ไปช่วยศูนย์นักศึกษาทำงานที่เกี่ยวกับศิลปะทุกอย่าง แล้วเราก็เป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม เขาคงเห็นว่าเราเป็นตัวแสบ แต่พอหลังเหตุการณ์นั้น ก็ได้เจอกับอภินันท์ (บัวหภักดี) และวิโรจน์ (ตั้งวาณิชย์) ที่เป็นคนเล่นละครนะคะ คือตอนนั้นจริงๆ เขาแต่งให้หน้าฟกช้ำดำเขียวเหมือนกับช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอที่นครปฐม ไม่ได้แต่งให้เหมือนใคร แต่บังเอิญอภินันท์เขามีมุมคล้ายๆ ไงคะ แต่หนังสือพิมพ์เขียนว่าจงใจแต่งให้เหมือน

ทำไม (2524) สีน้ำมันบนผ้าใบ, 100 x 120 ซ.ม.
เดินขึ้นศาล (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์),2546 สีน้ำมันบนผ้าใบ, 90 x 73 ซ.ม.
 

ศิลปินสองรัชกาล

อาจารย์เคยถวายงานในหลวง (รัชกาลที่ 9) ด้านไหนบ้างครับ ก็เขียนรูปค่ะ ในหลวงท่านให้รูปมา เป็นรูปพระบรมวงศานุวงศ์ขนาดโปสการ์ด สีซีเปีย แล้วก็ให้เราไปขยายรูปแล้วใส่สี แต่รูปเป็นสีซีเปีย ดังนั้นพวกสีเสื้อผ้า ข้าวของเราก็ถามผู้ใหญ่ในวังเอา ว่าท่านยังจำได้ไหม อันไหนที่จำไม่ได้เราก็ไปสืบหาเอง ตอนนี้รูปก็ยังอยู่ที่วังสวนจิตรฯ


เริ่มถวายงานให้ท่านได้อย่างไรครับ เริ่มจากที่ตอนนั้นอาจารย์ศิลป์ท่านจัดแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ โดยในหลวงท่านทรงเสด็จเปิดงานพร้อมสมเด็จพระราชินีค่ะ ในหลวงท่านก็ดูรูปไป ส่วนสมเด็จฯ ท่านไปยืนพักอยู่ตรงรูปคุณแม่ที่ครูเขียนพอดี ท่านก็ตรัสถามท่านหวาน (หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์) ว่ารูปนี้ของใคร หม่อมเจ้าการวิกก็ทูลถามท่านว่าทรงอยากรู้จักคนเขียนไหม ท่านก็บอกว่าอยาก ท่านหวานก็มาเรียกครูไป พอไปถึงสมเด็จฯ ท่านก็ทำหน้างงๆ ท่านตรัสว่า ไม่รู้ว่าเป็นอาจารย์เขียน คิดว่าคนเขียนเป็นผู้ชาย แต่ท่านก็บอกว่าท่านรู้จักครูนะคะ เพราะว่าครูออกรายการทีวี คือตอนเรียนครูก็มีงานสอนวาดรูปออกทีวีช่องสี่บางขุนพรมไงคะ เขียนฉากละคร เล่นละครบ้าง ยุคนั้นทีวีมีอยู่ช่องเดียว คือช่อง 4 บางขุนพรหม ถ้าใครมีทีวีก็ต้องได้ดู เพราะมันมีช่องเดียวค่ะ สมเด็จท่านบอกว่าอาจารย์รู้ไหม ท่านเป็นแฟนอาจารย์ด้วย

ในหลวงท่านทรงเรียนศิลปะกับใครครับ ท่านทำเองค่ะ บางทีท่านก็เรียกอาจารย์เฟื้อ (หิริพิทักษ์) หรืออาจารย์ผู้ใหญ่เข้าไปคุยด้วย แต่ท่านไม่ได้เรียนกับใคร ท่านศึกษาด้วยตัวเอง แต่ท่านชอบงานของสมโภชน์ (อุปอินทร์ -สามีอาจารย์ลาวัณย์ เสียชีวิตเมื่อปี 2557) เขานะคะ แล้วก็บอกผ่านทางอาจารย์ศิลป์ ว่าคนๆ นี้อีกหน่อยจะประสบความสำเร็จมาก ท่านซื้อรูปสมโภชน์ไป 2 รูป เวลาจะจองรูปนะคะ ท่านเขียนว่าจองรูปโดยจิตรลดา คือท่านไมได้บอกชื่อท่านนะคะ ท่านว่า 'จิตรลดา' เป็นคนจอง

 

ชีวิตและผลงาน

ผู้หญิงเท่าเทียม (2520), สีน้ำมันบนผ้าใบ, 235 x 115 ซ.ม.ไข้หนัก (2505) สีน้ำมันบนผ้าใบ, 90 x 65 ซ.ม.
ไข้หนัก (2505) สีน้ำมันบนผ้าใบ, 90 x 65 ซ.ม.
"ที่เริ่มเขียนพอร์ทเทรทเพราะตอนเป็นนักเรียน อาจารย์ศิลป์ท่านจัดแบบให้นักเรียนเขียนรูปครึ่งตัว ครูก็เขียนแล้วหน้าเหมือนแบบ อาจารย์มาดูก็ชอบใจ บอกว่าเขียนหน้าเสียเหมือนเชียว แล้วก็ไปเรียกอาจารย์เฟื้อ บอกอาจารย์เฟื้อมาดูสิ เหมือนจริงๆ เลย เสร็จแล้วก็ตบไหล่เรา แล้วก็ตบหัว พยักหน้าหงึกๆ แล้วก็เดินไป เราก็เลยจำขึ้นใจ ว่าอาจารย์ชมว่าเราเขียนรูปแล้วเหมือน พอเรียนจบมาก็เลยทำพอร์ทเทรทเป็นส่วนใหญ่ค่ะ"

ปิคัสโซ่มีช่วงผลงานที่เรียกกันว่ายุคสีน้ำเงินและยุคคิวบิสซึ่ม, ฟาน ก๊กฮ์ มีช่วงอยู่ในสถานจิตบำบัติ, ฟรีด้า คาห์โล่ มีช่วงความรักลุ่มๆ ดอนๆ และช่วงก่อนตาย หรือลุงเดวิด ฮ็อคนี่ก็มีช่วงติด iPad ศิลปินบางคนถ้าเอาผลงานมาเรียงกันเป็น timeline เราสามารถเห็นเรื่องราวชีวิตและสไตล์งานที่ผันแปรด้วยอิทธิพลที่เข้ามากระทบชีวิตของพวกเขาในแต่ละช่วงได้เลย ในแง่นั้น ภาพเขียนของอาจารย์ลาวัณย์ก็แบ่งเป็นยุคได้เช่นกัน ด้วยชีวิตที่ผ่านเรื่องราวทั้งสุข เศร้าหรือโดนการเมืองแผดเผา ที่พรรณนาผ่านภาพเขียนบุคคลและเรื่องราวต่างๆ โดยผมขอแบ่งเป็นสามช่วงดังนี้

1. ช่วงสัจนิยม (Realism) ในวัยสาวของอาจารย์ลาวัณย์ อาจารย์เป็นศิลปินสาวที่โดดเด่นในสังคม ได้พบและร่วมงานบุคคลสำคัญในทุกระดับ มีส่วนร่วมทางการเมือง จนถึงถวายงานให้พระเจ้าแผ่นดิน อาจารย์เลือกเขียนบุคคลที่อาจารย์ชื่นชมหรือมีอิทธิพลทางความคิดและการดำเนินชีวิต แต่ถ้าเราดูภาพเหล่านั้นแบบไม่สนใจว่าคนในภาพคือใคร สิ่งที่สะท้อนออกมาจากงานคือบรรยากาศการเข้าสู่ยุคใหม่ของศิลปะไทยหลายอย่าง เช่นลักษณะการเขียนภาพที่ปราณีตคมคาย โครงสร้างและทฤษฏีแน่นตามหลักสูตรของศิลปินรั้วศิลปากรที่เพิ่งก่อตั้ง ความรู้สึกกึ่งไทยกึ่งฝรั่งอันเป็นลักษณะเด่นในช่วงรอยต่อสำคัญที่ศิลปไทยขนบประเพณีมาเจอกับอิทธิพลศิลปะตะวันตก (หรือที่คุณบุญชัย เบญจรงคกุล นักสะสมงานศิลปะเจ้าของหอศิลป์ MOCA เรียกว่าเป็น "ยุคเรเนซองส์ของศิลปะเมืองไทย") ในช่วงหลังสงครามโลก เมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ ทำให้มีศิลปิน นักคิด นักเขียนเกิดขึ้นมากมาย ผลงานของอาจารย์ลาวัณย์หลายชิ้นก็หนีไม่พ้นอิทธิพลทางการเมือง

เสณี เสาวพงศ์ (ศักดิ์ ชัยบำรุง), 2505, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 60 x 60 ซ.ม.
น้อย, 2509, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 50 x 80 ซ.ม.
ท่านคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู, 2533, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 195 x 115 ซ.ม.
อาจารย์เฟื้อ หิริพิทักษ์, 2547, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 66 x 44 ซ.ม.

2. ช่วงเหนือจริง (Surrealism) ในปี 2505 - 2509 อาจารย์วาดภาพบูรพกษัตริย์ไทยเกือบ 20 ภาพ โดยผ่านวิธีนั่งสมาธิของคุณศรีเพ็ญ จัตุฑะศรี แห่งสำนักค้นคว้าทางจิตวิญญาณ แล้วเล่าให้อาจารย์เขียนตามที่เธอนั่งสมาธิเห็น ทีแรกอาจารย์ลาวัณย์ที่เป็นสาวสมัยใหม่ และไม่เคยเชื่อเรื่องเหนือจริง ลังเลด้วยคำถามมากมาย เช่น ท่านสิ้นพระชนม์ไปตั้งนานแล้ว ทำไมยังไม่ไปเกิดเสียที หรือต่อให้เห็นจริง จะเชื่อได้อย่างไรว่าคนที่มาให้เห็นนั้นเป็นกษัตริย์จริง แต่ด้วยความอยากทดลอง ว่าการวาดบุคคลที่ไม่มีตัวตนบนโลก และต้องยืมตาคนอื่นวาดแบบนี้ จะมีขั้นตอนหรือพิธีกรรมทางจิตวิญญาณและความเชื่อใดบ้าง จึงเรียกได้ว่าเป็นการทดลองแปลกประหลาดแบบหนึ่งของศิลปิน ซึ่งจนบัดนี้ อาจารย์ลาวัณย์ก็ยังบอกว่าเชื่อเรื่องนี้แบบ 50-50

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, สีน้ำมันบนผ้าใบ (ซ้าย) 100 x 60 ซ.ม. (ขวา) 50 x 60 ซ.ม.
พระนเรศวรมหาราช, 100 x 60 ซ.ม. / พ่อขุนผาเมือง, 2515, 55 x 75 ซ.ม. สีนำ้มันบนผ้าใบ
ระหว่างแดนสนธยา (คุณศรีเพ็ญ จัตุฑะศรี), 2509, สีน้ำมันบนผ้าใบ 113 x 74 ซ.ม.

3. ช่วงเป็นพาร์คินสัน อาจารย์ลาวัณย์เกษียณในปี 2539 แต่ยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่อีก 17 ปี (2556) จนทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเห็นว่าอาจารย์สุขภาพไม่แข็งแรง อยากให้หยุดพัก


“ตอนนี้เป็นพาร์คินสัน เวลาจะทำรายละเอียด พอเกร็งมือปุ๊ป มือมันจะสั่น ต้องหยุดพักแล้วบริหารมือจึงจะกลับไปทำต่อได้ กว่าจะวาดได้รูปหนึ่งมันก็จะช้าหน่อย เป็นตั้งแต่ปี 2555 ก็รักษาอยู่นะคะ ตอนนี้กินยาวันละสี่มื้อ บางวันก็ดีขึ้น แต่บางวันพอตั้งมือปุ๊ปมันจะสั่นยิกๆๆ เลย” อาจารย์เล่า


ความโดดเด่นของผลงานของอาจารย์ในช่วงหลังๆ ที่เขียนรูปอยู่กับบ้านนี้ คือภาพที่รายละเอียดไม่แม่นเหมือนในวัยข้อมือนิ่ง แต่มีโครงสีและอารมณ์ที่สบายตา สบายใจ บุคคลที่อาจารย์เลือกเขียนส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อาจารย์รักใคร่เอ็นดูมานาน เช่นลูก หรือเพื่อนๆ ลูกที่แวะเวียนมาเยี่ยมอาจารย์อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ลูกๆ ยังเป็นวัยรุ่น บางวันอาจารย์ก็เขียนรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9, สมเด็จพระราชินี หรือสมเด็จพระเทพฯ ที่อาจารย์เคยมีโอกาสได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทตั้งแต่ยังสาว เป็นช่วงของผลงานภาพเขียนดูร่มรื่น ผ่อนคลาย จากฝีแปรงจิตรกรหญิงวัย 81 ปี ที่ชีวิตผ่านเรื่องราวร้ายดีมาสารพัด และทำงานศิลปะมาทั้งชีวิต

ผลงานล่าสุดของอาจารย์ลาวัณย์ ที่โรคพาร์คินสันไม่สามารถหยุดความรักในการเขียนรูปได้

ในการทำงานศิลปะ อาจารย์มักแนะนำอะไรนักเรียนครับ อาจารย์ศิลป์ท่านบอกว่า งานที่จะเป็นศิลปะได้ต้องประกอบด้วย 3 H คือ Hand, Head และ Heart คือต้องได้ทั้ง 3 อย่าง งานนั้นมันถึงจะมีคุณค่าเป็นศิลปะได้อย่างแท้จริง คือถ้ามีแต่ hand เฉยๆ มันก็เป็นเหมือนคนเขียนภาพประกอบ เขียนอะไรต่ออะไรที่มันไม่มีชีวิตจิตใจ 


การเป็นครูศิลปะทั้งชีวิต มีอะไรที่นักศึกษาทำให้อาจารย์หนักใจบ้างครับ ไม่มีหรอกค่ะ เราก็ปล่อยให้เขาทำงานไปนะคะ แล้วเราก็จะไปดูถ้าเขาเขียนผิด หรือมีอะไรที่เราก็ช่วยแก้ได้ หรือถ้าไม่แก้ ก็จะแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่ไม่ได้เล็คเชอร์นะคะ แค่ไปอธิบายนิดหน่อยอะไรอย่างนี้ค่ะ


กว่าอาจารย์จะหาสไตล์งานของตัวเองเจอ ต้องใช้เวลาแค่ไหนครับ ก็ไม่ได้มีสไตล์อะไรมากนะคะ ก็แค่ทำพอร์ทเทรทนี่คะ


เวลาอาจารย์เขียนพอร์ทเทรท อาจารย์มองหาอะไรในตัวคนที่เป็นแบบบ้างครับ คือเราต้องรู้จักคนๆ นั้นนะคะ เวลาเราเขียนรูปเราจึงจะได้ชีวิตจิตใจของคนๆ นั้น คือถ้าเขียนแค่เหมือนเฉยๆ รูปถ่ายก็มี ก็ไม่จำเป็นจะต้องเขียน เวลาเขียนใคร ถ้าไม่รู้จักจริงๆ ก็ไม่อยากเขียนนะคะ แต่ถ้าเผื่อว่าเรารู้จักคนๆ นั้น ชีวิตคนๆ นั้น ด้วยความเป็นอยู่ และอะไรต่ออะไรทุกอย่างนี่นะคะ การเขียนภาพของคนๆ นั้นเราก็จะสามารถ expression ได้

(ภาพเปิดบทความและภาพนี้) อาจารย์ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ถ่ายโดย พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์, แต่งหน้าและทำผมโดย เดชาชัย เกิดผล
 

ศิลปินแห่งชาติ 2559


อาจารย์คิดว่าทำไมเมืองไทยถึงมีศิลปินแห่งชาติที่เป็นผู้หญิงน้อยขนาดนี้ครับ ก็ปกติคนสมัยก่อนคิดว่าคนเรียนทางด้านนี้จะไม่ค่อยปกติ จะบ้าๆ บอๆ อะไรอย่างนี้ ก็เลยไม่ค่อยเรียนกัน อีกอย่างหนึ่งก็คล้ายๆ มันเป็นธรรมชาติด้วยนะ ที่ผู้ชายจะชอบงานทางด้านนี้มากกว่าผู้หญิง คือตอนเรียนงานมันหนักมากไงคะ พอเรียนถึงปี 4 ก็ไม่ไหว ก็ออกไปกันหมดเลย พอมาถึงปี 5 ก็เหลือแค่ครูคนเดียวอย่างที่บอกค่ะ


ที่ผ่านๆ มา อาจารย์เคยโดนแบ่งแยกหรือกีดกันเพราะเป็นศิลปินผู้หญิงไหมครับ ไม่มีค่ะ


อาจารย์คิดว่าความต่างระหว่างงานผู้ชายกับผู้หญิง มีอะไรที่ชัดเจนจนดูออกครับ ดูไม่ออกหรอกค่ะงาน จะผู้หญิงหรือผู้ชายทำ อย่างครูเขียนรูปเอง ยังเคยมีคนคิดว่าไม่ได้เขียนเอง ให้สามีเขียนให้เลย


อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ได้ศิลปินแห่งชาติปีนี้ครับ ก็ดีใจหน่อยๆ ค่ะ คือไปรู้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เพราะน้องชายไปงานศพ แล้วเจอคนที่เป็นกรรมการ เขาก็บอกว่า เออ ขอแสดงความยินดีด้วยนะ พี่สาวได้เป็นศิลปินแห่งชาติ น้องชายเขาก็มาถามครู ครูก็ไม่รู้เรื่องเพราะปีนี้ไม่ได้ขอ และไม่มีใครขอให้ แต่ว่าเมื่อปีที่แล้วมีคนยื่นเรื่องขอให้แต่ไม่ได้


ครั้งแรกที่อาจารย์แสดงงานคือตอนเรียนจบใหม่ๆ ครั้งที่สองคือเมื่อห้าปีที่แล้ว ส่วนครั้งที่จะถึงวันที่ 16 มีนาคมนี้จะเป็นการแสดงงานเดี่ยวครั้งที่สามในชีวิต ทำไมแสดงงานน้อยจังครับ ความจริงครูก็มีแสดงงานเป็นกลุ่มเรื่อยๆ น่ะค่ะ แต่แสดงงานเดี่ยวนี่...คือมันเหนื่อยมากนะคะเวลาจะจัดแสดงงานทีนึง เคยจัดให้สมโภชน์ แล้วหมดแรงเลย ก็เลยเข็ด ตอนที่จัดให้สมโภชน์ตอนนั้นครูทำงานในวังไงคะ ก็รบกวนผู้ใหญ่ในวังช่วยกราบบังคมทูลถามในหลวงท่าน ว่าท่านอยากทอดพระเนตรงานของสมโภชน์เยอะๆ ไหม เพราะงานที่แสดงในนิทรรศการศิลปินแห่งชาติก็มีแค่ปีละสองสามชิ้น ท่านก็บอกว่าท่านอยากดู ครูก็ไปเตรียมหาสถานที่ๆ เหมาะสมที่ท่านจะเสด็จดูได้ไม่น่าเกลียด หาอยู่สามปี ตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน จนลูกชายสองขวบโน่นแน่ะถึงได้แสดง จัดที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี ในหลวงท่านก็เสด็จมาเป็นการส่วนพระองค์หลังจากวันเปิดงานไปแล้วพักหนึ่ง คือวันที่ 4 มีนาคม วันเกิดลูกชายสองขวบพอดี ท่านเสด็จอยู่ถึงสามชั่วโมงกว่า งานนิทรรศการนั้นมีงาน 225 ชิ้น มีทั้งงานปั้น งานเพ้นท์ ภาพพิมพ์ พอหมดงานสมโภชน์ครูก็หมดแรงเลย จะแสดงเองก็เลยเข็ด ส่วนครั้งที่สองนี่จัดเพราะเราเลิกสอนแล้ว มีเวลาว่างแล้ว ก็เลยเตรียมแสดงงานได้ แต่สองครั้งหลังนี่ ลูกชาย (อิศร์ อุปอินทร์) เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ค่ะ


รอบนี้มีกี่ชิ้นครับ ร้อยชิ้นค่ะ ลูกชายครูเขาแบ่งช่วงเป็นงานตั้งแต่สมัยตอนเป็นนักเรียน แล้วก็ช่วงหลังเรียนจบแล้ว แล้วก็มาช่วงหลังเกษียณค่ะ งานของครูมีร้อยชิ้นนะคะ แต่ลูกชายเขาจะเอางานของอาจารย์สมโภชน์จำนวนหนึ่งมาแสดงในนิทรรศการด้วย

งานเขียนตอนเป็นนักศึกษา

อะไรที่ทำให้อาจารย์อยากทำงานไปเรื่อยๆ มันมีอะไรในศิลปะที่ดึงดูดอาจารย์ครับ คือเวลาเราชอบทำงานศิลปะนี่นะคะ มันมีความรู้สึกเหมือนกินข้าวค่ะ ถ้าวันไหนไม่ได้เขียนก็รู้สึกเหมือนไม่ได้กินข้าว คือคนเราต้องกินข้าวทุกวันใช่ไหมคะ เราก็เขียนรูปทุกวันค่ะ นอกเสียจากไม่สบาย หรือมีธุระปะปังไปไหน อาจารย์ศิลป์ท่านเคยบอกว่า ถ้าอยากจะเป็นศิลปินน่ะ อย่าแต่งงานนะ เพราะว่าถ้าแต่งงานประเดี๋ยวก็จะต้องไปเอ่เอ๊ ตอนที่บอกอาจารย์ท่านก็ทำท่าเลี้ยงลูกให้ดูนะคะ แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก ตอนแรกครูก็ไม่ได้คิดจะแต่งงานนะคะ แต่ถ้าเราไม่แต่งงาน เราก็ออกจากบ้านไม่ได้ใช่ไหม ก็เลยแต่งตอนอายุมากแล้วค่ะ แต่งตอนอายุ 31 กับอาจารย์สมโภชน์ 


อาจารย์สมโภชน์ขออาจารย์แต่งงานยังไงครับ เขาขอหมั้นด้วยรูปเขียนร้อยรูปค่ะ ??? สมโภชน์เขาบอกว่าเขาไม่มีเงินที่จะซื้อแหวนหรือซื้ออะไรให้ เขาบอกเขามีแต่รูปเขียน ครูก็เลยพูดไปเล่นๆ ค่ะ ว่าก็เอาสิ ก็หมั้นด้วยรูปเขียนนี่ล่ะ หมั้นด้วยรูปเขียนร้อยรูปแล้วกัน แค่พูดเล่นกันนะคะ แต่เขาทำจริง


ถ้าอย่างนั้น ตอนวันพิธีหมั้น อาจารย์สมโภชน์ท่านขนรูปร้อยรูปมายังไงครับ ไม่มีพิธีค่ะ มันจะไปมีพิธีอะไรล่ะค่ะ เราก็ไปหมั้นกันเองนี่ล่ะค่ะ เขาก็ไม่ได้ขนรูปมาหรอก ก็อยู่ในห้องทำงานเขานั่นล่ะ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่านี่ล่ะของหมั้น ตอนวันแต่งงานคุณแม่ยังถามเลย วานี่เธอไม่หมั้นเหรอเนี่ย ครูก็บอกหมั้นแล้วค่ะ แม่ก็บอก อ้าว! แล้วทำไมแม่ไม่รู้เรื่องเลย! คือครูชื่นชมคนที่ผลงาน แล้วสมโภชน์เขาทำงานเก่งไงคะ เราก็เลยชื่นชมเขา ก็เลยแต่งงานกัน แต่ก็ปฏิเสธการทำงานบ้านนะคะ เพราะเราจะตั้งใจเขียนรูป

 

นิทรรศการผลงานอาจารย์ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ จะเปิดแสดงในวันที่ 16 มีนาคม - 23 เมษายน ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (The Queen's Gallery)  สะพานผ่านฟ้าลีลาศ, ถนนราชดำเนินกลาง 


บทความนี้สนับสนุนโดยปากกา Quantum



Comments


bottom of page