top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

Landmee: แบรนด์แฟชั่นที่ปั้นมาจากดิน



Landmeé อ่านว่า แลนด์มี่ หรือแปลตรงตัวก็ได้คำว่า “แดนดินของมี่” และถ้าจะพูดว่า คุณมี่-เนตรดาว วัฒนะสิมากร ปั้นแบรนด์ของเธอมาจากดินก็ไม่ผิดเลย เพราะจุดเริ่มต้นของแลนด์มี่ คือตอนที่คุณมี่ยังเรียนศิลปะอยู่ปีหนึ่งที่วิทยาลัยเพาะช่าง ที่เธอรับจ๊อบปั้นดินญี่ปุ่นเพ้นท์ลายขายเป็นรายได้พิเศษระหว่างเรียน บ้านเธอไม่ได้ร่ำรวย คุณพ่อ คุณแม่รับราชการครู และหวังให้ลูกสาวเรียนจบไปทำงานราชการครูเช่นกัน


“แต่พี่ไม่ได้ชอบแบบนั้น ก็เลยต้องพิสูจน์ตัวเองตั้งแต่เริ่มทำ พี่ก็ไปทำปั้นดินญี่ปุ่นแล้วเพ้นท์ลายส่งขายอันละห้าบาท ทำสี่ร้อยชิ้นได้เงินสองพันบาท แล้วพอเรามีเงินเก็บนิดๆ หน่อยๆ เราก็เริ่มฝันอยากเปิดร้านเล็กๆ”

 

สำหรับผม Landmeé เป็นหนึ่งในความเซอร์ไพรส์ของตารางโชว์ปีนี้เลย เพราะอยู่มาเกือบ 20 ปี แต่เพิ่งมาทำแฟชั่นโชว์กับ ELLE Fashion Week ครั้งแรก นี่เป็นการประกาศว่า Landmeé จะทำงานเป็นซีซั่น เป็นคอลเล็คชั่นอย่างเต็มรูปแบบจากนี้หรือเปล่าครับ พี่ก็ไม่รู้ คงต้องดูก่อน เพราะพี่อาจจะไม่ชินกับการใช้เงินแบบนี้ [ทำแฟชั่นโชว์] และพี่ก็ไม่ได้เก่ง พี่ไม่ได้อยากให้ตัวเองมาเป็นดีไซน์เนอร์ด้วยซ้ำ พี่ก็คนทำเสื้อผ้า แต่พี่ทำแล้วพี่มีความสุขและพี่อยากพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ที่พี่ทำ ELLE ก็เพราะอยากให้รางวัลกับแบรนด์ตัวเอง แล้วก็ทำเพื่อลูกค้าเก่าๆ ที่เป็นแฟนกันมาเป็นสิบปี อยากให้ลูกค้าภูมิใจ ว่าแบรนด์ Landmeé ที่เขาใส่ เขาไปเดิน ELLE แล้วนะเว้ย หรือให้บางคนเห็นว่า เอ๊ย Landmeé อะไรวะ แบรนด์สยามสแควร์แล้วมาทำ ELLE ได้ไงวะ แล้วอีกอย่าง มันก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ ถ้าพี่จะไปขายงานเมืองนอก


จะเปิดร้านเมืองนอกเหรอครับ ยังหรอก แต่ทุกวันนี้พี่ก็มีลูกค้าออนไลน์ในต่างประเทศบ้าง แล้วเวลาพี่ไปเมืองนอก วันไหนที่พี่ใส่แบรนด์ของพี่เอง เดินที่ไหนต้องมีคนมาถามทุกครั้งเลย ว่าซื้อที่ไหน อยากซื้อ แล้วมันไม่ใช่ว่าครั้งสองครั้งไง มันทุกครั้งที่ไปทางแถบยุโรป อันนี้พี่ไม่ได้พูดอวดนะ แต่เหมือนพี่ก็ภูมิใจของพี่ว่า เฮ้ย ดีว่ะ มันมีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำน่ะ มันก็เลยทำให้พี่คิดเรื่องขายเมืองนอก แต่คงยังไม่ใช่เป็นการเปิดร้านนะ เพราะถ้าเกิดไม่มีผลตอบรับนี่แย่เลยนะ แม่งหงอย ทำลายความมั่นใจตัวเอง พี่คิดว่าจะค่อยๆ ทำดีกว่า ก็คงเริ่มโดยติดต่อขายในพวก selected shop ก่อน


ตอนวัยรุ่นที่พี่มีร้านแรกที่จตุจักร เคยฝันเล่นๆ ว่าสักวันจะมีแฟชั่นโชว์ของตัวเองหรือเปล่า เคยสิ เคยเห็นเขาทำกันก็คิดว่าเจ๋งวะ เขาทำกันยังไงวะ อีกสักสิบปีจากนี้ก็อยากมีนะ อยากมีสักครั้งหนึ่งถ้าเราโตๆ กว่านี้ ตอนนั้นพี่ก็คิดแค่ว่า เมื่อวันหนึ่งเราพร้อมแล้วเราถึงจะทำ


วันนี้ได้ทำแล้ว เชิญใครมาดูบ้างครับ ชวนหลายคน แต่ก็แล้วแต่เขา เอาที่ใครอยากมาก็มา แล้วก็ส่งบัตรให้เด็กๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนเพาะช่างด้วย เพราะคิดถึงตัวเองตอนนั้น ว่าเราเคยอยากไปดู ELLE Fashion Week หรือไปดูงานแฟชั่นโชว์ แต่เราไม่มีโอกาส ก็หวังว่ามันจะเป็นโอกาสเติมไฟให้น้องๆ เขา ส่วนอาจารย์ที่เพาะช่างก็ดีใจมาก



เรื่องราวของ Landmeé ที่เริ่มจากดินหลักร้อย จนกลายเป็นธุรกิจแฟชั่นหลักหลายล้าน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรักแฟชั่นที่อยากมีแบรนด์ของตัวเองได้ ด้วยไม่มีอะไรซับซ้อนจนคุณนำมาใช้เป็นแบบอย่างไม่ได้ เพราะความสำเร็จของเธอกำเนิดจากสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหา นั่นคือ passion ในตัวเธอล้วนๆ


ด้วยเงินนิดหน่อยจากงานเพ้นต์ดินญี่ปุ่น บวกทักษะทางศิลปะและความชอบในแฟชั่น คุณมี่ก็เริ่มผลิตสินค้าแฟชั่นล็อตแรก เป็นสร้อยคอและสร้อยข้อมือแฮนด์เมด “พอพี่เริ่มมีเงินเก็บนิดๆ หน่อยๆ จากของที่พี่ทำ เช่นเริ่มแรกพี่อาจจะได้กำไรห้าพัน พี่ก็แบ่งเก็บสองพัน แล้วเอาสามพันไปซื้อของมาทำขาย แรกๆ พี่เริ่มจากซื้อกระดุมไล่สีมาทำเป็นสร้อยข้อมือ หรือเอามาถักเป็นสร้อยคอ ก็คิดประดิษฐ์เองจากความรู้ที่เราเรียนศิลปะมา มันก็ค่อยขยายด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ขัดสนจนต้องเป็นหนี้หรือยืมเพื่อน” ผมนึกภาพเด็กสาวอายุ 20 ปี นั่งอยู่ในห้องนอนของเธอ ที่รกไปด้วยถุงข้าวของที่ซื้อมาจากสำเพ็ง เธอกำลังร้อยนั่น ตอกนี่ โดยไม่รู้ว่าของ   กระจุ๊กกระจิ๊กที่เธอประดิษฐ์ไปขายในราคาไม่กี่บาท จะพาเธอไปสู่ธุรกิจใหญ่โตและชีวิตมั่นคงที่เธอเคยคิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้น


“ตอนนั้นยังไม่กล้าลงทุนเช่าแผงที่จตุจักร เพราะกลัวถ้าเจ๊งขึ้นมาแล้วพ่อจะว่า ก็ทำไปขายที่งานเกษตรแฟร์ แล้วก็ฝากขายกับร้านพี่ที่รู้จักกันในสวนจตุจักร แต่เราดันขายดีมากๆ ฝากเขาขายได้ประมานหนึ่งปีก็มาเปิดร้านตัวเอง เพราะพี่เจ้าของร้านเขาบอกว่า น้องไปทำเป็นร้านตัวเองเถอะ เพราะมันขายดีมากๆ ตอนนั้นคนจะมามุงหน้าร้านพี่แบบแย่งกันเลย พี่ไม่เคยลืมเลย ภาพนั้นน่ะ”


“ร้านพี่ชื่อ MeeKate (มี่เกด) เพราะทำกับเพื่อนชื่อเกด ตอนนั้นของเราจะโดนก๊อปบ่อยมาก เราก็ต้องทำของใหม่หนีเรื่อยๆ แล้วพอเริ่มมีคนตามของเราเยอะขึ้น พี่ก็เลยทำเสื้อล็อตแรกมาขาย พี่ยังจำได้ยันปัจจุบันนี้เลย ว่าเป็นเสื้อสายเดี่ยวผ้าขนหนูสีน้ำตาล แล้วมีสายยีนส์ เพราะตอนนั้นพี่ชอบใส่อะไรแบบนี้”


ยีนส์เป็นความชอบส่วนตัวของคุณมี่ที่ทำจนเชี่ยวชาญว่าจะเล่นอะไรกับผ้าชนิดนี้ได้บ้าง แต่ผ้าลูกไม้ก็คืออีกเอกลักษณ์ชัดเจนของ Landmeé เสื้อผ้าของแบรนด์นี้มีดีไซน์ที่ดูวินเทจ เป็นสาวหวานแต่ห้าวเหมือนพวกสาวๆ ยุคบุปผาชน แม้ตอนนี้แบรนด์ของเธอจะพัฒนาไปสู่เนื้อผ้า รูปทรง และเทคนิคอื่นๆ จนลืมเสื้อสายเดี่ยวผ้าขนหนูตัวที่เธอเล่าไปได้แล้ว แต่ความปราณีต ความแฮนด์เมดก็ยังไม่เคยจากไปไหน และตัวตนของคุณมี่เอง ก็ยังคงย้อมอยู่ในทุกชิ้นงานของ Landmeé เหมือนสีย้อมผ้าที่ซักกี่ครั้งก็ไม่ตก



พี่เริ่มแบบลุยๆ ของพี่ไปเรื่อยๆ แบบนี้ ถ้าตอนนี้มีเด็กสักคนที่อายุเท่าพี่ตอนนั้นจะเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองบ้าง พี่จะแนะนำอะไรเขาครับ ต้องขุดความเป็นตัวตนของเราออกมาจริงๆ แล้วเส้นทางการทำเสื้อผ้า คนที่จะทำต้องอยู่ในเส้นทางของเราให้มากที่สุด ให้มองตรงไปแค่ในเส้นทางของเรา แล้วพัฒนาของเราไป อย่ามองซ้ายมองขวา เพราะมันจะปวดหัว เช่นบางทีเจอคนก็อปงานเรา พี่เคยร้องให้ทุกวันกว่าจะผ่านตรงนั้นมา แล้วพี่คิดว่า มีใครบ้างไม่โดนก๊อป เขาเอาแบบเสื้อผ้าเอาของเราไปได้ แต่เขาเอาสมองของเราไปไม่ได้ โอเค มึงก๊อปของกูได้มึงก๊อปไป เราก็ต้องพัฒนาครั้งหน้า เราต้องเอาผ้าแพงกว่านี้อีก ทำผ้าให้ดี พัฒนาฝีมือให้ดี มึงปักจักร? โอเค งั้นคราวนี้กูก็จะปักมือ กูจะทำยากให้กว่าเดิม จะปักมือในเส้นทางของกูนี่แหละ



ก่อนที่สยามสแควร์เละเทะสะเปะสะปะจนร้านดีๆ หนีหายกันไปเกือบหมดแบบที่เห็น ย้อนไปในช่วงเข้าปี 2000 ใหม่ๆ หรือยุคค่าย เบเกอรี่เพื่องฟู (a.k.a. ยุคสายเดี่ยวเสียวหลุด) สยามสแควร์คือแหล่งไฮเอนด์ของวัยรุ่น และเหมือนเป็นสูตรความสำเร็จ ว่าถ้าร้านของคุณขายดีที่จตุจักร ลำดับต่อไปคือเปิดร้านที่สยามสแควร์ซึ่งค่าเช่าที่แพงกว่ามาก แต่คนก็มีกำลังซื้อเยอะกว่า ทำเลเด็ดสำหรับกิจการแฟชั่นในสยามสแควร์ตอนนั้นคือซอย 3 และ ซอย 5 ซึ่งร้านคุณมี่มาเปิดที่ซอยห้า ก็คงพอเดาได้ ว่างานร้อยข้อมือจุ๊กจิ๊กและเสื้อผ้าที่เธอว่า ทำกำไรให้ดีทีเดียว และอย่าลืมว่านั่นคือยุคก่อนโซเชี่ยลมีเดีย การซื้อขายต้องมาที่ร้านเท่านั้น และการโฆษณาสำหรับแบรนด์เล็กๆ จึงมีแค่การบอกต่อปากต่อปาก ซึ่งเป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่ยังคงทรงประสิทธิภาพที่สุด แม้ในยุคการสื่อสารก้าวหน้าแบบนี้


จึงไม่ใช่แค่สินค้า Landmeé ที่เป็นของแฮนด์เมด แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณมี่กับลูกค้า ก็เป็นงานแฮนด์เมดที่ทะนุถนอมกันมานานเช่นกัน เพราะแต่ก่อนเธอต้องทำเองคนเดียวแทบทุกอย่างทั้งฟิตติ้งลูกค้าถึงแก้ชุด คุณมี่และลูกค้าของเธอจึงรู้ดีว่า ที่ Landmeé อยู่ได้เกือบสองทศวรรษโดยไม่เคยต้องทุ่มเงินค่าทำ PR หรือลงโฆษณาในนิตยสารบ้าคลั่งนั้น เป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ที่แม้แต่รุ่นที่เคยอุดหนุนกันตั้งแต่ถักสร้อยข้อมือขาย ก็ยังมีที่อุดหนุนกันอยู่ และแม้ตอนนี้เธอจะยุ่งกว่าเดิม แต่ก็ยังมาทำฟิตติ้งให้ลูกค้าเองบ้าง


ปัจจุบัน Landmeé มีสาขาใหญ่อยู่ที่ชั้น 2 Siam Square One และมีลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ

 

ถึงตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่พี่เขาโอเคที่พี่ไม่อยากทำราชการหรือยังครับ โอ๊ย โอเคแล้ว เขาปลื้มแล้ว พอพูดแล้วก็จะร้องไห้ทุกครั้ง เพราะเมื่อก่อนมันเป็นเรื่องเป็นราว แบบว่าร้องไห้กันมาไม่รู้กี่ปี พ่อก็ร้องไห้ ยังไงก็ไม่ยอมให้ทำ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้พี่มาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งเลย คือพี่อยากทำให้พ่อแม่พี่ภูมิใจ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งพี่เครียดมาก จนต้องไปหาหมอ จนหมอถามว่า เราจะหยุดพิสูจน์ตัวเราเองได้หรือยัง


พี่สอนลูกพี่ (ลูกชายวัย 10 ขวบ) อย่างไรบ้างครับ ก็บอกเขาว่า อยากทำอะไรก็ได้ ขอให้ลูกมีความสุขที่สุด ไม่ต้องเก่งมาก ไม่ต้องเป็นที่หนึ่งเหนือใคร แต่ถ้าลูกทำแล้วมีความสุข ขอให้บอก อยากเล่นกีต้าร์ อยากเรียนรู้อะไร จะซัพพอร์ตเต็มที่ แต่ลูกพี่เขาก็เรียนเก่งนะ


สัมภาษณ์นี้เป็นสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แต่ฟังจากน้ำเสียงปลายสาย ก็รู้ได้ว่าประโยคสุดท้ายของคุณมี่นั้น เธอพูดพร้อมรอยยิ้มภาคภูมิ

-สัมภาษณ์โดย โน้ต พงษ์สรวง

 

โชว์ของ Landmeé ที่  ELLE Fashion Week 2017 คือวันอาทิตย์ ที่ 3 กันยายน เวลา 17.00 น.



Comments


bottom of page