พี่ไฝ: “พวกเขามาแบบ ผมอยากสร้างอะไรสักอย่างให้กับชุมชนนี้! พวกเขาก็เข้ามาทำเลย แต่พอทำเสร็จแล้วยังไงต่อ? มันก็พังสิเพราะมันไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทุกอย่างต้องมีการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ ต้องรีเสิร์ช เก็บข้อมูล ต้องรู้ว่าคนในนี้ต้องการอะไรจริงๆ”
เรื่อง: ชีวิน กิตติ์ชรินดา @gun_b61
ภาพ: พีรวัชร์ ปุจฉาธรรม @pepierubype
แม้จะสามปีผ่านไปแล้ว แต่ตอนนี้โฆษณาสนามฟุตบอลหักมุมของ AP ก็ยังแว่วให้ไวรัลอยู่บ้าง ผลงานจากเอเจนซี่ CJ Worx ชิ้นนี้ได้รับรางวัลใหญ่ที่เทศกาลโฆษณาเมืองคานส์ และประดับประดาด้วยคำชื่นชมจากสื่อใหญ่ทั่วโลก รวมถึงนิตยสาร TIME ที่ยกให้สนามนี้เป็นหนึ่งใน 25 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของปี 2016
หรือเมื่อต้นปี กลุ่มดีไซน์เนอร์ Eyedropper Fill ก็เข้าไปทำโครงการสลัมคลองเตย มีทั้ง MV และภาพถ่ายสวยงามมาแสดงเป็นนิทรรศการใน Bangkok Design Week เป็นที่ชื่นชมปรบมือของคนอย่างเราๆ ท่านๆ
คนอย่างเราๆ ท่านๆ --ชนชั้นกลางที่ล้วนมีภาพสลัมคลองเตยว่าสกปรก ยากจน ติดยา น่ากลัวและน่าสงสาร แม้เราจะที่มีเจตนาดีว่าอยากให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เรา...บ้างก็ไม่กล้าเข้าไป บ้างก็ไม่มีเวลา ดังนั้น เมื่อมีคนเข้าไปทำแทนเรา ก็ทำให้เราได้รู้สึกช่วยอีกแรงด้วยการชม การแชร์ การกดไลค์เป็นกำลังใจให้ และลึกๆ แล้ว เราๆ ท่านๆ ชนชั้นกลางต่างหลงใหลความขื่นขมอันงดงามของภาพความจน ส่วนหนึ่งเพราะมันทำให้เรารู้สึกโชคดีที่ชีวิตเราไม่ลำบากเหมือนเขา
อีกหนึ่งโครงการเพื่อชาวคลองเตย จากเอเจนซี่โฆษณา BBDO ที่สร้างนวัตกรรมมอเตอร์ไซค์ไล่ยุง จนได้รางวัล Grande for Humanity จากเทศกาล ADFEST 2016
เขตคลองเตยและเขตสุขุมวิทถูกกั้นด้วยถนนพระรามสี่ ระยะทางของความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างรวยกับจนห่างกันแค่ไม่กี่กิโลเมตร ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้มีชุมชนทั้งหมด 44 ชุมชนแต่ละชุมชนจะมีชื่อของตัวเอง เช่นชุมชน 70 ไร่ ชุมชนล็อค 1-2-3 ชุมชนล็อค 4-5-6 เป็นต้น ด้วยปัญหามากมายที่เราเห็นจากสื่อ คลองเตยจึงคล้ายเป็นหนึ่งสนามประลองไอเดียของเหล่าครีเอทีฟทั้งหลายที่อยากจะเข้าไปพัฒนาอะไรสักอย่างให้กับพวกคนในชุมชน...แล้วก็จากไป
แต่การช่วยเหลือแบบไหนที่ชุมชนต้องการจริงๆ?
ยังไม่ต้องคิดหาคำตอบ เพราะถ้าจะช่วยตอนนี้คุณก็ต้องคำนวนเวลาหน่อย เนื่องจากสิ้นปีนี้สลัมที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มากว่า 40 ปีแห่งนี้จะโดนปิดถาวร เพราะการท่าเรือจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่อันกว้างใหญ่ของคลองเตยให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แล้วหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้คนกว่า 13,000 ครัวเรือน ปิดตำนานสลัมคลองเตย
บ่ายโมงวันอังคาร ผมกำลังเดินอยู่ในชุมชนที่ชื่อ "ชุมชน 70 ไร่" นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่ผมมาที่นี่ ภาพวิถีชีวิตชุมชนคลองเตยช่างแตกต่างห่างไกลจากที่สิ่งที่ผมเคยเจอมาในชีวิตประจำวันนัก เช่นผู้ใหญ่ตะโกนคำหยาบแซวกันข้ามหัวเด็กตัวเล็กๆ จึงไม่แปลกใจถ้าเด็กจะโตขึ้นกับคำหมวดนี้โดยไม่คิดว่ามันหยาบคายอะไร
วันนี้ผมนัดกับพี่ไฝ-สัญชัย ยำสัน หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและชุมชนมูลนิธิดวงประทีปคลองเตย ที่จะมาให้คำตอบและข้อเสนอแนะกับคำถามที่ผมสงสัยและอยากรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนในชุมชนที่ดีและให้ยั่งยืนคืออะไร?
เมื่อนั่งลงตรงข้ามพี่ไฝในห้องทำงานเล็กๆ ชั้นสี่มูลนิธิดวงประทีป พี่ไฝถามผม “คุณคิดยังไงกับคลองเตย?”
ผมตอบไม่ถูก ผมเพิ่งรู้จักเขาเมื่อห้านาทีที่แล้ว กลัวว่าเดี๋ยวจะพูดอะไรไม่เข้าหูตั้งแต่นาทีแรก แล้วตอนเดินขึ้นมาผมเหลือบเห็นรองเท้าเด็กนักเรียนวางเรียงรายกันอยู่หน้าห้องข้างๆ ผมพยายามนึกคำตอบที่ซอฟต์ที่สุดเพราะกลัวว่าเด็กในชุมชนจะได้ยินเข้า “ตอบได้เลย เอาแบบที่คุณคิดไม่ต้องกังวล” พี่ไฝยิ้ม เหมือนรู้ความรู้สึกอึดอัดของผม
ผมบอกพี่ไฝ ว่าผมคิดว่าชุมชนเต็มไปด้วยความแออัดของผู้คน ทั้งขยะ ยาเสพติด โรคติดต่อ มิจฉาชีพ อัตราการเกิดสูงกว่าอัตราการตาย ทุกอย่างเต็มไปด้วยปัญหา ตอนที่ผมเข้าไปคนเดียวครั้งแรก หลุดจากถนนใหญ่เข้าไปนิดเดียวก็รู้สึกว่ามันน่ากลัวมากแล้ว ทั้งกลัวกลัวโดนปล้น กลัวโดนทำร้าย กลัวโดนยัดยาเสพติด
พี่ไฝขำเหมือนรู้ว่าผมจะตอบแบบนี้ แล้วบอกว่า "ใครๆ ก็ตอบแบบนี้กันทุกคน แต่เอาจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมดนะ ที่นี่มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีเหมือนกับทุกที่บนโลกแหละ"
ไฝ-สัญชัย ยำสัน
หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและชุมชนมูลนิธิดวงประทีปคลองเตย
"พอคนภายนอกได้ยินปัญหาพวกนี้พวกเขาก็อยากเข้ามาช่วยเหลือพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นของใช้ต่างๆ เงินสนับสนุน โครงการจิตอาสา หรือปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคนที่เข้ามาก็มีหลายแบบ ทั้งคนที่เข้าใจพวกเรารู้ว่าพวกเราต้องการอะไร และก็คนที่ไม่เข้าใจพวกเรา"
"แล้วอะไรคือสิ่งที่คนในชุมชนต้องการมากที่สุดครับ?" ผมถาม
"ความเข้าใจ" พี่ไฝตอบ "พอเข้าใจพวกเราแล้วพวกเขาก็จะรู้เองว่าเราต้องการอะไร ทุกการช่วยเหลือเป็นเรื่องที่ดีหมดแหละ แต่ถ้าช่วยเหลืออย่างถูกต้องและให้คนในชุมชนได้ประโยชน์และตรงกับสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็จะดีกว่า อย่าลืมว่าเรามีชุมชนมากถึง 44 ชุมชน มันจะดีมากๆ ถ้าเขารู้ก่อนว่าแต่ละชุมชนความเป็นอยู่ยังไง แตกต่างกันยังไง ของที่พวกเขาจะนำมาให้จะได้มีประโยชน์มากที่สุดแก่คนในชุมชน
เงินอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพราะเขารู้ว่าจะเอาไปชื้ออะไรใช้อะไร แต่มันก็อาจเกิดผลเสียได้ถ้าให้คนที่ใช้ไม่เป็น ส่วนของใช้พอมันซ้ำมากๆ หรือไม่เหมาะกับพื้นที่ของเขามันก็จะกลายเป็นขยะ แล้วพื้นที่ต่างๆ ถ้าไม่มีคนดูแลสุดท้ายมันก็จะพังไปเอง นี่แหละคือปัญหา"
พี่ไฝพาผมออกเดินสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนคลองเตย โดยเริ่มจากมูลนิธิดวงประทีปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยเคหะพัฒนา ผ่านชุมชน 70 ไร่ ทะลุเข้าชุมชนล็อค 1-2-3 แล้วก็ต่อด้วย 4-5-6
ภาพที่เห็นไม่ต่างจากที่คิด--บ้านซอมซ่อหลังเล็กหลังคาเตี้ย ที่ห้องนอน ห้องครัว ห้องกินข้าวถูกมัดรวมในห้องเดียวกัน แต่บางหลังก็มีการแบ่งห้องเป็นระบบระเบียบ ต่อจากนั้นก็เดินผ่านสนามฟุตบอลกลางที่ตอนนี้เป็นที่จอดรถทหารที่เข้ามาสร้างบ้านและซ่อมแซมตามโครงการของรัฐบาล เดินซ่อกแซ่กเลี้ยวซ้ายขวาไม่รู้กี่รอบ รู้ตัวอีกทีก็ออกมาเจอถนนหลักอีกครั้งเหมือนได้ออกมาจากเขาวงกต
ถาม: แต่ละชุมชนได้เงินมาพัฒนาชุมชนของตัวเองยังไงครับ ?
พี่ไฝ: ก็จะได้เงินจากรัฐบาลอยู่แล้ว ในทุกๆ เดือนเขาจะมีงบประมาณให้ชุมชนละหนึ่งหมื่นบาทให้ไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ในคลองเตยมีทั้งหมด 44 ชุมชน นอกจากนั้นก็จะเป็นการไปหารายได้เข้าชุมชนจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่ที่ได้แน่ๆ คือหนึ่งหมื่นบาท
ถาม: แล้วพอไหมครับหนึ่งหมื่นบาท?
พี่ไฝ: อย่าลืมว่าจำนวนคนในแต่ละชุมชนไม่เท่ากันนะ เช่นชุมชน 70 ไร่มี 600 หลังคาเรือน ชุมชนล็อค 1-2-3 มี 1,800 หลังคาเรือน เห็นมั้ยว่ามันต่างกันถึง 3 เท่า แต่ได้เงินเท่ากัน
ถาม: แล้วจะทำยังไงให้ชุมชนได้เงินมากขึ้นครับ ?
พี่ไฝ: ถ้าเป็นเรื่องของรัฐบาล พี่อยากให้เขาจัดสรรเงินงบประมาณดีๆ ดูว่าชุมชนไหนควรได้เงินเท่าไหร่คนเยอะกว่าได้มากกว่า น้อยกว่าได้น้อยกว่า อย่าลืมว่าคนเยอะกว่าปัญหาเยอะกว่า ที่สำคัญต้องดูความเหมาะสมของแต่ละชุมชนด้วย เพราะที่ให้เงินไม่เท่ากันนี่มันเป็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกันนะ ถ้าได้เงินจากรัฐแล้วมันยังไม่พอ คนในชุมชนไปหาช่องทางกันเองในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน หรือสุดท้ายก็ต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยเหลือ
พี่ไฝพาผมมาดูสนามเด็กเล่นหน้าศาลเจ้าพ่อพระประแดงในชุมชน 70 ไร่ พี่ไฝเล่าตัวอย่างของโครงการที่เจตนาดีแต่ไม่ค่อยเข้าใจบริบทของชุมชนว่า
“โครงการนี้เริ่มมาจากบริษัทสีเข้ามาทำ พี่ขอไม่พูดชื่อนะ เขาเข้ามาด้วยเจตนาที่ดีที่จะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ พวกเขาเข้ามาหารือแล้วก็เข้ามาทำจนเสร็จ แต่พี่ว่าความเหมาะสมความสอดคล้องมันยังไม่ค่อยเหมาะกับบริบทของชุมชนตรงนี้สักเท่าไหร่ เพราะว่าของเล่นพวกนี้มันคือของเก่าทั้งหมด พวกเขาเพียงแค่เข้ามาทาสี ซึ่งตอนแรกๆ เด็กมาเล่นเยอะเลยเพราะมันใหม่สำหรับพวกเขา แต่สุดท้ายของเล่นบางอย่างเราก็ต้องถอดออกเพื่อความปลอดภัย ถ้าจะให้ดีพี่คิดว่าเอาของเล่นใหม่มาลงให้มันเยอะขึ้น ดูเรื่องความปลอดภัย ทำรั้วให้สูงกั้นหมามาขี้ เปิดปิดเป็นเวลา”
ถาม: แล้วเด็กพวกนี้เขาอยากได้อะไรครับ ?
พี่ไฝ: เด็กพวกนี้เขามีสิ่งของพอแล้วแหละ แต่สิ่งที่ต้องการคือการสร้างจิตสำนึกและเรื่องของแรงบันดาลใจ
เราเดินเลี้ยวไปตามถนนหลักผ่านโรงเรียนอนุบาลมูลนิธิดวงประทีปและโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ผมมองเข้าไปข้างในแล้วหันไปถามพี่ไฝว่าที่นี่คนเรียนเยอะไหม พี่ไฝส่ายหัวแล้วบอกว่า “ส่วนใหญ่มีแต่คนนอกทั้งนั้นแหละที่เข้ามาเรียน คนในชุมชนเขาไม่มีเวลาเรียนกันหรอก แค่เวลาทำงานพวกเขาก็เหนื่อยพอแล้ว”
เราเดินเข้าไปลึกเรื่อยๆ ส่วนตัวผมรู้สึกอุ่นใจขึ้นเมื่อมากับพี่ไฝ พี่เขาคงเป็นคนกว้างขวางในชุมชนนี้มานาน เพราะทุกครั้งที่ผมเดินผ่านชาวบ้านก็จะยิ้มและทักทายกับพี่ไฝเสมอ เส้นทางในสลัมคลองเตยเดินลำบากกว่าที่ผมคิด เพราะระหว่างเดินเท้าต้องคอยระวังหมาแมวและขี้ของมัน ส่วนหัวก็ต้องระวังโขกหลังคาบ้าน ดูเหมือนยิ่งเข้ามาลึกก็ยิ่งกลับออกไปยาก ถ้าไม่มีคนพาเข้ามาผมคงหลงทางอย่างแน่นอนเพราะทุกพื้นที่หน้าตาเหมือนกันไปหมด
แล้วผมกับพี่ไฝก็เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าสนามฟุตบอลรางวัลเมืองคานส์
โฆษณา The Unusual Football Field ของ AP Thailand โดยเอเจนซี่โฆษณา CJ Worx คว้ารางวัล Grand Prix ที่เมืองคานส์และติดลิสต์ 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 จากนิตยสาร TIME อีกด้วย
สนามฟุตบอลรูปทรงประหลาดนี้มีอยู่สองสนาม สนามแรกตั้งอยู่ในบริเวณแฟลตคลองเตย ส่วนสนามตัว L ที่ผมอยู่นี้ อยู่ที่ชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 โดยที่มาของโครงการของ AP นี้ เริ่มต้นจากการหาพื้นที่ต่างๆ ในประเทศแล้วพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุด ด้วยความแออัดของชุมชนคลองเตยนี่จึงเป็นคำตอบให้ทีมดีไซน์ของ AP เข้าไปพัฒนาพื้นที่ให้กับชาวชุมชน
แต่พอผ่านไป 3 ปี...อันนี้เป็นภาพปัจจุบัน
ตอนที่ผมไปถึงเป็นเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง ตอนนั้นไม่มีใครเตะบอลอยู่ เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งหยุดคุยกันแล้วมองมาที่ผม แล้วพอเห็นผมมากับพี่ไฝ พวกเขาก็เดินเข้ามาทักทายพี่ไฝ แล้วถามผมว่า “พี่จะมาซ่อมสนามเหรอ”
สภาพปัจจุบันของสนามออกจะเสื่อมโทรมเมื่อเทียบกับภาพที่เห็นในโฆษณา เส้นสนามเลือน พื้นแตก น้ำท่วมขังเป็นหลุมเป็นบ่อ มันยังสามารถใช้เตะบอลได้อยู่แต่ก็แค่ครึ่งสนาม เพราะเกือบครึ่งของพื้นที่สนามรูปตัว L นี้ปัจจุบันกลายเป็นที่วางของ เช่นตั้งเต็นท์คลุมเล้าไก่และถังน้ำแข็ง สนามเต็มด้วยขี้หมา สนามนี้จะทรุดโทรมกว่าอีกสนามที่ชุมชนแฟลตคลองเตย ซึ่งพี่ไฝเล่าว่าสาเหตุที่สนามตรงแฟลตคลองเตยยังสภาพดีอยู่เป็นเพราะการจัดการที่ดีกว่าของผู้คนในชุมชนนั้น
“จริงๆ คนในชุมชนอยากได้ สนามฟุตบอลนี้เด็กๆ ก็ชอบ” พี่ไฝบอก “แต่สิ่งที่มันขาดไปก็คือคนดูแลรักษาสนามอันนี้ นี่ปัจจัยสำคัญเลย คือไม่ได้จัดกระบวนการต่อเอาไว้ว่าใครจะมาดูแล หน้าที่จะตกเป็นของใครและเรื่องคนใช้สนามก็สำคัญ เรื่องเงินก็เป็นสิ่งที่ขาด ทุกอย่างก็ต้องใช้เงินดูแลรักษา อย่างถ้าสนามนี้ได้ไปอยู่ในชุมชนที่มีการบริหารจัดการดีมันก็ไม่พังแบบนี้หรอก พี่ว่ามันก็ยังอยู่ แต่ถ้าจะให้คนในชุมชนดูแล เราก็ต้องมาดูว่าได้มีการไปพูดคุยกับเขามั้ย เวลาจะประชุมกัน ทีมสร้างทีมกรรมการชุมชนควรจะเอาชาวบ้านแถวนั้นเข้าไปนั่งฟังด้วย ต้องเข้าไปร่วมประชุมกันด้วยเรียกมาคุยกันว่าจะดูแลกันแบบไหน แล้วก็มาติดตามกันต่อเนื่อง เช่นสองเดือนกลับมาที กลับมามาทำมาติดตาม"
ถาม: แล้วตัวเจ้าของโครงการเขาเข้ามาดูบ้างไหมครับ ?
พี่ไฝ: ช่วงแรกๆ AP เขาส่งคนเข้ามาดูนะ มาซ่อมพื้นที่หลังจากสร้าง เพราะแต่ก่อนตรงนี้มันเป็นกองขยะเป็นน้ำท่วมขัง พอพวกเขาทำสนามฟุตบอลได้ไม่นาน พื้นมันก็แตกก็ทรุดจนน้ำมันท่วม พวกเขาก็ส่งคนเข้ามาแก้มาปรับสนามใหม่ อันนี้พี่เห็นอยู่ว่าพวกเขามาทำจริงๆ เพราะโครงสร้างเดิมตรงนี้ไม่เหมือนของแฟลตคลองเตย คือที่ตรงนี้มันเป็นน้ำมาก่อน แต่พอปัจจุบันมันกลับมาพังอีกพี่ก็ไม่ได้ตามว่าใครมาดูแลต่อ หรือพวกเขาส่งคนมาไหม
ถาม: แล้วทำไมคนในชุมชนถึงดูแลไม่ไหว ?
พี่ไฝ: แค่เขาทำงานก็เหนื่อยแล้ว คนพวกนี้เขาทำงานกันอาทิตย์ละ 6 วัน ภาระส่วนตัวก็เยอะแล้ว จะให้มาดูแลพื้นที่สาธารณะต่อก็ไม่ไหว ยิ่งเรื่องเงินไม่ต้องพูดถึงเลย ขนาดเรียนยังต้องจ้างกันเรียน โรงเรียนฝึกอาชีพในคลองเตยตอนนี้มีแต่คนนอกเขาเข้ามาเรียนมาหาความรู้ แต่ถ้ามีเงินจากภายนอกบวกกับจิตสำนึกของคนในชุมชนพี่ว่ามันก็ดูแลกันได้
จากสนามฟุตบอล พี่ไฝพาผมลัดเลาะตามซอยต่างๆ ในชุมชนล็อค 1-2-3 เพื่อไปดู "โครงการชานสว่าง" ที่ผมตามหา โครงการนี้สร้างเมื่อปี 2555 (7 ปีที่แล้ว) เป็นโครงการที่สถาปนิกไทยจากกลุ่ม Openspace ทำงานร่วมกับ TYIN Tegnestue Architects กลุ่มสถาปนิกจากประเทศนอร์เวย์ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นตามที่เด็กๆ ในพื้นที่ต้องการ โดยใช้โครงสร้างเป็นเหล็กและไม้
โครงการชานสว่าง (ปี 2012) ภาพจาก TCDC
“โครงการนี้นานมากแล้วล่ะ และตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว” พี่ไฝอธิบาย “คนเข้ามาถามถึงโครงการนี้บ่อยนะ อยากมาดูอยากมาเห็น พี่ก็พาพวกเขาไปดูเหมือนที่พาเราไปดูนี่ล่ะ”
ตอนที่ผมเข้ามาที่นี่เองคนเดียวและเห็นมันครั้งแรกผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาถึงสิ่งที่ตามหาแล้ว ตอนนั้นผมคิดว่ามันคงจะเสื่อมโทรมกว่ารูปแน่ๆ แต่ก็ไม่คิดว่าสภาพของมันจะเปลี่ยนไปถึงขนาดนี้ ปัจจุบันชาวบ้านทำประตูมาปิดไว้กันหมาเข้าไปขี้และคนเข้าไปเล่นยา สนามเด็กเล่นกลายเป็นแปลงปลูกผักของชุมชุน โครงสร้างเหล็กด้านบนผุพัง ไอ้ที่เคยเป็นแผงไม้หลายส่วนก็พังและชาวบ้านนำสังกะสีมากั้นแทน ส่วนไม้ที่โผล่ออกมาก็กลายเป็นราวตากผ้า
คุณครูสมหมาย มาลัย หรือครูเป๋า หัวหน้าเด็กศูนย์ปฐมวัยชุมชมล็อก 1-2-3 เคยอาศัยอยู่บริเวณนี้แต่ปัจจุบันย้ายออกจากสลัมคลองเตยไปแล้ว เล่าว่าเมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้มีทั้งขยะ มีทั้งขี้หมา จนองค์กรนี้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น
“แต่โครงการนี้มันมีนานแล้วมันก็พังไปตามกาลเวลา" ครูเป๋าเล่า "อีกอย่างคนกลุ่มน้อยนะที่รู้ว่ามีพื้นที่ตรงนี้อยู่โครงการนี้ ไม่ได้รู้ทั่วทั้งชุมชน ตอนสร้างใหม่ๆ มันก็ดี มันก็สวยงาม แต่มันไม่มีรั้วกั้น ไม่มีระยะเวลาเปิดปิด เด็กเข้าไปเล่น คนเข้าไปเล่น หมาเข้าไปขี้ ไม่มีคนทำความสะอาด เด็กเขาเล่นแบบไม่ได้รักษา เล่นแบบรุนแรงด้วย ส่วนชั้นบนก็จะมีพวกวัยรุ่นไปดมกาว เสพยากันจนกลายเป็นแหล่งมั่วสุม พอนานเข้าพวกนี้มันก็พังลงมา พอพื้นที่ของโครงการชานสว่างมันพังมันทรุดโทรม เราก็ต้องมาปรับปรุงภูมิทัศน์กันใหม่ ทางมูลนิธิดวงประทีปเขาไปได้งบประมาณมาจากโครงการปลูกผักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พวกพี่กับเจ้าหน้าที่คุณครูของศูนย์เด็กก็เลยช่วยกันปรับปรุง ทำความสะอาดจัดการขยะ จัดการขี้หมาแล้วไอ้ไม้ที่เป็นชั้นเราก็เลาะออก”
ถาม: แล้วจะทำยังไงให้โครงการพวกนี้มันยั่งยืนครับ ?
พี่ไฝ: คำตอบคือ เข้าใจพวกเราก่อนแล้วมาคุยกัน ที่สำคัญคุยกับคนในชุมชนเยอะๆ รีเสิร์ช ศึกษาค้นคว้าว่าอะไรคือสิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุด ทำความเข้าใจถึงกระบวนการของมัน ก่อนสร้าง ตอนสร้าง หลังสร้าง ไม่ใช่ฉันอยากให้ฉันก็ให้ อะไรพวกนี้แป๊บเดียวมันก็พัง แป๊บเดียวก็กลายเป็นขยะ ที่สำคัญต้องดูถึงระยะยาวด้วยว่ามันจะยั่งยืนแค่ไหน ความคงทนความแข็งแรง แล้วหลังจากนั้นล่ะมันจะเป็นยังไงต่อ เจ้าของโครงการต้องเข้ามาดูแลต่อไหม ถ้าไม่จะมีมาตรการยังไง จะสนับสนุนเงินหรืออะไร และถ้าจะยกให้ชุมชนดูแลต่อ ต้องดูว่าพวกเขามีศักยภาพมากพอไหมที่จะดูแลกันเอง ถ้าทำตามนี้ได้มันก็น่าจะยั่งยืนได้
อย่างพี่ทำโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน พี่ทำสนามให้เด็กเล่น ก่อนทำพี่มีแบบสำรวจไปถามคนที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นว่าต้องการอะไร อยากเห็นอะไร ตรงนี้เด็กๆ อยากให้มีอะไรบ้าง แล้วผู้ปกครองคิดยังไง เก็บข้อมูลมาสัก 200 ชุด แล้วก็มารวบรวมพอโครงการผ่านก็ลงมือทำ เราจะไม่ทำแบบฉาบฉวยเราต้องให้เด็กให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แล้วสนามมันก็อยู่ได้เพราะเด็กมันทำเอง มันรักในสิ่งที่มันทำ เขาก็จะดูแลของเขาไป
สรุปคือดูเหมือนการช่วยเหลือเป็นเงินผ่านหน่วยงานที่เข้าใจและเกี่ยวข้องดูจะเป็นหนทางการช่วยเหลือที่ดีที่สุด แต่พอเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ มันก็มักจะมีปัญหาเรื่องความไม่น่าไว้ใจเสมอ แต่พอให้เป็นสิ่งของ การจัดการข้าวของก็เป็นปัญหาอีกเช่นกัน ผมนึกภาพข่าวตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ที่กองเสื้อผ้าบริจาคเพนินสูงอัดเพดาน เสื้อผ้าที่ล้วนมาจากเจตนาดีและน้ำใจ สุดท้ายกลายเป็นงานที่จัดการยากแล้วก็กลายเป็นขยะ
พี่ไฝพาผมเดินย้อนเข้าไปในชุมชน 70 ไร่เพื่อไปเจอกับพี่ปริศนา ไกรทอง ชาวบ้านในชุมชนที่ประกอบอาชีพช่างตัดเสื้อและเป็นอาสาสมัคร NGO กับโครงการ Local Alike กับพี่ไฝ และคนจากชุมชนอื่นๆ โครงการ Local Alike คือโครงการที่พาคนเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างจริงจังและไม่ตื้นเขิน
ที่ต้องมีโครงการนี้ก็เพราะอย่างที่พี่ไฝเล่าไปตอนแรก ว่าเนื่องด้วยเงินจากรัฐบาลมันไม่เพียงพอต่อการพัฒนาชุมชน เพราะฉะนั้นตัวชุมชนเองก็ต้องการรายได้เข้ามาช่วยเพื่อให้อยู่รอด พวกคนในชุมชนเลยต้องทำอะไรสักอย่าง เช่นมาเป็นอาสาสมัครโครงการแบบนี้เพื่อนำเงินเข้าไปสมทบในชุมชน
ปริศนา ไกรทอง
ถาม: อยากทราบว่าพี่คิดยังไงกับคนที่เข้ามาช่วยเหลือแล้วจากไป ?
พี่ปริศนา: ตอนแรกมันก็ดี แต่พอโครงการจบเราก็ไม่รู้จะยังไงต่อ จะมีคนมาดูแลต่อไหม จะมีเงินให้หรือเปล่า บางโครงการก็มีการกลับมาดู 3-4 ครั้ง แต่เนื่องจากเงินพัฒนาชุมชนมันน้อยถ้าจะจ้างคนดูแลก็ไม่ไหว สมมุติว่าเขาเข้ามาทำสนามฟุตบอลหรือสนามเด็กเล่นมันต้องมีคนดูแลมันถึงจะไม่พังไม่เก่าใช่ไหมล่ะ ซึ่งถ้าเขาไม่ได้ให้เงินมันก็ต้องเอาเงินของชุมชนที่มีอยู่ออกมาใช้ในส่วนของการดูแลตรงนี้
แต่ถ้าถามว่ามันดีไหมที่มีคนเข้ามาทำอะไรให้กับชุมชน ใช่ มันดีแหละ ดีมากๆ เพราะถ้าไม่มีพวกเขาเราก็ไม่มีของใช้ ไม่มีสนามเด็กเล่นพวกนี้ เงินพัฒนาชุมชนมันก็น้อยอยู่แล้วจะทำกันเองก็ไม่ไหว พอมีคนมาลงเงินลงแรงให้มันก็ดี แต่ถ้าสุดท้ายมันไม่เวิร์คหรือมันพังมัน ก็จะกลายเป็นภาระของชุมชน แต่เราต้องช่วยตัวเองกันบ้างแหละ จะไปพึ่งเขาตลอดก็ไม่ได้
ถาม: แล้วอย่างนี้มันเป็นภาระไหมครับ
พี่ปริศนา: บางอย่างไม่เป็นภาระนะ เพราะพอมันพังมันก็จบ แต่บางอย่างมันมีประโยชน์ของมันเหมือนกันเพียงแค่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแล อย่างพื้นที่ตรงนั้น (ลานนงนุช) แต่ก่อนเป็นภาระของชุมชนอย่างมากเพราะทุกคนจะมาทิ้งขยะกัน แต่พอชาวบ้านเรียกร้องอยากให้จัดการตรงนั้นเราก็ไปคุยกับกรรมการชุมชุน สุดท้ายมันก็เกิดขึ้น ที่ตรงนั้นถูกปรับปรุง สวยนะแต่ไม่รู้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าก่อนหน้านี้เราไม่มีมันก็ไม่เป็นภาระ
ลาพี่ปริศนาแล้วเดินออกจากชุมชนล็อค 1-2-3 พี่ไฝชวนผมกินข้าวในคลองเตยก่อนจะขอตัวกลับไปทำงานต่อ ตอนกินข้าวเราคุยกันถึงทั้งปัญหาในชุมชนคลองเตย พี่ไฝเป็นคนที่น่ารักและสุภาพมากจริงๆ สิ่งที่ได้จากที่นี่คือผมเข้าใจคลองเตยมากขึ้น และได้ข้อคิดกับตัวเองว่าถ้าเราจะทำอะไรให้คนอื่น เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่าจะทำอย่างจริงจังและจริงใจได้นานแค่ไหน หรือต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้มันเป็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน
ก่อนกลับผมถามพี่ไฝว่าโครงการ Smart Community ของคลองเตยนี่ยังไงครับมันจริงไหมพี่?
พี่ไฝตอบว่า “พี่ได้ยินแบบนี้มาตั้งแต่เด็กว่าเขาจะมาทวงที่คืน ได้ยินมาหลายครั้งเลยนะแต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริงๆ สักที แต่พี่พูดเลยว่าไม่ใช่กับครั้งนี้ ครั้งนี้ของจริง! ”
Smart Community คือโครงการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตย (ชุมชนคลองเตย) ให้กลายเป็นศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย ซึ่งในปีหน้า (2020) ทางการท่าเรือจะคัดเลือกผู้มีสิทธิ์อยู่อาศัยเดิมที่จะได้อยู่ห้องชุดขนาดใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยเดิม หรือจะถูกย้ายและมีที่ดินให้บริเวณหนองจอก-มีนบุรี และสุดท้ายคือรับเงินสด ซึ่งแผนการก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2012 นี้ จะส่งผลให้ในอนาคตจะไม่มีชุมชนคลองเตยอีกต่อไปแล้ว
ปิดตำนานสลัมคลองเตย
Commenti