เป็นเวลาสิบปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ของเราชาวไทย ทรงใช้ชีวิตในโรงเรียน เอกอล นูเวล เดอ ลา สวิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ชื่อโรงเรียนนี้แปลว่า “โรงเรียนแห่งใหม่สำหรับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ส่วนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส” ทั้งสองพระองค์ศึกษาระดับประถมและมัธยมที่โรงเรียนนี้ ระหว่างปี ค.ศ.1935-1945 และขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้นี่เอง ที่รัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อครั้งพระชนมายุ 8 พรรษา โรงเรียนเอกอล นูเวลจึงเป็นสถานที่ๆ มีบทบาทสำคัญในชีวิตช่วงหนึ่งของทั้งสองพระองค์
ปีนี้โรงเรียนมีอายุ 111 ปี เปิดสอนทั้งหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสและนานาชาติ มีนักเรียน 600 คน เป็นเด็กประจำ 50 คน และมีเด็กไทยเรียนที่นี่ 6 คน 1 ในนั้นเป็นนักเรียนประจำ
โรงเรียนเอกอล นูเวลมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเมืองไทยเสมอมา เช่นช่วยจัดโครงการพัฒนาคุณภาพการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง มีคุณครูมาช่วยสอนที่โรงเรียนไกลกังวลที่หัวหิน คัดเลือกคุณครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสจากทั่วประเทศจำนวนหนึ่ง ไปเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการสอนที่โลซานน์ และมีทุนให้นักเรียนที่สอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศสได้คะแนนสูง ไปเข้าค่ายภาษาที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมด้วย
“คุณคงรู้จักกษัตริย์ของคุณดีกว่าผม และคงทราบว่าพระองค์ท่านมีความสนใจในภาษาฝรั่งเศสมาก” เซบาสเตียน โทรยง จากเอกอล นูเวลกล่าว “[เมื่อหลายปีมาแล้ว] พระองค์มีพระราชดำริพัฒนาการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หน่วยงานของไทยได้ติดต่อไปหลายที่ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ เขาเลยมาติดต่อที่เอกอล นูเวล ซึ่งเราก็มีสายสัมพันธ์อันดีงามกับราชวงศ์ไทย เราจึงยินดีอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือ”
Third World: สองปีก่อนผมไปเที่ยวโลซานน์ และได้ไปดูโรงเรียนของคุณด้วย ซึ่งน่ารักมาก และได้เห็นตึกหน้าอันโด่งดังที่เคยเห็นในภาพของในหลวง (รัชกาลที่ 9) เมื่อยังพระเยาว์ด้วย เซบาสเตียน โทรยง: คุณคงหมายถึงตึกบริเวณลานหน้าโรงเรียนที่เป็นส่วนของนักเรียนประจำ ไม่แน่ใจว่าคุณได้เห็นตึกเล็กด้านหลังหรือเปล่า ตึกนั้นมีแผ่นจารึกพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9 ด้วยนะครับ เป็นตึกธุรการ ท่านทรงบริจาคโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เมื่อสิบปีที่แล้ว
มีคนไทยไปเดินด้อมๆ มองๆ ดูโรงเรียนเหมือนผมบ่อยไหมครับ มีคนไทยมาเยอะครับ แต่ตอนนี้พวกเขาจะติดต่อเราล่วงหน้าก่อน และเราก็จะจัดเป็นกรุ๊ปเยี่ยมชม (ปีที่ผ่านมา โรงเรียนออกกฏไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าโดยมิได้รับอนุญาต ห้ามถ่ายภาพเซลฟี่กับสิ่งปลูกสร้างและตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ และห้ามถ่ายรูปนักเรียนโดยเด็ดขาด)
ชีวิตในโรงเรียนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เป็นโรงเรียนเอกชน แต่เป็นระบบไม่หวังผลกำไร เงินค่าเทอมจากผู้ปกครองทั้งหมด จะถูกนำมาลงทุนกับโรงเรียนเท่านั้น ไม่มีนายทุนเจ้าของโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นของสมาคมศิษย์เก่า
หมายความว่าเรียนฟรีเหรอ? ไม่ใช่ ไม่ฟรี ที่จริงต้องจ่ายเยอะเลยล่ะ แต่ว่าเราไม่มีนายทุนมาเก็งกำไรจากค่าเทอม
สวิตเซอร์แลนด์มีโรงเรียนระบบนี้กี่แห่ง ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสก็มีของเราที่เดียว
แสดงว่าต้องมีสมาคมศิษย์เก่าที่แข็งแรงมาก ใช่ครับ แม้แต่ตัวตึกและที่ดินก็เป็นของสมาคมศิษย์เก่า ต่างกับโรงเรียนส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีเรื่องผลประกอบการ แต่ที่นี่เราไม่หวังผลกำไร และนี่คือสาเหตุที่เราสามารถลงทุนส่งเสริมครูและนักเรียนในเมืองไทยได้
มีศิษย์เก่าชาวไทยเยอะไหมครับ แต่ก่อนเยอะกว่านี้ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทยเท่าไหร่ อาจเพราะเราไม่ได้โปรโมทที่นั่นมาก แต่ตอนนี้เราก็เริ่มมีผู้ปกครองจากเมืองไทยติดต่อมามากขึ้น
ตอนนี้มีนักเรียนไทยกี่คนครับ มีทั้งหมดหกคน แต่ถ้าเป็นนักเรียนประจำ ปีนี้เรามีคนเดียว เธอเพิ่งมาถึงกับผู้ปกครองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอเรียนที่ ISB (International School of Bangkok) มาก่อน พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก และผู้ปกครองเธอส่งมาเรียนที่เอกอล นูเวลเพราะอยากให้เธอได้เรียนภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้เธอได้มีความท้าทายใหม่ๆ และตามที่ผมเข้าใจ เพื่อเป็นการเดินตามรอยเท้าในหลวงด้วย
ผมเคยอ่านบทความประเภทสิบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก แทบทุกบทความเป็นโรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์หมดเลย นักร้องนำจากวง The Strokes ที่ผมชอบมาก ก็เรียนสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน ไม่ทราบว่าที่โรงเรียนเอกอล นูเวลมีศิษย์เก่าเป็นร็อคสตาร์บ้างไหมครับ มีสิครับ เรามีคนดังๆ จบจากที่นี่หลายคนเลยล่ะ แต่ที่สวิสเราไม่ค่อยชอบเปิดเผยชื่อกันเท่าไหร่ แต่มีชื่อหนึ่งที่ผมพูดได้เพราะไม่ใช่ความลับ นั่นคือลูกๆ ของครอบครัว ชาลี แชปลิน และนอกจากกษัตริย์จากประเทศไทยแล้ว เราก็มีศิษย์เก่าหลายคนที่อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยเพราะเขาเป็นคนสวิส แต่มีธุรกิจยักษ์ใหญ่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ (หมายเหตุเรื่องไม่เปิดเผยชื่อ: เราขอภาพจาก Year Book รุ่นในหลวงรัชกาลที่ 9 และชื่อนักเรียนไทยที่นั่น แต่เขาก็บอกว่าให้ไม่ได้สักอย่าง เพราะไม่สามารถเผยแพร่รูปหรือข้อมูลใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวได้)
โรงเรียนคุณมีนักเรียนตั้งแต่ 3 ขวบถึง 18 ปี มีเด็ก 600 คนก็นับว่าเป็นโรงเรียนที่เล็กอยู่ ถ้าเรียนจนจบก็คงสนิทกันหมด นี่คือหัวใจหลักในการโปรโมทโรงเรียนของเราเลยล่ะครับ นั่นคือ ไม่เฉพาะโอกาสด้านการศึกษาที่ดีเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้คุณได้รู้จักคนจากทั่วโลกด้วย
ปีที่แล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ที่โรงเรียนมีกิจกรรมเกี่ยวกับท่านหรือเปล่าครับ แน่นอนครับ เราพูดถึงท่านในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ แต่แม้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตพระองค์ก็อยู่ในประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเราอยู่แล้ว และนักเรียนทุกคนก็รู้ดีว่าทรงเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ ปีที่แล้วเราก็ส่งสาส์นแสดงความไว้อาลัยในนามของโรงเรียน นอกจากนี้ผู้อำนวยการและประธานสมาคมศิษย์เก่าก็เดินทางไปกรุงเทพฯ พร้อมกับผู้ว่าการเมืองโลซานน์ เพื่อถวายสักการะพระบรมศพและแสดงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์และสมเด็จพระเทพฯ เพราะสมเด็จพระเทพฯ ท่านเคยเสด็จแทนพระองค์มาเปิดตึกใหม่ของเราเมื่อสิบปีที่แล้ว โรงเรียนของเรายังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีงามกับพระราชวงศ์ไทยของคุณ และในพระราชพิธีเดือนตุลาคมนี้ ตัวแทนของโรงเรียนและตัวแทนของสภาเมืองโลซานน์ก็จะไปร่วมพิธีด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรามาก เพราะเราต้องการไปสักการะพระองค์ท่าน ไม่เฉพาะในฐานะที่พระองค์เป็นกษัตริย์ของไทยเท่านั้น แต่ในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียนด้วย
ความหลากหลายทางเชื้อชาติของโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ผมเคยได้ยินมาว่า หลายโรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์มีการจำกัดจำนวนนักเรียนจากแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ใช่ครับ เพราะเราต้องการให้โรงเรียนมีความเป็นนานาชาติที่สุด เหตุผลคือ ผู้ปกครองจ่ายเงินมากมายให้ลูกมาเรียนโรงเรียนประจำ พวกเขาย่อมอยากให้ลูกๆ ได้พบกับผู้คนจากหลากพื้นฐาน หลากความคิด วัฒนธรรมหรือศาสนา มันคงไม่ยุติธรรมกับพวกเขาเท่าไหร่ ถ้าทั้งโรงเรียนเป็นเด็กสวิสกันหมด หรือถ้าคุณเป็นคนไทย แล้วมาเรียนที่นี่แต่คนครึ่งหนึ่งก็เป็นคนไทย โรงเรียนส่วนใหญ่ในสวิสก็จะยึดกฏนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้อนรับพวกเขานะครับ แต่มันเป็นภาระรับผิดชอบของโรงเรียน ที่เราต้องให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าบุตรหลานของเขาจะได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ
ผมคิดว่าเด็กรวยๆ นี่คงมีตัวแสบๆ อยู่บ้าง คุณต้องรับมือกับเด็กก้าวร้าวบ่อยไหมครับ ก้าวร้าวเหรอ ไม่มีนะครับ แต่ไม่ว่าจะรวยหรือไม่รวย พวกเขาก็คือเด็กนักเรียนเหมือนกันหมดนั่นล่ะครับ บางทีพวกเขาอาจจะทำอะไรงี่เง่าบ้าง แต่ผมว่านั่นมันก็เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตปกติ ทุกโรงเรียนก็มีทั้งเด็กเกเร เด็กหงิมๆ เหมือนกันหมดล่ะครับ แต่ผมเข้าใจเรื่องที่คุณถามนะ ยกตัวอย่าง เช่น Prince Bhumibol ที่ใช้คำว่า “Prince” เพราะตอนที่พระองค์ทรงศึกษาที่นี่ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชาย แต่ตอนนั้นตัวท่านเองและพระราชชนนีก็อยากให้ทุกคนเรียกท่านว่า “ภูมิพล” เฉยๆ ไม่ต้องการคำว่า “Prince” หรือ “His Royal Highness” นำหน้า ที่สวิตเซอร์แลนด์เราไม่มีระบอบกษัตริย์ ชื่อทุกคนเหมือนกันหมด คือไม่มีบรรดาศักดิ์นำหน้า ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกคนสำคัญแค่ไหน คุณก็จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าใครที่นี่
โลซานน์เป็นเมืองที่น่ารักและสงบมากเลยนะครับ พอคิดถึงเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ตอนที่ทั้งสองพระองค์เรียนที่นั่น เมืองนี้คงเล็กและสงบกว่านี้หลายเท่า คุณคิดว่าตอนที่มีข่าวว่าเด็กผู้ชายคนหนึ่งจากโรงเรียนนี้ กลายเป็นยุวกษัตริย์ของประเทศห่างไกล เมืองนี้เขาว่าอย่างไรกัน เราพูดถึงปี 1935-45 ซึ่งมันนานมาก ผมทราบแค่ตอนนั้นบริเวณรอบๆ โรงเรียนมีแต่ท้องทุ่ง สวน แปลงผักและต้นไม้ ต่างจากตอนนี้ที่มีคนมากขึ้นและมีบ้านเรือนอยู่ทั่วไป ตอนที่ทั้งสองพระองค์เรียนที่นี่ โรงเรียนนี้ยังนับว่าอยู่นอกตัวเมืองมาก เป็นเขตชนบทห่างไกล มันก็คงสงบทีเดียว ที่จริงชื่อ เอกอล นูเวล คำว่า ‘ใหม่’ (Nouvelle) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตึกใหม่หรือโรงเรียนใหม่นะครับ แต่รวมถึงปรัชญาการเรียนแบบใหม่ด้วย ที่ไม่ได้มีแค่สอนภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษหรือคณิตศาสตร์ แต่ยังรวมถึงการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นวิธีปลูกผัก วิธีเก็บเกี่ยว การปีนต้นไม้ หรือการเลี้ยงสัตว์ อันที่จริงเคยมีคนไทยบอกผม ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่เขาบอกว่าโครงการเกษตรต่างๆ ของพระองค์ท่านอาจจะเรียนรู้จากที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะพระองค์ท่านมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรและสิ่งแวดล้อมมาก และพระองค์ท่านก็เรียนแบบที่ทุกคนที่นี่ต้องเรียน บางทีความหลงไหลด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ท่าน อาจจะเริ่มต้นสมัยที่พระองค์ท่านยังอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ที่พระองค์ท่านต้องเรียนแบบที่เด็กทุกคนเรียน ไม่ว่าจะรดน้ำผัก ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ เออ คุณรู้หรือเปล่าว่ากีฬาโอลิมปิคก็ถือกำเนิดที่โลซานน์
โน กรีซต่างหาก! ไม่ใช่ กรีซเป็นประเทศที่ให้กำเนิดการแข่งขันโอลิมปิค แต่ไอเดียการจัดโอลิมปิคยุคใหม่เกิดขึ้นที่โลซานน์ โดยมิสเตอร์ ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง และเขาเป็นคนโลซานน์
เหรอครับ แล้วเขาจบจากเอกอล นูเวลด้วยหรือเปล่า (หัวเราะ) อันนั้นเดี๋ยวผมต้องไปเช็คดูก่อน แต่นั่นล่ะครับ โลซานน์เป็นเมืองเงียบๆ และเป็นเมืองบ้านเกิดการแข่งขันโอลิมปิค เราก็เลยมีสมาพันธ์กีฬามากมาย แล้วก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่นมหาวิทยาลัยโลซานน์ ที่กษัตริย์ของคุณเคยศึกษาหลังจากจบเอกอล นูเวล แต่ท่านต้องพักการเรียนเพราะต้องกลับประเทศไทย แต่หลังจากอภิเษกสมรสท่านก็กลับมาศึกษาต่อจนจบ
คนเรามักจะมีช่วงเวลาดีๆ ของชีวิตระหว่างเรียนหนังสือนะครับ การกลับไปเยี่ยมโรงเรียนก็มักได้รับความทรงจำที่ดี แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านมีภารกิจมากมายจนไม่ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมโรงเรียนเลย พระองค์ท่านเคยกลับมาเยือนโลซานน์อย่างเป็นทางการครั้งหนึ่งกับสมเด็จพระราชินี แต่ก็ไม่ได้มาที่โรงเรียน แต่โรงเรียนเราก็ร่วมงานกับคุณขวัญแก้ว (วัชโรทัย) เรื่องโครงการการศึกษาที่โรงเรียนในหัวหินนะครับ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงมีพระราชกระแสรับสั่งมา และเดือนตุลาคมของทุกปี เอกอล นูเวลจะมีโอกาสได้ต้อนรับคณะครูจากเมืองไทย อย่างปีนี้เราก็ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา ในการให้เทคนิคการสอนภาษาฝรั่งเศสต่างๆ แล้วรู้สึกว่าเดือนมีนาคมหรือเมษายนที่จะถึงนี้ ก็จะมีอาจารย์จากเอกอล นูเวลไปช่วยอาจารย์สอนเด็กๆ ที่หัวหินด้วย
ตอนนี้การดำเนินงานสร้างพระเมรุมาศใกล้เสร็จแล้ว ถ้าคุณได้มาร่วมพิธีก็คงได้เห็นว่างดงามมาก แต่ก็เศร้ามากเวลาเห็น ผมทราบดีครับว่าเป็นเรื่องทำใจได้ยาก แต่นั่นเป็นโอกาสที่พิเศษมากนะครับ แม้จะไม่ใช่ในแง่ที่น่ายินดีก็ตาม แต่ก็เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ชาวไทยได้ร่วมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ที่ล้ำเลิศ นั่นคงเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากๆ เพราะแม้แต่ผมเองที่ไม่ใช่คนไทย ก็ยังรู้เลย ว่าพระองค์ทรงสำคัญมากต่อดวงใจของคนไทยทุกคน
ขอขอบคุณพี่โต้ง เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา ที่กรุณาให้คำปรึกษาเรื่องคำศัพท์
Comments