top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

This House Made of Clay งานศิลปะจากการปะติปะต่อความทรงจำในหน้าร้อนของ MM.


MM. หรือ ณัฐนรี โกสุม เพิ่งเปลี่ยนทางเดินจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาทำงานศิลปะเต็มตัวเมื่อปีก่อน หลังจากค้นหาตัวตนผ่านการทำงาน การเดินทาง และการพบปะผู้คนรอบข้าง

ตอนนี้ MM. มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกหลังล็อกดาวน์ที่ The Jam Factory ในชื่อ This House Made of Clay โดยจัดแสดงเมื่อกลางเดือนที่แล้ว จนถึง 15 สิงหาคมนี้ เป็นผลงานที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ด้วยความไร้กฎเกณฑ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพเขียนและประติมากรรม

 

สัมภาษณ์: มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ @iarbuckle

 

“เราจบกราฟิกที่ศิลปากร แต่ชอบทำงานศิลปะมากกว่า มันได้ถ่ายทอดความรู้สึกตัวเอง งานที่เราทำบางทีมันจะมีลายเซ็นบางอย่างที่เอาออกไปไม่ได้ กราฟิกต้องทำงานตามโจทย์ลูกค้า มันก็จะรู้สึกไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ที่จะทำมันให้เสร็จ"

ชอบแหกกฎ?

อาจจะชอบอิสระมากกว่า เราอยู่กับอะไรได้สักพักนึงก็จะออกไปหาอย่างอื่นดู เหมือนเป็นอะไรที่เราทำไปโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ชอบไป explore นู่นนี่ หาทางลัดเลาะให้เจออะไรที่มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เรารู้สึกใช่มากกว่า


ตอนปิดเทอมแอบไปหาทำที่อังกฤษ เรียนคอร์สสั้นเกี่ยวกับ ‘expanded field of drawing’ ก็เปิดโลกมาก จากตอนแรก drawing ทำ illustration บนกระดาษสี่เหลี่ยม ก็เริ่มเปลี่ยนวัสดุ เริ่มฉีกกระดาษ เริ่มปะ เริ่มทับบน material อื่น ผสมลงไปแล้วมันเกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ แล้วมันก็น่าสนใจมาก


มีเวิร์กช็อปอันนึง เขาให้เราลืมวิธีวาดแบบเดิมไปเลย ให้ทุกคนปิดตา แล้วเอาของอะไรไม่รู้สิบอย่างใส่ในถุงดำ ให้จับ แล้ววาดจากความรู้สึกผ่านมือ ชอบที่มันมีอะไรแบบนี้ด้วย มันไม่ใช่แค่เห็นอะไรแล้ววาดตามที่เห็น แล้วก็ค่อย ๆ ตกผลึก หาทางให้วิธีพวกนั้นเข้ากับ accent งานของเรา จนมันอยู่คู่มากับลายเส้น ตัวละคร คน นก ต้นไม้ สิ่งของที่เราชอบวาด

ทำไมชอบวาดคน นก ต้นไม้

จริงๆ ความสนใจเราไม่ได้เจาะลงไปถึงอะไรเป็นพิเศษ แต่อาจจะเป็นสิ่งรอบตัว หรือแค่บทสนทนากับเพื่อนในเช้าวันนึง หรือว่าคนคนนึงที่เคยมีประสบการณ์อะไรบางอย่างร่วมกันที่พิเศษและยากที่จะลืม มันก็ขยายออกมาได้


ส่วนนึงที่ชอบต้นไม้ เพราะปกติชอบไปเที่ยว แล้วเวลานั่งรถก็จะเห็นพวกต้นมะพร้าว ต้นปาล์ม บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าจริง ๆ มันคือต้นอะไร แต่ก็ชอบวาดต้นพวกนี้ หนึ่งคือด้วยฟอร์มของมันด้วย มันแปลกอะ ตอนมันโตขึ้นมาทีแรกเป็นพุ่มก่อน แล้วค่อยมีโคนขึ้นมาสูงๆ ซึ่งจากนั้นมันก็ไม่ได้มีใบอะไรขึ้นมาอีก อีกอย่างคือเราอยู่ South East Asia จะเห็นต้นไม้เขตร้อนพวกนี้มันก็อยู่ที่บ้านเรา แต่พอไปต่างประเทศ เราก็เห็นมันอีกในแบบที่แปลกไปนิดหน่อย มันก็แอบทำให้เรานึกถึงบ้าน รู้สึกดี เราเลยชอบเอามันใส่ไปในงานให้ดูตลก ๆ อย่างมีชิ้นนึงชื่อ 'Young Coconut Tree' จะมีต้นที่เด๋อ กับต้นที่โตแล้ว ยืนอยู่ด้วยกันสองต้น

การไปเที่ยวของเราไม่ได้เป็นการไปหาแรงบันดาลใจ คือมันเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน เราไม่ได้คิดว่าจะไปที่นี่ เพื่อจะเอามันมาไว้ในกระดาษ แค่เราไปใช้เวลาสักพัก พอประสบการณ์ผ่านฟิลเตอร์เข้าไป วันไหนรู้สึกอยากทำก็จะทำออกมาเป็นงาน

เมื่อกี้พูดถึงการหา accent ของงาน คิดว่าความ unique เป็นสิ่งที่จำเป็นไหม

มันก็คงสำคัญประมาณนึง แต่มันก็ไม่ใช่ทุกอย่าง จริงๆ มันก็คล้ายงานดีไซน์ที่มันต้องชนะใจ audience ด้วยอะไรบางอย่าง มันอาจจะตรงไปหน่อยถ้าจะบอกว่า ‘แค่เราไม่เหมือนใครก็ได้แล้ว’ มันไม่ใช่แค่ใช้สไตล์ หรือ aesthetic ในการสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเอง มันมีองค์ประกอบอย่างอื่น เช่น เรื่องที่ศิลปินอยากจะพูด บางทีงานศิลปะมันสร้างความรู้สึก หรือมันสร้างบทสนทนากับคนแค่ไหนด้วย เพราะถ้ามองแค่สไตล์ว่างานคนนี้ใกล้กับคนนี้ แต่ไม่ได้ดูว่าเขาพูดเรื่องเดียวกันหรือเปล่า จะถือว่าเขาเป็นคนคนเดียวกันไหม? เราก็วาดไปเรื่อย วาดที่ตัวเองอยากวาด คิดว่าพอใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาทำงาน มันก็คงไม่มีใครที่มีประสบการณ์เหมือนกันหรอกมั้ง


Accent คือการที่คนดูงานเรา แล้วจำได้ว่าเป็นงานเรา เราไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นเพราะสี หรือเพราะอะไรในภาพ แต่มันคือการที่เราเริ่มคุ้นกับมัน แล้วมันใช่สำหรับเรามากขึ้น เหมือนเราสร้างภาษาของตัวเอง เราทำให้มันแข็งแรงก่อน เราถึงเริ่มพูดและสื่อสารกับคนอื่นได้

แต่การ stylize งานตัวเองแล้วตัดสินใจวาดแบบนี้ไปตลอดชีวิต มันอาจจะไม่ใช่เราเท่าไหร่ที่จะติดอยู่กับรูปแบบแบบไหนแบบเดียว มันคงจะมีระยะเวลาของมัน ยุคนี้มา อีกยุคนึงมันก็ไป มันอาจจะกลับมาใหม่ เพราะเราก็โตขึ้นด้วย อาจจะเหมือนทุกอย่างบนโลกนี้แหละ


ลายเซ็นของ MM.

เพื่อนถามว่า ‘รูปทุกตัวที่วาดออกมาเป็น self portrait ใช่ไหม’ ตอนแรกก็ไม่เชื่อ แต่พอคนเริ่มพูดกันเยอะ มันก็อาจจะมาจากตัวเรา แต่มีช่วงนึงที่วาดคนอยู่ด้วยกันสองคน ไม่ได้รู้สึกเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพศอะไรไม่รู้ สายตาก็ไม่ได้มองเข้าหากัน ต่างคนต่างมองไปอีกทาง เหมือนมันมีชีวิตของมันอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เฉย ๆ ซึ่งสองคนนั้นมันอาจจะเป็นเราทั้งหมดเลยก็ได้


มีอยู่ชิ้นนึงที่เป็น painting บนเซรามิก เป็นผู้ชายสองคนนั่งคุยกัน ดูก็รู้สึกเหมือนเป็นคนหนึ่งคนนั่งคุยกับตัวเองในหัวตัวเองมากกว่า ในเซ็ต Young Tree Tree ที่เคยทำ พูดถึงการเติบโตของต้นไม้สองต้น ซึ่งต้นไม้ในที่นี้ก็อาจจะเรากับใครอีกคน หรือเรากับ alter ego ของเรา เติบโตไปพร้อมกัน

เรื่องล่าสุดที่คุยกับตัวเอง

คิดว่าเราอายุเกิน 25 มาแล้ว มันก็ใกล้เลข 3 เข้ามาแล้ว เราคงไม่สามารถทำทุกอย่างที่อยากทำบนโลกได้ สังขารมันคงไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้อีกแล้ว ถ้าเราไม่แคร์ตัวเองบ้างคงเหนื่อย บางอันก็ปฏิเสธบ้างก็ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องงาน หมายถึงทุกอย่างเลย การไปเจอใคร หรือเหตุการณ์อะไร เวลามันเริ่มน้อยลงแล้ว เลือกแค่สิ่งที่ควรจะเลือก และทำงานให้มันเข้มข้น มีคุณภาพ แต่เราก็ยังเชื่อนะว่าถ้ามันเป็นของเรามันก็จะเลือกเรา ไม่ต้องพยายาม


การทำงานปั้นสนุกกว่าการทำ painting หรือ drawing ยังไง

มีช่วงนึงเราสนใจปั้นจาน ปั้นไห แต่ถ้าจะทำมันต้องมีดิน มีเตา มันหลายอย่าง เลยซื้อดินเยื่อกระดาษขาว ๆ มาลองปั้นก่อน เพราะมันแห้งเองได้ในอากาศ มันให้ความรู้สึกเหมือนกระดาษที่เราขึ้นรูปเป็นอะไรก็ได้ paint ได้ drawing ได้ ถ่ายทอดความรู้สึกเราลงไปได้เรื่อย ๆ เลย สนุกมาก


เราชอบฟอร์ม ชอบ shape ไม่ได้หมายความว่าไม่ชอบวาดหรือระบายสีแล้วนะ อันนั้นเราก็ยังหลงรักมันอยู่ แต่ painting มันต้องคิด ต้องยั้ง ด้วยความที่เราเรียนทฤษฎีมา มันจะมีกรอบที่บอกว่าให้เริ่มวาดวงกลม วาดสี่เหลี่ยม แล้วค่อยไปอย่างนี้ ๆ มันเลยมีอะไรเข้ามาในหัวเราเยอะ

แต่ปั้นเป็นอะไรที่เราไม่เคยเรียน รู้สึกว่าทำแล้วเป็นอิสระดี แล้วเราได้เอามือลงไปปั้นทรงมันเลย มันเหมือนการทำสมาธินิดนึงด้วย แต่พอทำๆ ไปแล้วก็สลับกลับไปทำ painting บ้าง จริงๆ เราเป็นคนที่จบงานด้วย medium เดียวไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องทำกับ medium เดียวตลอด บางทีมี drawing ลงดินสอ แล้วก็ต้องนั่นเพิ่ม นี่เพิ่ม มันให้ความรู้สึกสดใหม่ดี


การใช้วัสดุหรือสื่อหลาย อย่างในงาน ได้เอามันมาใช้ตีความหรือเล่าเรื่องในงานด้วยไหม

บางทีมันเป็น expression ไม่ได้คิดล่วงหน้าหรอกว่า งานนี้เราอยากจะบอกว่า ‘ดิน terracotta ให้ความรู้สึกของธรรมชาติ’ เราแค่จับชิ้นนี้และตัดสินใจทำแบบนี้กับมันมากกว่า แต่มันอาจจะไปมีความหมายแบบนั้นในสายตาคนอื่น มันจะเป็นอะไรก็ได้เลย

This House Made of Clay ชื่อมันแว้บเข้ามาในหัวเลย คือเราตั้งใจจะจินตนาการบ้านหลังนึงขึ้นมา แต่เปรียบเปรยด้วยคำที่มันดูนามธรรม การบอกว่าอันนี้ทำจากดิน อันนั้นทำจากดิน มันก็ดูเสริมสร้างจินตนาการดี (หัวเราะ) คือเราคิดว่าดินเนี่ย จะปั้นเป็น shape อะไรก็ได้ เราก็อยากให้มันเป็นบ้าน พอดีมีเพื่อนญี่ปุ่นเพิ่งไปดูงานเรามาแล้วบอกว่า ここに住みたい แบบ ‘อยากอยู่ที่นี่จัง’ ก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างตรงจุดมุ่งหมายทีแรกที่เราอยากให้นิทรรศการนี้เป็น


เราอยากให้บ้านของเรามีเปลญวนแบบนี้ แล้วก็ของพวกหิน เปลือกหอย เก็บมาจากที่ไปเที่ยวมาก็เอาไปวางไว้บนชั้น มีนก มีรูปถ่ายที่ไปถ่ายมาจากตอนไปเที่ยวครั้งนั้น หรือรูปแปลกๆ ที่เก็บไว้ มันก็เหมือนเป็นบ้าน เราไม่ได้อยากให้นิทรรศการดูเกร็ง ว่าคนเข้ามาดูชิ้นนี้ แล้วต้องรู้สึกแบบนี้

เรียนทำเซรามิกกับใคร เคยไปปั้นกับเพื่อนที่ทำสตูดิโอ Yer Space คือมีเพื่อน ๆ ศิลปินมาแชร์สตูกัน เขาก็เล่านู่นนี่ให้ฟัง เอาอะไรมาให้เราเล่น แต่หลัก ๆ คือ self-taught แค่รู้ว่าดินมันจะแห้ง แล้วถ้าแห้งมันจะทำต่อไม่ได้ ก็ปั้นไปเรื่อย ลองทำ handforming เองเลย แล้วก็เผา แต่งานพวกนี้เราไปทำกับพี่แป๋ง—ดุษฎี ฮันตระกูล เขาชิลมากเลย เป็นคนที่ทำงานกับวัสดุหลากหลายเหมือนกัน เขาทั้ง paint, drawing ซื้อเตาเซรามิกมาที่ไว้บ้าน เขาลองเอาดินทั้งก้อนยัดเข้าไปเผาเลย ไม่ทำอะไรกับมันเลย มันมาก จริงๆ มันก็มีศิลปินที่ไปรวบรวมดินจากแหล่งต่างๆ มา แล้วลองเอาทั้งก้อนนั้นไปเผา แล้วออกมาเป็นงานศิลปะเลยก็มี

การเผาก็มีหลายแบบ จะเผาเตาไฟฟ้า หรือโยนลงไปในเตาถ่าน ในกองไฟ จะเผากี่ชั่วโมง ๆ คนทำเซรามิกมีหลายสไตล์ ของเราเผาเตาพี่แป๋ง เตาไฟฟ้ากดปุ่ม แล้วไปนอน ตื่นมาก็กลับมาดู พอเผาเสร็จต้องรอ cool down เปิดเตาให้อากาศมันระบาย เพราะมันร้อนมาก จับไม่ได้ เหมือนอบขนมปัง (หัวเราะ)


ดินมันเป็น material ที่มหัศจรรย์มาก สีดินที่ปั้นทีแรกเป็นสีดำ เอาไปเผารอบแรกเป็นสีส้มอ่อน เผาอีกรอบเป็นสีเนื้อ อาจจะคะเนได้นิดนึงถ้าเราไม่ได้ใส่อะไรแปลกๆ ลงไป ประมาณว่าพอเผาแล้วตรงนี้จะร้าว หรือจะขึ้นสียังไง มันจะต้องทดลองก่อน เขาจะปั้นเพื่อเทสต์องค์ประกอบหลักๆ มี ดิน สี แล้วก็เคลือบ แต่สุดท้ายเราเปิดมาแล้วผลที่ออกมามันเหนือความคาดคิดเสมอ เราชอบด้วยซ้ำที่มันร้าว มันเป็นรอย สีไม่เท่ากัน แต่ที่มันเป็นของมันแบบนี้เพราะเราตัดสินใจที่จะทำแบบนี้ บางทีก็อยู่ที่เตา อยู่ที่ดินด้วย เพราะดินจากแต่ละพื้นที่ก็มีแร่ธาตุในอัตราส่วนที่ต่างกัน ให้เนื้อสี สัมผัสที่ไม่เหมือนกัน


สุดท้ายการทำเซรามิกมันก็มีหลายโรงเรียนแหละ เหมือนการทำอาหาร ซอสจะเปรี้ยว เค็ม หวาน อยากให้มันฉ่ำ ๆ หน่อย หรือแห้ง ๆ หน่อย จริง ๆ เราจะผสมดินของเราเองก็ได้ ใส่แร่ไปเท่านี้ แล้วลองใส่ทรายไป ลองขยำให้มันไม่เท่ากัน ถ้าเขียวก็เขียวบางจุด มันคือการทดลองเหมือนการทำอาหาร


ตอนทำงานเซ็ตนี้คือทำไปเรื่อย ไม่ได้วางแผน หรือวางคอนเซ็ปต์อะไรไว้ไหม

จริงๆ หลักๆ เราชอบใช้เวลาสักพักนึงก่อน ถ้าไม่ได้อยากจะวาดตอนนั้นก็ไม่วาด ถ้าจะไปบังคับให้เราวาดอะไรออกมาก็ทำไม่ได้ อย่างช่วงที่ทำพวกนี้คืออยากลองเอาตัวเองไปอยู่ซักที่ บอกพี่ตุล Tuna Dunn ที่เป็นญาติเรา ว่าอยาก residency ตัวเองที่พัทยา เพราะเขามีคอนโดที่นู่น ตอนนั้นยังไม่มีโควิดเลยขอลองไปก่อน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้สนุกกับมัน

ตอนนั้นไปพัทยาก็แบกผ้าใบขึ้นไป เพราะมันเบา แล้วก็แอบคิดว่าถ้าได้ไปปั้นที่นู่นก็คงจะดี แต่ถ้าเอาดินไปด้วยก็หนักไป เลยตัดสินใจทำงานเพนท์แทน มีเปิดสมุดสเกตชบ้างว่าเราไปเที่ยวที่นึงมา ก็เลยวาดสิ่งนี้ลงไป บางทีก็มันมีอันที่คิดไว้แล้วบ้าง อย่างเที่ยงวันนี้อยากจะวาดประมาณนี้ บางอันก็ลงไปก่อนเลย ค่อยคิด


อย่างชิ้นนี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะกลับ แล้วมันเหลือ canvas ชิ้นใหญ่อันนึงอยู่ เราไม่เคยเพนต์ใหญ่ขนาดนั้นก็เลยลองดู อยากจะวาดที่ที่เราอยู่ ก็คือคอนโดอันนั้นเลย ให้ดูเป็นมู้ดรวม ๆ ของช่วงเวลาที่เราได้ไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันก็มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเยอะมาก (หัวเราะ)

อันนี้เป็นชิ้นที่เลือกมาเป็น key visual เราให้ภัทร—ณัฐภัทร เหลืองรุ่งทิพย์ ที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ช่วยทำกราฟิกให้ ก็ชวนมาที่สตูดิโอ ภัทรก็เห็นรูปนี้แล้วบอกว่า ‘กูว่ารูปนี้แหละคือมู้ดของงานนี้’ มันเหมือนเป็นใครสักคนนั่งอยู่ แล้วเหมือนจะมีใครสักคนนึงมานั่งด้วย ตอนนั้นที่สเกตชรูปนี้คือเหมือนคุยโทรศัพท์อยู่กับเต้ เต้ไปเที่ยวเกาะพยาม แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวคราวหน้าจะพามานะ เราก็อยากวาดซักรูปนึงที่เป็นโมเมนต์นั้น ก็คือกลับมาจากพัทยาแล้วก็วาดที่บ้าน


มีช่วงนึงที่แอบไปฝึกงานร้านอาหารด้วย

อันนั้นงูๆ ปลา ๆ มาก ช่วงนั้นเราคิดอยู่ว่าอยากไปเที่ยวโอกินาว่า ดูมานานแล้วว่าที่นี่เป็นที่ที่อยากไปเที่ยว แล้วพอไปกินร้าน 小料理屋 て -koryoriya te- ข้าง ๆ โอกินาว่าคินโจ ร้านเขามันมีความเหมือนอาหารทำกินที่บ้าน มีหนังสือศิลปะในร้าน พวกหนังสืออาหารญี่ปุ่น contemporary หน่อย ตลกดีเหมือนมีแรงดึงดูดบางอย่างที่ทำให้เราไปเจอคนนี้ เขาเป็นคนโอกินาว่าแท้ๆ แล้ว vibes เขาได้มาก ชอบสไตล์เขา อยากรู้จักเขา พอคุยกันก็รู้ว่าเขาเป็น painter มาก่อน เป็นครูสอนศิลปะด้วย ช่วงนั้นว่างพอดีก็เลยลองไปคุยกับเขา ขอมาใช้เวลาสักพักนึง ฝึกงาน ทำพาร์ตไทม์ จันทร์ พุธ ศุกร์


ทำอาหารเหมือนทำงานศิลปะ

เหมือนทำ mix media (ศิลปะสื่อผสม) การทำอาหารของเราก็ไม่ได้อยากทำแกงกะหรี่แบบญี่ปุ่นจ๋าๆ หรือทำเมนูนี้ให้เป็นแบบดั้งเดิมที่คนมักเข้าใจกัน บางทีเราอยากให้มันได้กลิ่น citrus หลงเข้ามานิดนึง อยากให้เปรี้ยวขึ้นมาอีก มันสนุกที่จะได้ผสมและเกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มสนใจพวก fermentation marinate หมักดอง แล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรทอด ไฟแรงๆ เราจะทำพวก low heat, slow cook มากกว่า มันเหมือนปั้นเซรามิกด้วย คือค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เห็นการเปลี่ยนแปลง เหมือนเราตั้งจิตกับมันได้ แต่เราก็ยังไม่ได้กะจะเปิดร้านตอนนี้ มันอาจจะยังไม่ใช่วัย หรือยังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ที่จะรอร้านเปิด อยู่ร้าน ทำอาหารทุกวัน แต่เราก็พยายามหาวิธีที่ทำอะไรที่เราอยากจะทำให้ได้


นี่ก็ตั้งใจว่าจะทำ casual dining คือเพื่อนชื่อวะนา ที่ทำ no bar wine bar ขาย natural wine ก่อนหน้านี้ก็เคยทำคอร์สอาหารด้วยกันตอนที่เขาเปิดบาร์ที่ Some Time Blue ก็รู้สึกว่าเหมือนมาเจอเพื่อนอีกคนที่มีอีก medium นึง แล้วเหมือนเรามาแชร์กัน ตอนแรกจะทำจาน อยากปั้นโต๊ะแล้วเสิร์ฟอาหารที่เราทำด้วยซ้ำ เผาแค่ขาทีละพาร์ต แล้วมาต่อกัน


เซรามิกไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ถ้วยชาม เราอาจจะเผารอบเดียว เพนต์อะคริลิกทับ ติดกาว แล้วเอาไปทำเป็นโคมไฟก็ได้ มันเหมือนเราเล่นแร่แปรธาตุ สร้าง object ขึ้นมาเลย คือเรากำลังสนใจวิธีที่ไม่ใช่ traditional ceramic เพราะว่าเราก็ไม่ได้เรียนมา ก็เอามันมารวมกับสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังหา กำลังใช้ชีวิตอยู่รอบ ๆ มัน ตอนนี้เรารู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นเพราะเราสร้างโลกของเราออกมาให้มีมิติมากขึ้น


ชีวิตของ MM. ช่วงนึงเคยมีพลังงานพุ่งพล่านมาก ตอนนี้ก็ช้าลง

เหมือนเราหาบาลานซ์ให้ตัวเอง เราเปลี่ยนไปตลอดเวลา การทำงานศิลปะต่อไปเรื่อยๆ มันก็ช่วยมั้ง เหมือนทำอันนี้ออกมาแล้วทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น บางอย่างที่เราตามหามันเป็นนามธรรม มันต้องใช้เวลานิดนึงกว่าจะกลั่นกรองคำพูดออกมาได้ ว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันคืออะไร รวมไปถึงความหมายของอะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่ หรือนี่อาจจะเป็นความหมายของทุกอย่างที่เรากำลังตามหาอยู่ก็ได้

การเปิดรับสิ่งใหม่ยากสำหรับ MM. ไหม

การหาอะไรใหม่ ไม่ยากเท่าเอาสิ่งใหม่มาต่อยอดสิ่งเดิม เพื่อให้มันต่อเนื่องกัน คือเราลองทำหลายอย่างจนมันแตกแขนงมา ถึงตรงนั้นต้องเลือกว่าจะทำอันไหน หรือไม่ทำอันไหน ตรงนี้อะยาก การจะพัฒนาต่อมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาตกตะกอนตัวเอง ต้องใช้ความเข้าใจตัวเอง กับสิ่งรอบๆ ตัวด้วยพอสมควร


อีกอย่างที่เป็นการฝึกของเราคืองานที่ทำกับลูกค้า เขาอยากได้แบบนี้ เราก็อยากจะทำให้เขา แต่มันก็ต้อง push limit เรา อะไรที่ยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ เราก็ต้องเริ่มจากยังไม่รู้ ฝึกไปก่อน แต่พอเริ่มทำไปเยอะ ๆ แล้วก็ปรับตัวได้ แล้วก็กลัวน้อยลง


เราว่าการทำงานกับลูกค้ามันก็ยากพอๆ กับทำงานส่วนตัวในบางที แต่มันก็เป็นบาลานซ์เรา เราทำงานศิลปะ เราคุยกับตัวเองเยอะ แต่ถ้าเราคุยกับลูกค้า เราได้ connect กับคนอื่น connect กับโลกด้วย บางทีมันทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นจากการได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ


ความแปลกหน้ามันทำให้เราเรียนรู้จากสิ่งที่เขานำมาแลกเปลี่ยน แล้วเราก็เติบโตขึ้นจากตรงนั้น จะให้จัด solo exhibition ไปเรื่อยๆ อย่างเดียวมันอาจจะทำไม่ได้ 100% เพราะมันก็มีคนที่รู้จักเรา อยากร่วมงานด้วย ก็น่าสนใจดีถ้าเราจะได้สร้างอะไรร่วมกันกับคนอื่น แล้วได้แลกเปลี่ยนกันคนละครึ่งทาง


ตั้งเป้าให้การเป็นศิลปินของตัวเองไปถึงตรงไหน

เราก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนโลก เปลี่ยนอะไร หรือเปลี่ยนใคร แต่ก็อยากสร้างหมุดหมายของตัวเอง สร้างอะไรที่เราเชื่อว่ามันดี เคยคุยกับพี่คนนึงเหมือนกันว่า ทำงานศิลปะเหมือนสร้างอ็อกซิเจน แบบแกเลอรีดีๆ ที่นำเสนองานดีๆ ที่ให้อะไรบางอย่างกับเรา เหมือนปลูกต้นไม้ เขานำเสนอผลงานที่เขาเชื่อว่าดี มันพาคนที่มาดูได้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับศิลปิน


เรามีความฝันหลายอย่าง อยากจะได้ไปอยู่กับคนที่ appreciate สิ่งที่เราทำจริง ๆ ตอนนี้ก็ไม่ได้อยากอยู่แค่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ถ้าเราอยู่ที่เดิมไปเรื่อยๆ เราจะเฉาๆ source หมด เราอยากพาทั้งตัวเอง แล้วก็งานของเราไปด้วย ให้ได้เติบโต ให้มีประสบการณ์การทำงาน เหมือนพอจบจากตรงนี้ไป ก็อยากรู้เหมือนกันว่าจะได้ไปอยู่ตรงไหนบนโลก ไม่รู้ว่ามันเป็นการทำให้งานเป็นสิ่งเดียวกับชีวิตเลยหรือเปล่า เหมือนเกิดมาเพื่อสร้างอะไรบางอย่าง แล้วจากโลกนี้ไป


ใช่ที่เขาเรียกว่าตามหาความหมายของการมีชีวิตรึเปล่า

อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ใช่ เราไม่ได้อยากรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร แต่เหมือนสิ่งที่เราเติบโตมา แล้วก็อยู่กับมันมา มันเชปให้เราเป็นเราในวันนี้ แล้วตัวเราก็อยากจะให้อะไรกลับคืนไปที่สิ่งเหล่านั้นมากกว่า

 

นิทรรศการ This House Made of Clay

จัดแสดงที่ The Jam Factory ท่าเรือคลองสาน ถนนเจริญนคร วันนี้ถึง ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2020 เวลา 11.00-20.00 น. โทร. 02 861 0950 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/3298383123515032/


Comments


bottom of page