เหมือนกับว่าตอนนี้ทุกแบรนด์ดังของโลกจะเบนทิศทางงานออกแบบเสื้อผ้ามาทางสตรีทกันหมด ดูจากที่ดีไซน์เนอร์สตรีทแบรนด์โดนซื้อตัวไปเป็นครีเอทีฟให้แบรนด์หรูหรากันทีละแบรนด์สองแบรนด์ ไล่ไปเถิด วิตตอง ดิออร์ บาเลนเซียกา จิวองชี่ แต่ยังไม่เจอใครสตรีทถึงขีดสุดเท่าเกรย์ฮาวด์ ที่ชวนน้องๆ เด็กไร้บ้านมาเป็นโมเด้วถ่ายคอเล็คชั่นสำคัญของแบรนด์เพราะเป็นคอลเล็คชั่นฉลองสี่สิบปี
นับเป็นการหักมุมพลิกสูตรสำเร็จ ที่ปกติวาระแบบนี้ส่วนใหญ่เขาจะใช้การเกณฑ์ดาราเซเล็บรุ่นต่างๆ มาเป็นแบบ แต่เราคงคิดอะไรอยู่ในกรอบไปหน่อย เพราะ บี-บดินทร์ อภิมาน ครีเอทีพไดเร็คเตอร์ของแบรนด์คิดว่าวาระสำคัญแบบนี้ ควรถูกใช้ให้มันเป็นสาระประโยชน์มากกว่านั้น
สัมภาษณ์ โดยโน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld ภาพจาก Greyhound Original @greyhoundoriginal
ขอแสดงความยินดีกับการครบรอบ 40 ปีของ Greyhound ด้วย คิดว่าอะไรที่ทำให้แบรนด์อยู่มาได้นานขนาดนี้
บี-บดินทร์ อภิมาน: คิดว่าน่าจะเป็นเพราะเราเป็นแบรนด์ contemporary ที่มีรากความคิดที่แข็งแรง คือเราปรับเปลี่ยนตัวเองไปพร้อมๆ กับโลกที่เปลี่ยนไปแต่เรายังมีตัวตนที่คนจับต้องได้ด้วย ไม่ว่าเราทำอะไรหรือมีกระแสใหม่ๆ อะไรเข้ามาเราไม่ปฏิเสธ แต่เราจะเอามันมาปรับให้เข้ากับเรา และด้วยความที่เกรย์ฮาวด์ไม่ได้หยุดอยู่ที่แฟชั่นอย่างเดียว แต่เราทำหลายอย่างที่มีความครีเอทีฟและไลฟ์สไตล์มันเลยเข้าหาคนได้มากขึ้นและสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เลยทำให้มีคนอยากร่วมงานกับเราตลอดครับ
แนวคิดของการถ่ายภาพน้องๆ เริ่มต้นอย่างไร
เริ่มจากผมอยากใช้โอกาสของการครบรอบสี่สิบปีเกรย์ฮาวด์ทำแคมเปญที่เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แค่ CSR ของบริษัทเฉยๆ เคยวางโครงสร้างไว้เบาๆ ว่าอยากเปลี่ยนภาพ CSR ที่ชอบเรียกร้องให้เราสงสารนั่นสงสารนี่ แล้วบริจาคเงิน หรือการเอาดารา เซเลปมาใส่เสื้อยืดแล้วให้แฟนตามมากรี้ด
และด้วยความบังเอิญระหว่างที่เรากำลังหาที่ลงว่าจะทำอะไรดี เต๋าเจ้าหน้าที่จาก The Hub สายเด็ก ส่ง dm มาในเฟซบุ๊กของเกรย์ฮาวด์แล้วผมเข้าไปอ่านพอดีเลยติดต่อกลับไป และนัดวันเข้าไปคุย ไปถึงเราก็ซักถามพูดคุยกับเต๋าว่าทำไมเลือกเกรย์ฮาวด์ คำตอบคือเพราะเห็นแฟชั่นโวขว์ AW19 “Street of Bangkok” ของเรา และเขารู้สึกว่ามันเข้ากับเด็กสตรีทที่เค้าดูแลอยู่ (ที่นี่เรียกน้องๆ ที่เร่ร่อนแถวหัวลำโพงและไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ว่าเด็กสตรีท) และเราก็ฟังว่าท่ีนี่ดูแลเด็กยังไง ทำอะไรบ้าง ปัญหาของน้องๆ คืออะไร พวกเขาต้องการอะไร มูลนิธิต้องการอะไรจากการทำแคมเปญร่วมกัน
ก็พบว่าปัญหามันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะแก้ได้ แล้วก็มาดูว่าแล้วเราทำอะไรได้บ้าง เด็กๆ เขามีความต้องการอะไรที่เราพอจะช่วยได้ ผมก็สรุปกับเต๋าหลังจากที่คุยกันว่า สิ่งที่เด็กต้องการไม่ใช่ควาสงสารว่ะ เขาอยากรู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่นๆ อยากภูมิใจในตัวเอง อยากได้ทำงานหรือมีโอกาสไม่ต่างกับคนอื่น เราเลยตั้งชื่อโปรเจคนี้ว่า I HAVE A DREAM เพราะสิ่งที่เหมือนกันของทุกๆ คนคือมีความฝันว่าอยากจะทำอยากจะเป็นนั่นนี่กันหมดไม่เว้นแม่แต่น้องๆ
แล้วสิ่งที่เราถนัดคือเรื่องของแฟชั่น และเรามีพื้นที่สื่อประมานนึง คือวินโดว์ดิสเพลย์ที่ร้าน มีโซเชียลมีเดียต่างๆ และมีคอนเนคชั่นกับสื่อต่างๆ ที่เราเห็นว่ามันมีแต่ภาพเดิมๆ ของเซเลป ดารา โมเดลหน้าตาที่ไม่ใกล้กับมนุษย์แถวบ้านเราเลย เราเลยอยากแบ่งพื้นที่นี้ให้กับน้องๆ บ้าง ซึ่งเป็นความจริงที่เห็นได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำแต่ไม่มีคนพูดถึงเท่าไหร่
บรรยากาศในวันถ่ายทำเป็นอย่างไร
สนุกมาก ถ่ายง่ายมาก ทุกคนมีคาแรคเตอร์ชัดเจน น้องๆ ก็ดูแฮปปี้กับการทำงานที่เขาไม่เคยทำ ไม่เคยแสดงออกแบบนี้ มีบางคนได้ยินว่าลุกขึ้นมาแต่งตัวตั้งแต่เช้า แต่งหน้าด้วยมั้ง
น้องๆ ดูมีความมั่นใจมาก ทั้งท่าทาง สีหน้า แววตา มีการกับกับน้องที่ไม่เคยถ่ายแฟชั่นมาก่อนอย่างไร
คือเรื่องสีหน้ากับแววตานี่แทบไม่ต้องไปยุ่งเลย มาจากข้างในกันอยู่แล้วและดีมากทุกคน แววตาคือโคตรมีพลัง ที่เหลือคือท่าทางมากกว่าที่มีกำกับบ้าง
Greyhound ต้องการสื่อสารอะไรในแคมเปญจน์นี้
ขั้นแรกคือเราแนะนำให้คนรู้จักกับมูลนิธินี้ว่าเค้าทำงานแบบนี้อยู่นะ ถ้าคุณอยากช่วยเค้าจะผ่านการซื้อเสื้อยืดกับเราก็ได้ หรือไปบริจาคเองโดยตรงกับเขาเลยก็ได้นะ เราใส่เบอร์ติดต่อไว้ให้ทุกๆโพสต์แล้ว
อีกอย่างคือเราเชื่อว่าสิ่งนึงที่เด็กๆ ต้องการ คือ การได้รับการยอมรับ ทั้งจากครอบครัวและสังคมไม่ต่างจากคนอื่นๆ ความเท่าเทียมกันในฐานะคนคนนึง ไม่ใช่ความสงสาร นั่นคือสิ่งที่เราอยากบอก ถ้าเราเข้าใจถึงความลำบากของเค้าเราจึงช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้ เปลี่ยนความสงสารให้กลายเป็นความเข้าใจเห็นใจและแบ่งปัน
แฟชั่นมักจะนำเสนอแต่ความรวย ไม่กลัวว่าการนำเด็กไร้บ้านมาใส่เสื้อผ้าแบรนด์เราถ่าย จะทำให้เสียลุคแบรนด์หรือ
ไม่กลัวเพราะเห็นอยู่ว่าน้องๆดูดีในเสื้อผ้าของเรา นั่นแปลว่าเสื้อเราสวยใครๆก็ใส่แล้วรอด ไม่ต้องเป็นนายแบบนางแบบก็รอด
มีน้องคนไหนชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากถ่ายรูปเซ็ตนี้ไหม เช่นได้งานในแฟชั่น
ยังไม่มีใครได้ไปเป็นแบบที่ไหนแต่มีน้องคนนึงชื่อสไปรท์ ที่มีฝันอยากเป็นนักเต้น หลังจากถ่ายแคมเปญไม่กี่วันเจ้าหน้าที่มาบอกว่า ไปส่งน้องกันมาน้องออกจากมูลนิธิไปล่าฝันแล้ว แค่นี้ก็ดีใจมากแล้วนำ้ตาจะไหล กับเจ้าหน้าที่บอกว่าน้องๆ บางคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองก็ดูมั่นใจมากขึ้นครับ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากงานครั้งนี้
หลายอย่างเลยในแง่ของการทำงาน คือมันเหมือนจะไม่มีอะไรแค่เอาน้องมาถ่ายแบบ แต่มันดีเทลมากๆ ทีมเราต้องคิดเยอะว่าจะสื่อสารออกมาในรูปแบบไหน ทำยังไงให้คนเข้าใจว่าเราทำอะไร ทำยังไงให้มันกลับไปที่ตัวมูลนิธิให้ได้ด้วย ตัวเจ้าหน้าที่ก็มีไปปรึกษาจิตแพทย์ว่ามีอะไรจะกระทบต่อจิตใจของน้องบ้างมั้ยในการทำงาน ได้เรียนรู้ว่าการให้โอกาสคนอื่นมันดีกับทั้งคนให้และคนรับ
เออ แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าแฟชั่นก็ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนกันนะ ไม่ได้มีแต่เรื่องสวยงามอย่างเดียว
Comments