top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

โชว์ของ Greyhound รอบนี้สำหรับเมืองที่ผู้คนล้วนมีชีวิตดีๆ ที่ลงตัวเอามากๆ

ผมติดตามผลงานของ Greyhound Original มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาและตอนนั้นมีเงินซื้อของเขาได้อย่างหรูสุดก็แค่เสื้อยืด ผมชอบความไม่ใช่แบรนด์ที่ทำเสื้อผ้าโวยวาย ประเภทที่ใส่แล้วดูแรงส์ ดูเทร็นดี้จนใส่ได้ทีเดียว คอลเล็คชั่นสุดท้ายที่ผมชอบมากคือ Quiet is a New Loud เมื่อสามปีก่อน ชอบที่ความเนี้ยบและความดิบไปพร้อมกัน แต่จากคอลเล็คชั่นนั้นมาเกรย์ฮาวด์ก็มีการเดี๋ยวเปลี่ยนเดี๋ยวเพิ่มดีไซน์เนอร์นี่นั่นกันอยู่พักใหญ่ ให้เกิดความงงๆ สำหรับคนที่ติดตามแบรนด์นี้มานานอย่างผม แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความงงๆ นี่มันก็ต้องมีกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของแบรนด์ที่อยู่มากว่าสามสิบปี

พศิน สอิ้งทอง (เสื้อยืด) และ บี-บดินทร์ อภิมาน แห่ง Greyhound Original

แต่บัดนี้ดูเหมือนทุกอย่างที่บ้านเกรย์ฮาวด์จะลงตัวแล้ว ดูจากผลผลิตของคอลเล็คชั่นนี้ที่ออกแบบที่สมบูรณ์ทั้งในแง่ของดีไซน์ สไตล์และสปิริตของแบรนด์ เป็นการ come back ด้วยผลงานที่เฉียบและซ่ากว่าที่เคยเป็น

 

เรื่อง: โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld ภาพจาก Greyhound จาก Elle Fashion Week 2019 @GreyhoundOriginal

 

โชว์

โชว์เริ่มด้วยเสียงกีตาร์เกรี้ยวกราดของเพลง “รูปไม่หล่อ” ทิ่มเข้ามาในความมืด แล้วพอไฟสว่างพรึ่บและโมเดลเดินฉับๆ ออกมาบนรันเวย์ที่มีสองข้างทางเป็นเสาไฟฟ้าสายไฟยุ่งเหยิง ก็ให้รู้สึกว่าเพลงนี้มันตอบโจทย์ความมั่วซั่วบ้าคลั่งของกรุงเทพฯ จังเลย

ก็เหมือนผู้คนบนถนนในกรุงเทพฯ ที่เดินในสปีดต่างกัน โมเดลของโชว์นี้ก็เป็นเช่นนั้น บ้างก็สับขาฉับๆ บ้างก็เดินช้าก้มหน้ากดมือถือ สื่อเรื่องราวของชีวิตหลากหลายในกรุงเทพฯ ชัดเจน จะมีไอ้ตัวทำโชว์พังก็คนนึง คือนายแบบฝรั่งที่ถือถุงผ้าสีเหลืองกับน้ำเงินที่เดินเร็วเกินเหตุเหมือนก่อนหน้านี้กลั้นเยี่ยวรอโชว์อยู่นานและตอนนี้ไม่ไหวแล้ว แต่ก็นั่นล่ะ แฟชั่นวีคทีไรทุกคนก็รู้กันดีว่านายแบบ นางแบบไทย เดินดีกว่าและอินเนอร์ดีกว่าโมเดลฝรั่งเสมอ

 

เสื้อผ้า


แรงบันดาลใจหลักของคอลเล็คชั่นคือ energy ของกรุงเทพฯ มหานครที่มีตึกล้านแปดและประชากรแปดล้านย่อมเป็นแหล่งแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยม แต่ก็เสี่ยงต่อความ cliche เช่นกัน โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีคนใช้กรุงเทพฯ มาเป็นแรงบันดาลใจกันเยอะๆ เช่นพอทำเรื่องกรุงเทพฯ ก็ต้องมีเสื้อที่อินสไปร์มาจากเสื้อกั๊กพี่วินไรงี้

แต่เกรย์ฮาวด์เขาไม่ได้เลือกสื่อสารกรุงเทพฯ แบบสื่อตรงแบบนั้น เพราะเหมือนเขาอยากเล่นเรื่องความหลากหลายของคาแร็คเตอร์ผู้คนในกรุงเทพฯ มากกว่า มันมีหลายลุคที่ดูแล้วนึกถึงใครสักคนในซอยบ้าน เช่นกางเกงที่คงอินสไปร์มาจากกางเกงขาก๊วยของอาแปะร้านชำกลางซอย แต่สังคยนาแพทเทิร์นใหม่ให้ดูกึ่งทางการใส่ไปพรีเซ็นต์งานแพงๆ ได้ ซึ่งต่อให้พรีเซ็นต์ไม่ผ่านแต่ลูกค้าอาจถามว่ากางเกงซื้อที่ไหน ส่วนชิ้นที่เด่นสุดคือลายพิมพ์ที่ล้อเลียนพลาสติกคลุมไซต์ก่อสร้าง เหมือนจะเสียดสีว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ก่อสร้างกันตลอดเวลา เมื่อไหร่มันจะลงตัวอย่างสโลแกนเสียที มีวันไหนที่คุณออกจากบ้านแล้วไม่เห็นการก่อสร้างบ้าง? เอางี้ ถ้าหนีไม่พ้นก็เอามาห่มตัวมันเสียเลย


พวกเสื้อเชิ้ตผู้ชายรูปทรงดูหล่อเหลา สัดส่วนความกว้างความแหลมของปกเสื้อกำลังดี มีลูกเล่นการวางกระเป๋าเสื้อในตำแหน่งแปลกๆ ในเรื่องของสี นอกจากสีขาว ดำ กากี ที่เป็นสีหลักของเกรย์ฮาวด์ รอบนี้มีสีเหลืองที่เด่นกว่าเพื่อน มาในชุดเดรสหลวมๆ บ้าง มาในกระโปรงทรงสอบบ้าง พูดถึงเดรสเราชอบไอ้ตัวสีขาวเปิดหลัง ที่ทรงกระโปรงเหมือนเอามือขยุ้มๆ แล้วเย็บให้เป็นทรง คือมันมีความทดลองและดูสตรองดี ตอนนางแบบเดินออกมานี่นึกถึงพวก art dealer และคอลเล็คเตอร์สาวๆ ในงานเปิดรอบ private view ที่ Art Basel ฮ่องกง


ที่มีเยอะมากและมาในหลากไซส์คือพวกกระเป๋า พวกใบเล็กๆ จะเป็นลายหนังสือพิมพ์ พวกใบใหญ่ๆ เห็นได้ชัดว่าเอาแรงบันดาลใจมาจากความพะรุงพะรังของนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็ค ส่วนทรงที่ผมชอบคือไอ้พวกทรงย่ามคาดตัว เพราะคิดว่าน่าจะล้วงโทรศัพท์สะดวกดีตอนนั่งแกร็บไบค์แล้วมีสายเข้า

บรรยากาศของคอลเล็คชั่นมีความทะมัดทะแมง แม้ชิ้นที่ทางการเช่นพวกแจ็คเก็ตสูทก็ไม่ได้เป็นทรงฟิตตัวหรือสลิมเสริมบ่าบ้าคลั่ง ก็เป็นไปตามนิยามของคำว่าทางการในปัจจุบันที่มันผ่อนคลายลงมาเยอะ และความที่มันผ่อนคลายไม่ขี้เก๊กและมีอารมณ์ขันแบบนี้กระมัง ที่ทำให้คอลเล็คชั่นนี้ดูจะได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ ดูจากการที่คนพูดถึงตั้งแต่ตอนที่แบรนด์เอารูปลงโซเชียลมีเดียหนึ่งอาทิตย์ก่อนโชว์ แล้วพอถึงวันโชว์เราจึงได้เห็นวัยรุ่นมาลงชื่อหน้างานเพื่อขอตั๋วยืนกันหนาแน่น

เป็นเวลาหลายปีที่ร้านอาหาร Greyhound Cafe ถูกพูดถึงมากกว่าเสื้อผ้า จนมีคนเข้าใจไปว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่เกิดจากร้านอาหาร ผมยังจำได้ว่าตอนที่ Greyhound Cafe สาขาแรกเปิดที่เอ็มโพเรี่ยมและได้รับความสนใจทันทีว่าน่าเข้า ก็เป็นเพราะบุคลิก ความคิดสร้างสรรค์และรสนิยมชัดเจนที่เสื้อผ้าเกรย์ฮาวด์สร้างมาเป็นสิบปีก่อนหน้านั้น คอลเล็คชั่นนี้ทำให้ผมจำได้อีกครั้ง ว่าที่อาณาจักรเกรย์ฮาวด์เติบโตไปได้ทั้งในและต่างประเทศแบบตอนนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นการทำเสื้อผ้าที่แม้จะขาว เทา ดำทุกคอลเเล็คชั่นแต่ก็ไม่เคยจำเจแบบนี้.

 

Comments


bottom of page