top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

ไม่คิดว่าการ gentrification อะไรนั่น เกี่ยวอะไรกันกับการมี Bangkok Design Week




ดีไซน์วีคก็คือ “เทศกาลออกแบบ” เช่นเดียวกับเทศกาลอาหาร เทศกาลหนัง เทศกาลคอสเพลย์ เทศกาลศิลปะ (เบียนนาเล่) เทศกาลแฟชั่น (แฟชั่นวีค) ฯลฯ กล่าวคือ แต่ละเทศกาลทำขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่ทำงานหรือสนใจในงานแขนงนั้นๆ และเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในสายงานได้โชว์งาน ได้นำเสนอไอเดียหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสาขาอาชีพของตัวเอง

.

แล้วถ้าคนดู นายทุน หรือหน่วยงานราชการ ไปดูแล้วอยากช้อปปิ้งไอเดียไปต่อยอดก็ยิ่งดี ส่วนใหญ่ผู้จัดทุกเทศกาลเขาก็จะช่วย connect ให้แบบไม่คิดค่าหัวคิว หรือคนที่ไปเดินเล่นเฉยๆ ถ้าดูแล้วเกิดอยากทำหนัง อยากเป็นนักออกแบบ อยากเป็นพ่อครัวขึ้นมาบ้างก็อาจได้รู้ว่าอยากเริ่มแนวไหน หรืออยากคุยกับใคร

.

ส่วนเรื่อง gentrification (buzzword ใหม่-ขอแปลคร่าวๆ ว่าการที่ย่านที่เคยถูกๆ โดนทุนนิยมกลืนจนกลายเป็นย่านแพงๆ) ไม่คิดว่าเกิดจากการมีดีไซน์วีค เพราะย่านอย่างอารีย์ หรือซอยนานาเยาวราชมันโดน gen มาเป็นสิบปีก่อนที่จะมีดีไซน์วีคด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าลองอ่านเรื่องอาการโดน gen ของย่านอย่าง Brooklyn, Meatpacking, Shoreditch, Marais หรือ Zhongshan ในไทเปจะพบว่ามีเส้นทางคล้ายๆ กัน

.






กิจกรรมด้านการออกแบบสเกลต่างๆ ของ Bangkok Design Week 2024

ย่านบรูคลินในนิวยอร์กโดน gentrificated อย่างหนักในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

คือเริ่มจากศิลปิน นักออกแบบ นักดนตรีจนๆ ไปเช่าอยู่กันเยอะเพราะย่านมันเถื่อนค่าเช่ามันเลยถูก แล้วก็ตามธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่ไม่ทำงานประจำ เงินจากการเขียนรูปหรือทำเพลงใช่กว่าจะพอกิน มันก็ต้องเอาบ้านเช่าตัวเองใช้หารายได้เสริม เช่นถ้าเช่าทาวน์เฮ้าส์สองชั้น ก็เปิดชั้นล่างทำบาร์ ทำออฟฟิศ ทำแกลเลอรี่ หรือทำทั้งสามอย่างในชั้นเดียว ส่วนชั้นบนเอาไว้นอน การดีไซน์ก็ทำแบบตามมีตามเกิด โชคดีหน่อยที่พวกนี้มันทำงานออกแบบเลยหาของแปลกๆ มาแต่งร้านได้ง่าย หรือไม่ก็แต่งด้วยสมบัติบ้าที่ขายไม่ออกของมันนั่นล่ะ

.

ก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วประมาณห้าปีต่อมาพอคนเริ่มพูดถึงเยอะขึ้น น้องพลอย น้องแพร หรือลูกคนรวยผู้มีความฝันอยากเปิดบาร์ เปิดคาเฟ่เล็กๆ ก็รู้สึกว่า หูวว ย่านนี้อาร์ตจัง น่าเอ็นดู เก๋อ่ะ น้องพลอยกับน้องแพรจึงไปชวนพี่โก้ พี่กิต น้องสกายและเพื่อนรวยๆ อีกห้าคนมาเปิดบ้าง ซึ่งพี่กิตก็จะไปสืบหาว่าใครเป็นเจ้าของตึกเจ้าของที่ ซึ่งส่วนใหญ่มักลงเอยที่เจ้าของทาวน์เฮาส์ทั้งก้อนนี้มีนามสกุลเดียวกับใครสักคนที่ครอบครัวคุณหนูเขารู้จักอยู่แล้ว

.

แล้วสักพักคอนโดก็ตามมา ส่วนสิ่งที่ตามมาท้ายสุด และเป็นสัญญาณว่าความถูก อาร์ต ความอินดี้ของย่านนั้นได้จบลงแล้ว คือร้านโอมากาเสะและร้านญี่ปุ่นแฟรนไซส์

.

ส่วนไอ้พวกศิลปินจนๆ ที่พูดถึงในตอนต้น มันโดนเจ้าของบ้านขึ้นค่าเช่าจนต้องย้ายออกไปตั้งแต่ก่อนจะมีคอนโดมาเปิดแล้วข่ะ พวกที่ยังเหลือ ก็อยู่แบบอยู่ไปบ่นไป เพราะร้านข้าวแกงจานละห้าสิบแม่งกลายเป็นคาเฟ่กาแฟแก้วละ 120 กันหมด ห้าย่อหน้าหลังนี่พูดถึงซอยอารีย์

.

กลับมาเรื่องดีไซน์วีค นี่เลยสงสัยว่าทำไมถึงไปคาดหวังให้เทศกาลเก้าวันต่อปีต้องทำหน้าที่เปลี่ยนบ้านแปลงเมือง คือจะให้การแม็ปปิ้งบนแทงก์น้ำหรือทำ lighting installation ในตึกร้าง ไปทำลายความเหลื่อมล้ำ ไปทำให้ทุกซอยที่มืดสลัวพลันสว่างสไว หรือไปทำให้ป้ายรถเมล์อัจฉริยะขึ้นในบัดดลได้ยังไงอ่ะ นั่นมันหน้าที่ของหน่วยงานไหนกันแน่? แล้วทำไมไม่เคยได้ยินคนคาดหวังอะไรแบบนี้กับ คอสเพลย์วีค อาร์ตวีค แฟชั่นวีค มิวสิควีค ฯลฯ บ้างเลย ทั้งที่เทศกาลเหล่านั้นก็เฉพาะกลุ่มเฉพาะทางเช่นเดียวกับเทศกาลออกแบบ

.

แล้วถ้างานออกแบบชิ้นไหนจะถูกมองว่าเป็น decorate ก็ถูกแล้ว เพราะการตกแต่งก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของงานดีไซน์ แล้วก็ไม่มีปัญหากับการที่คนจะออกไปเดินถ่ายรูปเล่นแล้วจบ เพราะเขาได้มีกิจกรรมสันทนาการอื่นนอกจากเดินห้างบ้าง มิวเซียมเมืองนี้ก็มีให้เดินอยู่แค่ไม่กี่อัน ในขณะที่คนชอบเดินเล่นดูงานศิลปะมีเยอะขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นี่คิดว่าปีนึงควรจะมีเทศกาลศิลปะและออกแบบให้บ่อยกว่านี้ด้วยซ้ำ


 

ขอขอบคุณภาพจากเพจ Bangkok Design Week

Comments


bottom of page