“ผู้ชายไม่ได้เปิดเพลงดีกว่าผู้หญิง และเราไม่ได้ใช้จิ๋มเปิดเพลง” ดีเจ แอนนี่ แม็ค เคยกล่าวไว้อย่างเจ็บแสบ
บทความนี้สนับสนุนโดย Smirnoff
จะขับเครื่องบิน ซ่อมรถ ชกมวย ผู้หญิงก็ทำได้ทั้งนั้น แต่ความโดดเด่นในอาชีพการงานมักเป็นของผู้ชายเสมอ แม้แต่อาชีพที่ทุกคนคิดว่าผู้หญิงทำได้ดีกว่าอย่างการทำอาหาร แต่เชฟดังๆ ในโลกก็เป็นผู้ชายแทบทั้งหมด รวมถึงอาชีพที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการแบ่งเพศอย่างดีเจ
ทำไมถึงไม่ค่อยมีดีเจผู้หญิง?
นี่เป็นคำถามที่ Smirnoff ตั้งขึ้นหลังจากสำรวจจำนวนดีเจหญิงและชาย ที่มีตัวเลขต่างกันทั้งจำนวนคนและค่าตัวแบบฟ้ากับเหว สิ่งที่เขาทำคือสร้างปฏิบัติการชี้ปัญหาให้เห็นชัดขึ้น ด้วยการทำแคมเปญจน์ Smirnoff “We’re Open” เพื่อสร้างความทัดเทียมกันหลังบู๊ธดีเจของหญิงและชาย
นี่คือวิกฤตทางดนตรีที่เป็นประเด็นเด่นในระดับสากล ดนตรี EDM เป็นตัวอย่างที่ชัดสำหรับประเด็นนี้ ด้วยภาพลักษณ์ของดนตรีที่สร้างโดยชายผิวขาว เพื่อคนขาว ลิสต์สำคัญต่างๆ เช่นลิสต์ของ Forbs หรือ DJ Mag ก็ชี้ให้เห็นว่า ดีเจที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นชายผิวขาว (มี Steve Aoki ที่ไม่ใช่ แต่ก็เกือบๆ) โดยเฉพาะลิสต์ของ Top 100 ของ DJ Mag ทุกปี ที่แทบจะเป็นลิสต์ชายล้วน มีผู้หญิงแทรกอยู่มากสุดก็แค่ 4 คน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ที่ DJ Mag ทำลิสต์ครั้งแรกในปี 2004 บางปีก็ไม่มีผู้หญิงติดอันดับเลยเลย (ปี 2011)
ทำไมไม่ค่อยมีดีจผู้หญิง? หรือเพราะผู้หญิงเปิดเพลงไม่เก่งเท่าผู้ชาย? ดีเจ Annie Mac เคยตอบแสบๆ ว่า “ผู้ชายไม่ได้เปิดเพลงดีกว่าผู้หญิง และเราไม่ได้ใช้จิ๋มเปิดเพลง แต่ความจริงจากประสบการณ์ที่ฉันเจอมา เห็นได้ชัดว่าพวกเขาคิดว่าเราใช้ และมันทำให้ทุกอย่างยากไปหมดสำหรับเรา” ในบทความนั้นเธอบอกว่า เพราะการที่ผู้ชายถูกนึกถึงก่อนเสมอ ทำให้เกิด sterotype ว่าผู้หญิงทำงานไม่เป็น ปรับเสียงมิกเซอร์เองก็ไม่เป็น ผู้ชายจะเข้ามาช่วยบ่อยๆ โดยที่เธอไม่ได้ขอและทำเองได้
สาเหตุหลักของการไม่มีดีเจผู้หญิงนั้น ตอบได้ง่ายมาก: ก็เพราะไม่ค่อยมีคนจ้างดีเจผู้หญิง
หนึ่งตัวแปรที่สำคัญที่สุดของซีนดนตรี คือ party promoter / booker (คนเลือกดีเจ) / สปอนเซอร์ / เจ้าของคลับ และคนจัดเทศกาลดนตรี ที่ถ้าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสัดส่วน มันก็ต้องเริ่มที่ตัวเลข เช่นให้มีไลน์อัพของดีเจหญิงและชายในสัดส่วนพอๆ กันในแต่ละงาน
แต่โปรโมเตอร์จัดงานก็ย่อมอยากได้ดีเจชื่อดังเพื่อดึงดูดให้คนซื้อตั๋ว และดีเจที่ดึงคนได้ดี ก็คือดีเจที่ติดอันดับ ซึ่งก็มีแต่ผู้ชาย มันก็เลยวนลูปกันอยู่แบบนี้ จะหวังให้โปรโมเตอร์ยอมเสี่ยงเจ๊งเพื่อยืนหยัดเคียงข้างความเท่าเทียมทางเพศก็ดูจะเป็นการขอที่เขาไม่กล้าเสี่ยงช่วย นอกเสียจากจะมีสปอนเซอร์ ดังนั้น การที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Smirnoff ทำโครงการส่งเสริมดีเจผู้หญิงแบบนี้ จึงเป็นการก่อกวนวงจรการจ้างงานแต่ดีเจผู้ชายให้เปลี่ยนทิศได้บ้าง
ว่าแต่ ซีนดีเจในกรุงเทพฯ มีปัญหาขาดดีเจผู้หญิงแบบเมืองนอกหรือเปล่า? คำตอบคือ — ไม่มี ขอแแสดงความยินดีด้วย
ข้อดีของซีนปาร์ตี้ในเมืองไทยคือ เป็นซีนที่อายุยังน้อย เพราะมีประวัติย้อนหลังไปแค่ราว 20 ปี ถ้าไม่นับซีนดิสโก้แบบยุค The Palace (ยุค 80s-90s ตอนต้น) เพราะนั่นเป็นประวัติศาสตร์ที่จบลงไปแล้ว และเรากำลังอยู่ในช่วงเอื่อยของประวัติศาสตร์ซีนเต้นรำยุคใหม่ ที่เริ่มต้นช่วงกลางยุค 90s โดยคลับหัวหอกอย่าง Speed และ Deeper (สีลมซอยสี่) เป็นตัวเปิดตำนานหน้าใหม่ เช่นดียวกับ Cafe Democ ถนนราชดำเนิน บาร์เล็กๆ ที่เป็นเวทีแรกให้ดีเจเก่งๆ มากมายของกรุงเทพฯ แต่ทุกที่ๆ ที่พูดชื่อมานี้ ปิดตัวไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับทุกที่ๆ จะพูดถึงในย่อหน้าต่อไป
ที่บอกว่าเราอยู่ในช่วงเอื่อย เพราะความคึกครื้นของซีนเต้นรำกรุงเทพฯ ตอนนี้ เทียบกันไม่ติดกับ “ยุค MySpace” หรือช่วงปี 2005-2010 ที่มีแนวดนตรีหลากหลาย และยังมีบาร์ “อันเดอร์กราวด์” จริงๆ แบบที่ชั้นล่างเป็นร้านเน็ต แต่ชั้นสามเป็นปาร์ตี้เพลงเรฟขนาด 1 คูหา ในขณะเดียวกันก็มีคลับหรูหราเปิดดนตรีแนวใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เพลง Top 100 ของ MTV เช่น Bed Supper Club และคลับในตำนานที่สำคัญกว่านั้น เช่น Astra (RCA) และ Club Culture (ราชเทวี) ในยุคเฟื่องฟูของคลับซีนกรุงเทพฯ ดีเจผู้หญิงมีเยอะพอกับผู้ชาย
เราไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเพศมาตั้งแต่ต้นแล้ว ถ้ามันจะมีผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ก็เพราะผู้หญิงไม่ได้อยากเป็นดีเจเอง ไม่ใช่เพราะโดนกีดกัน
ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่สุดท้ายก็เหมือนทุกซีนบันเทิงของไทย ที่ค่อยๆ ง่อยลงเพราะความผีเข้าผีออกของสภาวะการเมือง ใครที่เคยคิดจะยึดอาชีพดีเจเลี้ยงชีพ ก็ต้องล้มเลิกเพราะกฏหมายเวลาปิดคลับบาร์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่สิ้นสุด ดีเจหญิงชายเมื่อไม่มีงาน ก็แยกย้ายกันไปมีลูกมีผัว ประกอบอาชีพอื่นกันหมด
แต่มีดีเจสุภาพสตรีคนหนึ่ง ที่อยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค MySpace และปัจจุบันก็ยังคงอยู่ดี เธอคือ ดีเจนาคาเดีย (DJ Nakadia) ที่คนในซีนปาร์ตี้เทคโนจะรู้จักเธอกันดี และถ้าถามว่าดีเจไทยคนไหนที่เรียกว่าเป็นดีเจไทยระดับอินเตอร์ได้ ก็ต้องตอบว่าดีเจนาคาเดียนี่ล่ะ เธอเป็นหนึ่งในดีเจที่ Smirnoff ชวนเข้ามาร่วมโปรเจ็คต์เพื่อความทัดเทียมทางเพศนี้
ดีเจนาคาเดียโผล่มาแบบงงๆ ช่วงปี 2004 ด้วยการไล่โพสต์รูปงานที่เธอไปเล่นตามวอลล์ของ MySpace ของคนในซีนปาร์ตี้และดนตรี เป็นภาพเธอกำลังเปิดเพลงท่ามกลางคนเป็นหมื่นใน Love Parade ที่เบอร์ลิน พร้อมแคปชั่นประมาณว่า “Just DJ in front of 30,000 people. Felt so great! – Nakadia“ ตอนนั้นการแปะโปรโมทงานตัวเองบนวอลล์ MySpace คนอื่นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเสียมารยาท แต่ก็ทำให้หลายคนงงว่า DJ Nakadia นี่คือใคร มันจะอะไรกันนักกันหนา คนส่วนใหญ่เห็นเธอเป็นเรื่องตลกให้หัวเราะคิกคัก
แต่ตอนนี้ สิบกว่าปีผ่านไป เธอพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้ว ว่าหัวเราะทีหลังดังกว่า ปัจจุบันอดีตสาวโรงงานบ้านนอกคนนี้ ประจำอยู่ในเยอรมันนี มีงานถี่ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป อิบิซ่าก็ไปเปิดบ่อย ล่าสุดก็ได้ไปเล่นที่ Tomorrowland แล้ว ตอนนี้ที่เธอเป็นที่รู้จักขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เธอก็ไม่เคยดูถูกตัวเองด้วยการปิดบังหรือปรับแต่งปูมหลังที่ไม่เริ่ดหรู แม้เธอจะยังไม่ได้ดังถึงขนาดติดลิสต์สำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ นาคาเดียกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ดีเจไทยหลายคน คนที่สู้ชีวิตและทำงานหนักแบบนี้ ถ้าบอกว่าไม่ใช่แรงบันดาลใจแล้วจะให้เรียกว่าอะไร
ดีเจหญิงในกรุงเทพฯ
“ซีนเมืองไทยมันแข่งขันไม่ได้ เพราะมันเล็กเกินจะแข่งกัน” ดีเจ MaeHappyAir จากปาร์ตี้ Go Grrrls ให้ความเห็น “สำหรับกรุงเทพฯ เมย์คิดว่าดีเจผู้หญิงได้รับความสนใจมากกว่าผู้ชายเสียอีก ดูจากงานไหนที่เมย์ไปเปิดแล้วมันมีการโปรโมทคู่ ว่าเป็น female DJ [งานนั้น] คนมันเยอะกว่าเดิม”
ดีเจหญิงที่เมย์แนะนำ มี DJ Nakadia ที่เราเพิ่งพูดถึงไป และ Mendy Indigo ที่ตอนนี้เริ่มมีทัวร์เปิดเพลงในยุโรปแล้ว ส่วนดีเจ NT66 ก็เป็นเทคโนน้องใหม่ ที่เมย์บอกว่าเธอมีสไตล์การเลือกเพลงแตกต่างจากที่เคยฟังมา
ความเห็นเรื่องดีเจผู้หญิงในไทยไม่ได้ขาดแคลนของเมย์ เป็นไปในทางเดียวกับพิชชี่ ดีเจสาวจาก Quay Records และดีเจเอี่ยวจาก Trasher
“เราว่า สมัยนี้ดีเจผู้หญิงเยอะกว่าเดิมนะ” ดีเจพิชชี่บอก “เพราะสื่อหลายๆ อย่างมันทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ มันก็มีทั้งคนที่อยากเป็นดีเจเพราะเห็นว่าเท่ และคนที่อยากเป็นเพราะอินกับเพลงจริงๆ แต่เราคิดว่า ถ้าคนมันอินจริงๆ อยากจะเป็นอะไรสักอย่าง ถ้าเขารักมันจริงๆ เขาก็คงทำมันไปเรื่อยๆ ค่ะ” พิชชี่เป็นดีเจอาชีพมาเกือบ 20 ปี เล่นเพลงแนวโอลด์สคูลฮิปฮิปและฟังก์เป็นหลัก
ส่วนดีเจเอี่ยวแห่ง Trasher Party ให้ความเห็นว่า “ถ้าไม่มองแค่ตลาดกรุงเทพฯ [ก็จะพบว่า] ที่จริงดีเจผู้หญิงไม่น้อยครับ ทั้งเป็นดีเจเพียวๆ แล้วก็ดีเจที่เป็น MC ด้วย ผมมองว่า แค่บางคนไม่ค่อยได้ทำงานในกรุงเทพซะมากกว่า เพราะการแข่งขันมันสูง ส่วนเรื่องที่ว่าเราตัดสินดีเจผู้หญิงเรื่องหน้าตา มาก่อนฝีมือ ผมว่ามันก็ยังมีอยู่ไม่น้อยครับ”
เรื่องผู้หญิงถูกตัดสินที่รูปร่างหน้าตาก่อนฝีมือ ก็เป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอยู่จริง แต่เรากลับคิดว่า–แล้วไง? ใครรู้ว่าตัวเองหน้าตาดี มีนม อยากจะใช้สิ่งเหล่านั้นช่วยสร้างชื่อเสียง ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร Calvin Harris ยังเปลือยกายถ่ายโฆษณากางเกงใน คนก็บอกว่าหล่อ เท่ เซ็กซี่ดี และที่เขาทำได้ก็เพราะเขาหล่อจริง แต่สุดท้ายดีเจก็อยู่ได้ด้วยสไตล์การเปิดเพลง การสร้างฐานแฟนของตัวเอง และการทำอย่างไรให้คนบนแด๊นซ์ฟลอร์เต้นไม่หยุดอยู่ดี
“เข้าใจว่าทำไมคนถึงมองแบบนั้น อาจเป็นเพราะคลิปวีดิโอที่ปล่อยมาตั้งแต่เริ่มแรกที่ทำอาชีพนี้” ดีเจโซดาจากเกาหลีเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อถูกถามว่าแฟนๆ จะจดจำความเซ็กซี่มากกว่าผลงานหรือเปล่า “แต่สิ่งที่อยากบอกกับทุกคน คือเราเริ่มต้นการเป็นดีเจจากการใช้เทิร์นเทเบิ้ล (เครื่องเล่นแผ่นเสียง) หลายครั้งที่เราโชว์การใช้เครื่องมือนี้ผ่านคลิปวีดิโอ บางคนมองว่าสร้างภาพรึเปล่า อันนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่อย่างไรก็ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าเรามีความสามารถ ด้วยการพยายามออกงานโชว์ให้มากขึ้น เพื่อให้คนเห็นว่าเล่นเครื่องมือพวกนี้ได้จริงๆ”
เมื่อซีนปาร์ตี้ในเมืองไทยไม่มีปัญหาเรื่องความทัดเทียมของดีเจหญิงและชาย เราก็ไม่ต้องพยายามไปทำให้มันมีเหมือนเมืองนอกเขา และเราควรจะช่วยกันรักษาบาลานซ์นี้ให้ดีต่อไป
คลับ บาร์ ในกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหากับการจ้างดีเจผู้หญิง คนดูก็ไม่มีปัญหากับการเต้นกับเพลงที่ผู้หญิงเปิด แต่ถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเมื่อไหร่ คนที่จะบรรเทาปัญหานี้ได้ดีที่สุด ก็คือผู้หญิงด้วยกัน ที่ต้องส่งเสริมกัน ไม่ดูถูกกัน และถ้าเป็นทีมผู้จัดเอง ก็ควรเป็นคนแรกในที่ประชุมที่ทักขึ้นว่า “ทำไมงานนี้ไม่มีดีเจผู้หญิงเลย?”
Comments