โดย โน้ต พงษ์สรวง @dudesweetworld
พอทำปาร์ตี้แบบเดือนละครั้งมา 17 ปีติดกัน คุณก็จะไม่ตื่นเต้นกับปาร์ตี้ใดๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว แม้แต่ปาร์ตี้วันเกิดตัวเองยังขี้เกียจไป นี่ผมหมดความตื่นเต้นขนาดที่ว่าพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นเดือนครบรอบ 16 ปี Dudesweet ผมยังลืมเลย สองเดือนต่อมาคิดได้อีกทีก็ เออ ลืมว่ะ เอาไว้ก่อน เดี๋ยวปีหน้า (คือปีนี้) ค่อยจัดแล้วกัน แต่ปีนี้เราจะจัดปาร์ตี้ครบรอบ 17 ปี ในวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน ที่คลับ Whiteline สีลมซอย 8 เราเหมามันทั้งตึก จัดสามชั้น สามแนวเพลง อิ้นดี้, ฮิปฮอป/RnB, เทคโน หมดปาร์ตี้ครั้งนี้เราจะเข้าสู้ยุคใหม่ เอาน้องรุ่นใหม่มารันปาร์ตี้แทนแล้ว ส่วนเราจะพักตับไปเขียนหนังสือ ทำคอนเท้นต์กันให้ดีๆ
สำหรับน้องๆ ที่ไม่รู้ว่า Dudesweet คืออะไร เพราะวันที่พี่เริ่มทำ น้องๆ อาจจะยังเป็นเบ่บี๋นั่งเขี่ยเจี๊ยวตัวเองเล่นแล้วหัวเราะคิกคักอยู่เลย แล้วพอเป็นน้องเป็นวัยรุ่น Dudesweet ก็เลิกฮิตไปแล้วพร้อมๆ กับดนตรีร็อค และน้องๆ ต้องเติบโตมากับ EDM...พี่เห็นใจมาก
Dudesweet คือปาร์ตี้พังก์ร็อคที่เริ่มกันแบบดิบๆ เขรอะๆ จัดครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2002 ที่ร้านอาหารร้างเสื่อมโทรมบนถนนข้าวสาร ร้างแบบที่ก่อนงานเริ่มทีมเราต้องช่วยกันขัดห้องน้ำให้ไม่ดูน่าสังเวชนัก แต่กระนั้นก็ยังมีแมลงสาปไต่โถขึ้นมาดูคุณฉี่ คืนนั้นเราเปิดเพลงด้วยซีดีและเทปคลาสเซ็ตที่ต้องกรอหัวเพลงที่จะเล่นให้เสร็จมาจากบ้าน ถึงวันนี้เราตระเวนจัดมาหมดแล้ว ทั้งในคลับไฮโซ บาร์โลโซ ในหอศิลป์ ในโกดังร้าง ในโรงพยาบาลร้าง ชั้นใต้ดิน บนดาดฟ้าตึกใบหยก บนรถเมล์ บนเรือ หรือแม้แต่บนเครื่องบิน ตอนนี้เหลือที่ยังอยากจัดให้ได้ก็มีแค่ในวัดกับสถานีตำรวจ
การเดินทางอันยาวนานย่อมได้มาซึ่งเรื่องราวมากมาย และเมื่อเป็นการเดินทางของคนทำปาร์ตี้ มันก็มีเรื่องบ้าคลั่งเยอะแยะ ซึ่งเอาจริงหลายเรื่องผมก็ลืมไปแล้วเพราะเมา และความซวยอีกอย่างคือปาร์ตี้เราถือกำเนิดขึ้นในยุคมือถือยังถ่ายรูปไม่ได้ เช่นพวกโนเกีย อิริคส้น แบล็คเบอรี่ต่างๆ ที่ถ่ายรูปไม่เคยสวย แต่ยุคนั้นมันก็ไม่มีเหตุผลให้ถ่ายรูปในปาร์ตี้อยู่ดี เพราะโซเชียลมีเดียยังไม่มีให้ลง และโทรศัพท์ไม่มีระบบฟอร์เวิร์ดรูปแบ่งเพื่อนดู และที่สำคัญคือกูจะเต้น กูจะเปิดเพลง กูไม่ว่างมาถ่ายรูป ดังนั้นภาพส่วนใหญ่ที่ถูกรวบรวมไว้ในหอหมายเหตุของ Dudesweet (อันที่จริงก็เป็นแค่ฮาร์ดไดร์ฟโตชิบ้าสีดำขนาดเท่าฝ่ามือเท่านั้นล่ะ) ส่วนใหญ่จะเริ่มตอนปี 2009
เมื่อกี้บอกว่าเลิกตื่นเต้นกับปาร์ตี้ให้ฟังดูคูลๆ รุ่นใหญ่ไปงั้น แต่ความจริงคือพอถึงคืนปาร์ตี้ Dudesweet ทีไร ผมก็ยังตื่นเต้นเหมือนครั้งแรก ตื่นเต้นที่ได้เจอผู้คนที่มาปาร์ตี้เรา แม้ตอนนี้ปาร์ตี้ Dudesweet มันจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนก่อนแล้ว แต่ผมก็อิ่มเอมทุกครั้งที่มีคนมา จะแค่สิบคนหรือร้อยคนก็เถิด ก็ปาร์ตี้เราก็เริ่มจากคนหลักสิบอยู่แล้ว
และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความโชคดีที่สุดของอาชีพคนจัดปาร์ตี้ คือการได้ยืนอยู่หน้าสุดของห้องเสมอ --นั่นคือที่บู๊ตดีเจ เพราะจากมุมที่ผมยืน เมื่อมองลงไปคุณจะได้เห็นภาพผู้คนในช่วงเวลาที่เขามีความสุขสนุกสนาน ไม่มีที่ไหนหรอกที่ผู้คนจะปลดปล่อยเหมือนในปาร์ตี้ พวกเขามาเพื่อดนตรี -- ดนตรีที่เราเปิด
ถ้าจะเล่าต่อไปว่าปาร์ตี้ Dudesweet ผ่านอะไรมาบ้างมันก็จะเวิ่นเว้อเกินไปแล้ว คือสุดท้ายมันก็แค่ปาร์ตี้อ่ะนะ ซึ่งเป็นอะไรที่ใครก็ทำได้ ดังนั้น เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กว่าและจะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงกับตาตัวเองมาตลอด จากมุมมองหน้าสุดของฟลอร์ นั่นคือ...
วิวัฒนาการแฟชั่นในปาร์ตี้ Dudesweet ใน 17 ปีที่ผ่านมา
โดยผมจะแบ่งออกเป็นสามยุค
2002-2005
ปลายลมตดฮึบสุดท้ายของแฟชั่นยุค 90s
ในภาพล็อตนี้จะเห็นคนนุ่งสั้นและสายเดี่ยวอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากเท่าตอนนี้ เพราะเชื่อไหมว่าครั้งหนึ่งในช่วงปลายยุค 90s ผู้หญิงนุ่งสั้นใส่สายเดี่ยวออกจากบ้านเคยเป็นประเด็นที่สังคมก่นด่าอยู่เกือบสองปี ผมเดาว่าเทร็นด์สายเดี่ยวมันเริ่มตอนปี 1993 ที่ เคต มอส ใส่สลิปเดรสไปปาร์ตี้ในลอนดอนแล้วเป็นลุคที่ฮือฮาไปทั่วโลก แล้วพอประมาณปี 1996 สายเดี่ยวก็มาถึงเมืองไทย บุกเบิกโดยค่ายโดโจซิตี้ที่ให้น้องๆ วัยใสในค่ายได้โชว์เนื้อสาวกระจ่างใสในนิตยสาร Katch
นิตยสาร Katch (ขอขอบคุณภาพจาก The Cloud )
ช่วงปี 2000-2006 เป็นช่วงที่สื่อแบบแผนอันได้แก่นิตยสาร วิทยุ และทีวีเริ่มจับทางธุรกิจกันไม่ถูกและไปกันไม่เป็น ก่อนเข้าสหัสวรรษใหม่คนกำหนดเทร็นด์ดนตรีคือรายการวิทยุและช่องดนตรีอย่าง MTV หรือ Channel [V] และค่ายเพลงต่างๆ มันคือยุคที่ถ้า MTV บอกว่าวงนี้คูล ทันใดนั้นวงนั้นก็จะคูล แต่เดี๋ยวนี้ที่ทางเลือกอยู่ปลายนิ้วของทุกคนแล้ว ถ้า MTV มาบอกคุณว่าวงนี้คูล คุณก็คงถามกลับไปว่า who the fuck are you? กล้าดีหยั่งไรมาบอกฉันว่าอะไรคูลไม่คูล ไปเล่นตรงโน้นไป๊! How dare you!
แฟชั่นผูกกับดนตรีมาตลอด แต่พอถึงปี 2000 ที่คนเห็นอะไรกว้างขึ้น ก็ไม่มีใครแต่งตัวตามนักร้องค่ายแกรมมี่ อาร์เอสอีกต่อไปแล้ว ช่วงปี 2000-2006 สามสื่อที่มีอิทธิพลต่อเทร็นด์แฟชั่นไทยคือ ค่ายโดโจ นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ และนิตยสารลิปส์
ถาม: ตอนนั้นวัยรุ่นซื้อเสื้อผ้าใส่ไปปาร์ตี้กันที่ไหน?
ตอบ: สยามสแควร์และจตุจักร
สองตลาดนี้ทาร์เก็ตต่างกัน ลุคคุณหนูจะช็อปที่สยาม ลุคหนุ่มสาวเซอร์ย่อมไปจตุจักร หนึ่งในเทร็นด์ 90s ที่ยังค้างอยู่ถึงกลางยุค 2000 และขายกันทั้งจตุจักรคือเสื้อคอโปโลเข้ารูป กางเกงขาม้า และเสื้อเชิ้ตเข้ารูปซึ่งผมเองก็มีอยู่หลายตัวทีเดียว ใครที่บอกว่าแฟชั่นยุค 90s มีแต่เสื้อตัวใหญ่ๆ แสดงว่าไม่รู้จริง เพราะเสื้อ oversize มันฮิตสำหรับเด็กวัยรุ่นเบสิคน่าเบื่อๆ ที่มักจะมีแม่น่ารำคาญ หรือไม่ก็สาวหวีสับหิ้วหลุยส์รุ่นขนมจีบ แต่ถ้าอยากจะแก่น อยากจะซ่า อยากจะบริตป๊อปคือต้องใส่เสื้อยืดรัดรูปมีโลโก้สินค้าอะไรสักอย่างที่หน้าอก ซึ่งเสื้อแบบนั้นมันเป็นลุคที่ใส่ออกมาให้รอดยากมากถ้าคุณไม่ใช่วงโมเดิร์นด็อกหรือลิฟต์กับออย ส่วนผมใส่แล้วตายแบบไม่รู้ตัวไปหลายรอบ ทางเพื่อนๆ ก็อึดอัดที่จะเตือน จนมันต้องประชุมกันว่าจะหาวิธีบอกผมอย่างไรดีว่าใส่แล้วทุเรศ ก็เลยต้องเลิกใส่เพราะกลัวไม่มีเพื่อนชวนไปเดินสยาม แต่ก็ยังเก็บเอาไว้ใช้จับหูหม้อแกงอยู่หลายปี
2006-2012
MySpace Fashion
สยามพาราก้อนเปิดในเดือนธันวาคมปี 2005 ที่จำได้เพราะวันที่เขาจัดงานเปิดห้าง Dudesweet เราก็มีปาร์ตี้ที่ร้าน Astra ใน RCA พอดี (ปัจจุบันร้านนั้นปิดไปแล้ว) และมีคนแต่งตัวหรูหราจัดเต็มมาจากงานพาราก้อนกันเยอะมาก ซึ่งโดนกับธีม American Prom Night ในคืนนั้นของเราพอดี
แต่พาราก้อนไม่ได้เป็นตัวเปลี่ยนแฟชั่น ที่เอ่ยชื่อเขาขึ้นมาเพราะผมมักจะปักหมุดไว้ว่าแฟชั่นไทยทั้งระบบเริ่มมีการเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงปีที่พาราก้อนเปิด เพราะหลายอย่างมันมาพร้อมกันในช่วงปี 2005-2008 เช่น แบรนด์ไทยเปิดใหม่เมื่อสามสี่ปีก่อนเริ่มแข็งแรงมากในช่วงนี้ อาทิ สามทหารสาว Sretsis, Disaya, Kloset ที่ตอนนั้นโด่งดังกันไปถึงยุโรป อเมริกา มันเป็นช่วงปฏิวัติลุคใหม่สตรีไทยจริงๆ จากที่แต่ไหนแต่ไรมีแต่ลุคลูกสาวกำนัน ตอนนี้พวกเธอแต่งตัวฟรุ้งฟริ้งกันแล้ว นอกจากนี้ผู้หญิงที่นุ่งสั้นโชว์เนื้อหนังก็ไม่มีใครมองว่าดอกทองอีกต่อไป GO WOMEN!
ถาม: คืนนี้เป็นวันศุกร์ แล้วเมื่อหนุ่มสาวแต่งตัวสวยเสร็จแล้ว เขาไปเที่ยวไหนกัน?
ตอบ: ก็ไปปาร์ตี้ Dudesweet นี่ล่ะ อันนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินเลย เพราะเป็นเรื่องที่ผู้นำแฟชั่นรุ่นนั้นเขารู้กันดี ไม่เชื่อไปถามนิตยสารแฟชั่นเล่มไหนในยุคนั้นก็ได้ ทั้งโมเดล ดีไซเนอร์ ช่างภาพ สไตล์ลิสต์เขามากันครบทุกเล่มทุกแบรนด์ และถ้ากลับไปเช็คข้อมูลการสำรวจตลาดเหล้าและ nightlife ทุกสำนักในช่วงปี 2004-2010 คุณก็จะเจอข้อมูลตรงกันว่า Dudesweet เป็นแหล่งรวมวัยรุ่นที่เป็น trendsetter ของกรุงเทพฯ
เฮ้อ...วันวานอันแสนหวาน
ตอนนั้นปาร์ตี้เราจัดที่ Club Culture (ปิดไปแล้ว) เป็นหลัก แต่ปาร์ตี้เราก็ไม่ได้มีอิทธิพลกำหนดเทร็นด์ใดๆ มันเป็นแค่พื้นที่ให้คนที่ชอบแฟชั่นอยู่แล้ว เขาได้แต่งตัวมาปล่อยผีแฟชั่น เพราะสิ่งที่มีอิทธิพลต่อแฟชั่นจริงๆ ในตอนนั้นคือ --MySpace
ในช่วงปี 2005-2008 แบรนด์ใหญ่ของโลกอย่าง ชาแนล, ดิออร์, มาร์ค เจคอบส์ ต้องจ้างพนักงานหนุ่มสาวมาเล่น MySpace เพื่อรายงานว่าตอนนี้เด็กเขาฮิตอะไร ไปเที่ยวไหนกัน ฟังเพลงอะไรกัน เพราะมันคือยุคแรกที่สื่อหยิ่งยะโสอย่างนิตยสารไม่มีอิทธิฤทธิอิทธิพลชี้นำกำหนดเทร็นด์อีกต่อไป นอกจากนี้การใส่แบรนด์ใหญ่ออกจะเป็นเรื่องเสี่ยว อยากเท่ต้องหาใส่แบรนด์อินดี้หน้าใหม่ในตอนนั้น เช่น Alexander Wang, Proenza Schouler, Opening Ceremony วัยรุ่นดูการแต่งตัวของวงอินดี้เท่ๆ แหล่งกำเนิดความฮิปอยู่ที่ย่านโอลด์สตรีทและชอร์ดิตช์ในลอนดอน ที่ช่างภาพปาร์ตี้ The Cobra Snake มักไปถ่ายรูปวัยรุ่นเปรี้ยวๆ มาลงบล็อกของเขา
MySpace เป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำหรับนักดนตรี นักออกแบบและศิลปินอิสระเป็นหลัก ดนตรีมีส่วนสำตัญอย่างมากในการพลิกโฉมแฟชั่นช่วงนี้ หลายวงแจ้งเกิดจาก MySpace เช่น Arctic Monkeys ก็เป็นหนึ่งในนนั้น มันเป็นช่วงปีที่เกิดวงดีๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด ปีที่ดีมากๆ ของดนตรีคือ 2004-2005 และเมื่อซีนดนตรีคึกคัก ผู้คนก็เกิดแรงบันดาลใจในการแต่งตัว และการแต่งตัวไปไหนก็ไม่สนุกเท่าไปปาร์ตี้และคอนเสิร์ต
ช่วงนี้ยังเป็นการเติบโตอย่างมหัศจรรย์ของ fast fashion อย่าง Topshop, H&M และท็อปที่สุดในหมวดเดียวกันคือ American Apparel ที่ตอนนี้เจ๊งไปแล้ว
สิ่งที่เด่นชัดที่สุดของแฟชั่นช่วงนี้คือสีสันที่จัดจ้านและแวววาว เครื่องประดับชิ้นใหญ่ๆ แว่นตาเนิร์ดๆ ผ้าพันคอทาร์ทัน (tartan) ที่ในปาร์ตี้ร้อนขนาดนั้นมึงก็ยังพันกันมาได้ แฟชั่นยุค MySpace นี้ ซิลลูเอ็ตโดยรวมของผู้หญิงจะสลิมมากจนถึงฟิตแนบเนื้อไปเลย เช่นเลกกิ้ง (legging) สีๆ หรือกางเกงดิสโก้แพนต์ของ American Apparel ที่ฮิต แบบว่า มากกกกก และผมชอบเรียกมันว่ากางเกงรัดโมะ
อย่างหนึ่งที่ควรสังเกตคือในยุคนี้ผู้หญิงจะคิ้วบางเสียส่วนใหญ่ ผมเคยคุยเรื่องนี้กับปุ๊ก จงกล แฟชั่นเอดิเตอร์นิตยสารโว้ก เธอบอกว่าสมัยนั้นมันยังไม่มีทางเลือกหรือนวัตกรรมเครื่องสำอางค์สำหรับเขียนคิ้วมากมายเหมือนตอนนี้ และเมื่อคิ้วบาง รองพื้นก็จะบางไปด้วย นอกจากแฟชั่นคิ้วบางแล้ว นี่คือยุคที่การใส่บิ๊กอายส์ฟีเวอร์มากๆ
2012-Now
eBay Chic / Instagram Shop
“ฝากร้านด้วยนะค่ะ” (จงใจสะกดผิด) ถ้าเป็นก่อนปี 2010 ประโยคนี้มีไว้เอ่ยปากรบกวนร้านข้างเคียงตอนแม่ค้าจะวิ่งไปฉี่ แต่พอปี 2010 เป็นต้นมา มันคือประโยคที่เราเห็นทุกวันในโซเชียลมีเดีย
พอเข้าปี 2010 ตลาดแฟชั่นหลากหลายขึ้นกว่าเดิมจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สาเหตุหลักก็เพราะกว่าคนไทยจะเริ่มกล้าจ่ายเงินซื้อของในอินเตอร์เน็ตก็ช่วงหลังปี 2010 ไปแล้ว จากนั้นธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ก็เบ่งบานแบบมีทั้งขาย เช่า ยืม แลกกันใส่ และคนก็เล่นของแพงขึ้นเรื่อยๆ และมีของแปลกๆ แหวกๆ ให้ใส่มากมาย และการแต่งตัวแปลกๆ แหวกๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว
จะเห็นว่าหน้าและผมของผู้หญิงลงตัวขึ้น สไตล์ก็กล้าหาญขึ้น ไม่มีอะไรที่โป๊เกินไปหรือเยอะเกินไปในปาร์ตี้อีกต่อไปแล้ว คุณจะแต่งชุดไทยไปปาร์ตี้ก็ยังได้ เพราะเดี๋ยวนี้วันดีคืนดีชุดไทยมันก็ฮิต
แม้จะหลากหลาย แต่สิ่งที่หายไปเลยอย่างหนึ่งคือเสื้อยืดสีแรดๆ สกรีนข้อความหรือตัวการ์ตูนบนอก ไอ้พวกเสื้อมือสองจตุจักร
ช่วงปี 2015 ขึ้นมา ลุคหนึ่งสิ่งที่ผมเห็นบ่อยถ้าไม่นับเสื้อฮาวาย คือสไตล์ที่ผมเรียกว่า “Uniqlo Cool” มันคือสไตล์ที่ตรงกันข้ามกับพังก์ ร็อค กรันจ์ อีโม เฮฟวี่ และความก้าวร้าวของวัยรุ่นทั้งปวง กล่าวคือ สไตล์การแต่งตัวเรียบร้อยคุมโทน เอาเสื้อยัดกางเกง ถ้าเป็นเสื้อเชิ้ตอาจจะปล่อยชายเสื้อออกมาฝั่งนึง ซึ่งถ้าเป็น 15 ปีที่แล้ว วัยรุ่นที่แต่งตัวไปเที่ยวแต่เอาเสื้อยัดเข้ากางเกงแบบนี้ จะโดนผู้ใหญ่ล้อว่าแต่งตัวเหมือนพ่อหรือเหมือนครูสอนสังคม ไม่ก็แซวว่าแต่งตัวเหมือนจะไปถ่ายบัตรประชาชน แล้วก็เป็นความจริงอย่างหนึ่งว่าเด็กในลุคนี้มักจะคออ่อนและติดมือถือ และชอบคุยกันเสียงดังในคอนเสิร์ต
จากมุมมองจากบู๊ตดีเจในตอนนี้ หนึ่งสิ่งที่ผมคิดถึงคือภาพหนุ่มสาวเต้นจนเหงื่อซก หน้ามัน หรือลงไปเลื้อยที่พื้น ภาพเหล่านี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในยุคที่มีกล้องอยู่รอบตัวและเราล้วนคำนึงเรื่องภาพลักษณ์ตัวเอง ซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักคาดิโอ เหงื่อจะออกเมื่อเราใช้กำลังอย่างต่อเนื่องใช่ไหม แต่ถ้าต้องหยุดเต้นทุกห้านาทีเพื่อเช็คมือถือ บนแด๊นซ์ฟลอร์ก็ย่อมไม่มีคราบเหงื่ออีกต่อไป
เอาจริงๆ ช่วงนี้เป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัยรุ่นน่าสนใจมาก เพราะวัยรุ่นมีการแข่งขันกันเองสูงแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งเรื่องความสำเร็จหรือไลฟ์สไตล์ ผมกำลังเฝ้าดูว่าอีกสักห้าปีจากนี้มันจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาทุกอย่างน่าสนใจทั้งนั้น
แต่ตอนนี้ต้องขอลาก่อน ปี 2019
ผมไม่เคยเห็นดนตรีได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่น ผมเห็นแต่แฟชั่นเอาแรงบันดาลใจจากดนตรีไปใช้ แฟชั่นเป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่ต้องคอยพึ่งแสงสะท้อนจากวัฒนธรรมอื่นให้ตัวเองได้เฉิดฉาย ไม่ว่าจะวัฒนธรรมดนตรี กีฬา วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กสิกรรม
วัฒนธรรมที่แท้จริงต้องส่งต่อสิ่งที่ตัวเองมีไปให้วัฒนธรรมอื่นใช้ได้ เช่นกสิกรใช้ดนตรีสื่อสารความเชื่อเรื่องฟ้าฝน ศาสนาใช้ศิลปะและสถาปัตยกรรมสืบทอดแนวความคิด แล้วแฟชั่นให้อะไรกับวัฒนธรรมอื่นบ้าง?
บางทีแฟชั่นอาจจะไม่ใช่วัฒนธรรม แต่เป็นแค่ไส้กรองต่อนสุดท้ายของวัฒนธรรม ผมคิดว่าแฟชั่นเป็นเหมือนสื่อบันทึกบรรยากาศของยุคสมัย มันเป็นเครื่องมือใกล้ตัวที่ใช้ง่ายและเข้าใจง่ายถ้าเราจะใช้มันเพื่อตั้งต้นศึกษาประวัติศาสตร์สังคมยุคใหม่ ด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ทำไมผู้คนยุคนั้นเขาถึงแต่งตัวแบบนี้” แล้วเราก็จะได้คำตอบที่เกี่ยวพันกับมิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น อ๋อ...เพราะตอนนั้นเขาเพิ่งส่งคนไปดวงจันทร์ผู้คนเลยเห่อวิทยาศาสตร์ อ๋อ เพราะตอนนั้นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ อ๋อ เพราะตอนนั้นดนตรีกรันจ์มันฮิต
หรือแค่ อ๋อ...ไม่มีอะไรหรอกแกร แค่คนมันแร่ดขึ้น
Comments