ทุกวันมีอุกกาบาตน้ำหนักรวมกัน 8- 10 ตันพุ่งชนโลก แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและเสียดสีชั้นบรรยากาศไหม้เป็นจุณหมดก่อนถึงพื้นโลก อย่างไรก็ดี นาซ่าบอกว่าโอกาสที่โลกจะโดนเทหวัตถุอวกาศขนาดเดียวกับที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธ์ุได้นั้น เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 20 ล้านปี แต่ในร้อยปีที่จะถึงนี้ ยังไม่สำรวจพบวัตถุใดที่จะสามารถทำลายโลกได้ขนาดนั้น อุกกาบาตที่มีความเสี่ยงที่สุด ก็มีความเสี่ยงแค่ 1 ต่อ 714 หรือ 0.02% นั่นหมายความว่า คุณมีโอกาสได้เห็นอุกกาบาตพุ่งชนโลก มากกว่าโดนดุสิตโพลสำรวจ
ผมบอกคุณณัฐพล แย้มฉิม ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพลตามตรง ว่ามารบกวนขอสัมภาษณ์ด้วยทั้งความอคติ และความข้องใจมานานมากแล้ว ว่าทำไมไม่เคยโดนสำนักโพลที่โด่งดังที่สุดของไทยสำนักนี้สำรวจสักที ทั้งที่อยู่กรุงเทพฯ มาทั้งชีวิต และช่วงหนึ่งก็เรียนอยู่ไม่ไกลจากสำนักโพล
คุณณัฐพล เป็นคนตัวสูง น้ำเสียงทุ้มน่าฟัง ยิ้มตอบด้วยความสุภาพว่า “ยินดีครับ”
เริ่มถามเลยนะครับ ผมก็อยู่กรุงเทพฯ มาทั้งชีวิต แต่ยังไม่เคยโดนดุสิตโพลสำรวจเลย ไม่ทราบว่าไปทำสำรวจที่ไหนกันครับ ปกติเราจะเดินตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ตามจุดที่ประชากรอยู่เยอะเช่นตามหัวเมืองครับ อย่างในกรุงเทพฯ ก็ตามเขตต่างๆตามสำนักงานเขต แหล่งชุมชน ตลาด ตามเซเว่น แต่ปัญหาหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ ที่จะบอกเสมอว่าเขาไม่เคยเจอ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในออฟฟิศ เพราะเขาไม่ค่อยเดินถนนก็เลยจะไม่เจอเราน่ะครับ หรือไม่ก็อยู่ในรถ พอจอดรถก็เข้าตึกเลย แต่ถ้าจะเจอก็ในช่วงปีหลังๆ มานี้ทางออนไลน์บ้าง หรือช่วงที่มีเทศกาลเลือกตั้งที่เราโทรเข้าไปที่โทรศัพท์พื้นฐาน เบอร์ 02 บ้าง แต่อุปสรรคหนึ่งของการโทรเข้าเบอร์พื้นฐาน คือคนอยู่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุอยู่ แล้วพอหลัง 4 โมงครึ่งเราก็จะไม่ค่อยโทร เนื่องจากเป็นเวลาส่วนตัวของครอบครัว เพราะฉะนั้นคนอยู่ตลาด คนเดินถนนก็จะเจอบ้าง
อย่างอนุสาวรีย์ชัยฯ ล่ะครับ [อนุสาวรีย์ชัยฯ] เป็นพื้นที่สาธารณะก็จริง แต่เขาไม่ให้เดินแจกแบบสำรวจครับ ถ้าเจอปุ๊ป เทศกิจก็จะเชิญออกเพราะสร้างความวุ่นวาย สร้างความรำคาญให้กับคนสัญจร แล้วถ้าอนุญาตให้ที่นึง ก็จะมี [สำนักสำรวจเจ้าอื่น] เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าอยากได้กลุ่มคนต่างจังหวัดหน่อย ก็จะไปหมอชิตบ้าง สายใต้บ้าง เพราะเป็นคนที่เดินทาง
สยามล่ะครับ ถ้าในห้างเขาไม่ให้เข้าครับ แต่พออยู่หน้าห้างหรือนอกห้างก็ลำบาก เพราะคนมาห้างส่วนมากก็ขับรถ หรือนั่งแท็กซี่ จอดแล้วเดินขึ้นไปเลย โพลที่สยามจะเป็นบางประเด็นครับ เช่นโพลธุรกิจที่เขาให้เราเข้าไปได้ พวกเราก็ไปถามในฟู้ดคอร์ท ถ้าเจ้าหน้าที่เดินมา ก็จะบอกว่าเรามาทำงานให้กับลูกค้าของเขา
แล้วช่องทางการสำรวจออนไลน์ล่ะครับ ตอนนี้ก็เอาแบบสอบถามออนไลน์ที่มีไปแขวนไว้บนเฟซบุ๊คบ้าง (facebook.com/suandusitpoll) หรือในไลน์บ้าง แต่ไม่อยากทำออนไลน์ เพราะจะเกิดคำถามว่า หนึ่งคนตอบได้มากกว่าหนึ่งชุดหรือเปล่า? แล้วก็จะมีกลุ่มคนที่เข้าไปตอบประเด็นซ้ำๆ ซึ่งเราก็จะหาวิธีสกรีนวิธีการตอบ แม้เดี๋ยวนี้มันจะมีวิธีจำกัดให้หนึ่งเครื่องมือหรือ user ตอบได้หนึ่งครั้ง แต่ว่าบางคนก็ไมได้มีแค่หนึ่ง user หรือหนึ่งเครื่องมือ เขาใช้ทั้งมือถือ ใช้คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ้ค ใช้ไอแพด
ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าการทำโพลออนไลน์ก็ยังเชื่อถือไม่ได้เท่ากับการเดิน? ทุกโพลมีจุดอ่อนหมดครับ อย่างการโทรไปเบอร์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานก็อาจจะไม่ได้ 100% เช่นโทรไปเจอคนงานอาเซียนที่เฝ้าบ้านก็มี หรือผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเลี้ยงหลานไม่ได้สนใจเรื่องข่าวสารบ้านเมือง เขาก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ โทรไปมือถือก็รีบตอบถูกไหมครับ เพราะบางคนก็ติดงานติดอะไร มันก็มีจุดอ่อนหรือจุดบอดต่างๆ ที่ทุกวิธีการต้องมีวิธีที่จะหาทางป้องกัน หรือการสกรีนให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุดครับ
ในแต่ละเดือนดุสิตโพลทำโพลประมาณ 8-10 ชิ้น แต่ละโพลใช้เวลาทำนานแค่ไหนครับ ประมาณ 1 สัปดาห์แค่นั้นครับ เป้าหมายของเราคือต้อง [มีโพล] ออกอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 เรื่อง โพลจะออกวันอาทิตย์ ส่งสื่อวันอาทิตย์ ฉะนั้นเราจะวางแผนตั้งแต่วันจันทร์ วันอังคาร เก็บข้อมูลประมาณ 1 สัปดาห์ วันศุกร์เสาร์ประมวลผลและสรุป ช่วงเช้าวันอาทิตย์จะส่งให้กับสื่อมวลชน
แบบนี้คนที่ออกไปทำสำรวจต้องออกไปทำทีละกี่โพลครับ 1-2 เรื่องครับ อยู่ที่ว่าจังหวะที่เขามารับโพลไปมีโพลกี่เรื่อง แต่ก็จะให้คนหนึ่งไม่เกิน 100 ชุด เพราะว่าเรื่องของระยะเวลาเราสั้นครับ ถ้าเอาไปเยอะนี่รับผิดชอบไม่ไหวทำให้ error มันเกิดขึ้น และทำไม่ได้ตามเป้า แต่พอได้มาเราก็ไม่เชื่อทั้งหมด เราต้องมาสกรีนแบบสอบถามว่าครบถ้วนไหม สมบูรณ์ไหม สามารถนำไปประมวลผลได้หรือเปล่าครับผม
แล้วจะรู้ได้ยังไงครับ ว่ารับไป 100 ชุดเขาไม่แอบเอาไปทำเอง ดูที่โปรไฟล์การตอบ ดูที่ลักษณะการตอบครับ ถ้าเขาเอาไปเขียนเอง ลายมือ 100 ชุดก็น่าจะเหมือนกันอย่างน้อย 10 ชุด แล้วก็ด้วยประสบการณ์นะครับ จะดูความสัมพันธ์ระหว่างข้อคำถาม ไม่ใช่ติ๊กเห็นด้วยทั้งหมดเลย แต่สุดท้ายตอบไม่เห็นด้วยมันก็ไม่ใช่ ก็จะดูแนวโน้มของการตอบ
แล้วถ้าเขาเอาไปให้คนเดิมๆ เช่นพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้านทำล่ะครับ เราจะมี mapping ครับ ที่จะบอกว่าสัปดาห์นี้คุณต้องไปที่ไหนบ้าง แล้วช่วงหลังๆ จะมีการให้ผู้ตอบใส่หมายเลขโทรศัพท์มาเพื่อ re-check ว่าสัมภาษณ์จริงไหม แต่คนก็ไม่ค่อยกรอกนะครับ
ดุสิตโพลแต่ละชิ้น จะสำรวจคนประมาณ 1,200-1,600 คน อันนี้แบ่งเป็นหมวดไหมครับ ว่าคนละแวกอายุเท่าไหร่ หรืออยู่ย่านไหน จะเป็นกลุ่มเลยครับ ซึ่งต้องดูเรื่องด้วยนะครับ บางเรื่องก็จะเป็นเยาวชน บางเรื่องก็จะเน้นไปกลุ่มคนทำงาน บางเรื่องก็เน้นผู้สุงอายุก็แล้วแต่จะเลือก แต่เราก็จะกระจายทั้งเพศ อายุ รายได้ การศึกษา โปรไฟล์เบื้องต้น 1,200 คือพื้นฐาน แต่ส่วนมากก็จะขยับ 1,600-2,000 นะครับ
ถ้าเราเก็บทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง ภูมิภาคหนึ่งก็จะเก็บ 300-400 ตัวอย่าง จำนวนนั้นก็จะเป็นตัวแทนของแต่ละภูมิภาค ถ้าขยับขึ้นไป 1,600 จำนวนตัวแทนของแต่ละภูมิภาคก็ขยับตาม ในทางสถิติถามว่าเชื่อถือได้ไหม? เมื่อเรามีการกำหนดมาสเตอร์ [คุณสมบัติของคนที่จะถูกสำรวจ] ของกลุ่มต่างๆ แล้ว มันก็เป็นการกระจายกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มตัวอย่างออกไป ความเชื่อมั่นทางสถิติหรือความเชื่อถือทางสถิติ ก็เป็นไปตามกรอบระเบียบของวิธีวิจัย
ถามว่าทุกครั้งตอบแค่ 1,200 หรือ 1,500 นี่มันจะตอบอะไรได้ไหม ก็ต้องมาดูรายละเอียด ว่าในนั้นมีทั้งชายหญิง มีตั้งแต่ 18 ปีจนถึงมากกว่า 60 ปี อาชีพข้าราชการก็มี นักธุรกิจมี นักศึกษามี รับจ้างมี พนักงานบริษัทเอกชน แม่บ้าน เกษตรกรก็มี แต่สัดส่วนจะมากน้อยก็แล้วแต่ประเด็นของโพลนั้นๆ
พอมาคิดภาพใหญ่แล้ว ประชาชน 70 ล้านคน โอกาสจะโดนสำรวจเป็นไปได้น้อยมากนะครับ ยากกว่าถูกหวยอีก ก็ถ้าเราทำสำรวจครั้งละ 2,000 คนทั่วประเทศ เดือนหนึ่งทำสี่ครั้งก็แค่ 8,000 คน ปีหนึ่งก็ไม่ถึงแสน 10 ปียังไม่ถึงล้านคนเลย
ก็ไม่แปลกที่ไม่ได้เจอ ไม่แปลกหรอกครับ
มาพูดถึงข้อครหาที่ว่าดุสิตโพลเป็นโพลเอาใจรัฐบาลกันบ้างครับ เราโดนทุกที่ ทุกครั้ง และทุกสีครับ เราจะถูกผลักให้ไปอยู่ข้างนู้น ผลักให้ไปอยู่ข้างนี้เสมอ แต่การผลักในแต่ละรอบผมรู้สึกดี เพราะว่า A ก็ผลักเราไปอยู่ B แต่เดี๋ยว B ก็ผลักเราไปอยู่ A ฉะนั้นเราจะอยู่ตรงกลาง คำตอบที่ออกมาแล้วโดนใจใคร เขาก็คิดว่าเราอยู่ข้างเขา ถ้าคำตอบไม่โดนใจเขา เขาก็บอกเราเชียร์ฝั่งตรงข้าม มันเป็นปกติครับไม่ว่าจะช่วงรัฐบาลไหน
แม้แต่ตอนช่วงกีฬาสี เราก็ถูกผลัก ถูกหยิบยกข้อมูลบางส่วนไปพูดบนเวที หยิบยกข้อมูลบางส่วนไปถกกันในสภาอะไรที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อใครก็แล้วแต่ เขาก็หยิบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเขาไปใช้ แล้วถ้าข้อมูลนั้นเป็นโทษกับอีกฝ่าย เขาก็หยิบไปใช้ได้ เราก็ถึงโดนผลักตลอดเวลา แต่ที่บอกว่าทุกรัฐบาลก็เห็นเชียร์แต่รัฐบาลตลอดเลยนั้น ไม่หรอกครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกพรรคนี้เป็นรัฐบาล ฉะนั้นพอถามเรื่องรัฐบาล คนก็ย่อมชอบคนที่เขาเลือกถูกไหมครับ อย่างตอนนี้ก็จะมีคำถาม ว่าทำไมทำโพลออกมาแล้วเหมือนเชียร์ทหาร
ทำไมครับ? ก็ตอนแรกก็เชียร์ทหารกันไม่ใช่หรือครับ ก็ชื่นชอบกันอยู่ในบางประเด็น แต่บางประเด็นก็ไมได้ชอบไปเสียทั้งหมด มันก็ไม่ใช่ว่า 100% จะออกมาเป็น 100% ทั้งหมด เพราะก็มีทั้งเรื่องที่ดี เช่นเรื่องการจัดระเบียบอะไรต่อมิอะไรเรียบร้อย ไม่มีการความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่มีการเดินขบวน แต่ที่ไม่ดีมันก็มีนะ อย่างเรื่องเศรษฐกิจก็เห็นอยู่ ว่าสอบถามกี่ครั้งก็ตกเกือบทุกครั้งนะครับ เราก็ประเมินอยู่ตลอด มันก็มีมุมมองแต่ละมุมมอง อยู่ที่ว่าสื่อไหรจะหยิบตัวไหนไปเล่น
ดุสิตโพลทำมา 25 ปีแล้ว ต้องมีข้อมูลเยอะมาก พอกลับไปไล่ดู ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ เปลี่ยนตลอดเวลาครับ การเมืองไม่เคยนิ่งครับ เว้นแต่ถ้าเราถามว่าเทศกาลสงกรานต์อยากรดน้ำดำหัวนักการเมืองคนไหน คำตอบคือนายกฯ แน่นอนครับ เพราะนายกฯ คือนักการเมืองคนแรกที่ประชาชนพูดถึงและรู้จัก แต่เทรนด์แต่ละปี หรือการเมืองแต่ละรอบมันก็เปลี่ยนไป ฉะนั้นการทำโพลก็ยังทำได้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากที่อยากรดน้ำ ยังมีอะไรที่สำรวจกี่ทีก็ได้คำตอบเดิมตลอด 25 ปีครับ ก็จะมีที่สุดแห่งปีครับ ซึ่งเราทำทุกปีที่ถามนักร้องในดวงใจ กี่ครั้งๆ ก็ไม่พ้นพี่เบิร์ดครับ ก็แปลกนะ แม้บางปีอัลบั้มของพี่เบิร์ดก็ไม่มี แต่คนก็ยังคิดถึงตลอด
ติดตามผลสำรวจโพลสาธารณะของดุสิตโพลได้ที่
facebook.com/suandusitpoll
www.suandusitpoll.dusit.ac.th
Comments