ค่ำวันที่ 10 เมษยน ระหว่างที่กักตัวอยู่กับความเงียบเหงาในคอนโดห้องเล็กๆ คนเดียว มีเสียงเตือนข้อความจากไลน์ดังขึ้น คลิกเข้าไปก็ให้ใจหายวาบเมื่อเห็นข้อความที่เพื่อนส่งมาบอกว่า “พี่ตั้ว กีรติ” หรือ กีรติ ชลสิทธิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของ ดวงใจ บีส (Duangjai Bis) แบรนด์เสื้อระดับตำนานของวงการแฟชั่นไทย ได้เสียชีวิตแล้ว และภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ไลน์กรุ๊ปทุกกลุ่มที่ฉันเป็นเมมเบอร์อยู่ก็มีแต่การแชร์ข่าวเศร้าเกี่ยวกับการจากไปของดีไซเนอร์วัย 66 ปีท่านนี้
เรื่อง: วชิรปาณี มากดี @justwhisky
ในฐานะที่เป็นคนทำงานในวงการแฟชั่นและสิ่งพิมพ์ ถึงจะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้สึกหวิวๆบอกไม่ถูก เพราะเป็นดีไซเนอร์ที่เราได้ยินชื่อเสียงมานานร่วมสามสิบปี ภาพติดตาในหัวเมื่อได้ยินคำว่า “ดวงใจ บีส” คือเสื้อนิตแวร์ลายขวางสีสดที่เห็นนายแบบนางแบบสวมใส่ถ่ายแฟชั่นในหน้านิตยสาร ก็น่าจะประมาณช่วงเข้าปี 90s สมัยที่ตัวเองเรียนออกแบบที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มดูเริ่มอ่านนิตยสารแฟชั่นอย่างจริงจัง แต่อันที่จริงชื่อเสียงของ กีรติ ชลสิทธิ์ และห้องเสื้อดวงใจบีสมีมานาน ตั้งแต่สมัยฉันยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมอยู่ เวลาพักหรือว่างจากชั่วโมงเรียน ก็จะเข้าไปเปิดดูนิตยสารแฟชั่นในห้องสมุดโรงเรียน แต่ประสาเด็กที่ยังไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นอะไร ก็ได้แต่เปิดดูภาพสวยๆในหนังสือเท่านั้น แต่ก็จำชื่อ ดวงใจบีส ได้ขึ้นใจตั้งแต่นั้น
ถ้าพูดถึงชื่อ ดวงใจบีส คนโตๆ ที่เกิดทันยุครุ่งเรืองของแฟชั่นไทยในยุค 80s-90s ไม่มีใครไม่รู้จัก ในยุคที่แฟชั่นบ้านเราเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นรูปเป็นร่าง และเต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน โดยเฉพาะยุคหนึ่งที่คนเปรี้ยวเก๋ทั้งหลายต้องไปรวมตัวกันที่ตึกชาญอิสระทาวเวอร์ ศูนย์การค้าที่เป็นแหล่งรวมแบรนด์เสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ทำเสื้อผ้าแนวสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก นับว่าเป็นยุคแรกๆของเสื้อผ้าแฟชั่นแนว Ready-to-Wear ของบ้านเรา เพราะก่อนหน้านั้นแฟชั่นเป็นยุคของห้องเสื้อที่เป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม ชาวบ้านชาวช่องทั่วไปก็ใส่เสื้อการ์เม้นต์จากโรงงาน หรือที่พ่อแม่ อากงอาม่าเรียกว่าเสื้อโหลตามโบ๊เบ๊นั่นแหละ
ดวงใจบีส ของกีรติ ชลสิทธิ์ ก็ถือเป็นแบรนด์แถวหน้าที่โด่งดังมาจากยุคชาญอิสระ และมีลูกค้าเป็นหนุ่มสาวซิ่งของยุค 80s แฟชั่นโชว์ที่ตึกชาญอิสระ หรือที่คนยุคนั้นเรียกกันติดปากว่า “ตึกชาญฯ” เป็นอะไรที่ฮือฮามาก โดยเฉพาะโชว์ของดวงใจบีสที่มีดาราคนดังมาเดินแบบคับคั่ง และเป็นแบรนด์แจ้งเกิดให้กับนางแบบหลายๆคน ซึ่งบางคนก็ยังอยู่ในวงการมาจนถึงทุกวันนี้ โชว์ที่ตึกชาญฯนี่แหละที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของแฟชั่นวีคย่อมๆ ของเมืองไทย เพราะในปี 2530 เป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของเหล่าดีไซเนอร์จากแบรนด์ต่างๆจัดแฟชั่นโชว์ร่วมกัน จัดกันสามวันสามคืน วันละ 3-4 แบรนด์ มีทั้ง Theatre, Greyhound, Prinya, Terapun, Ong-art Niramon, Jaspal, Character by K.O.S และแน่นอนว่าต้องมี Duangjai Bis เป็นหนึ่งในนั้น
เดิมทีพี่ตั้ว กีรติ ไม่ได้เรียนแฟชั่นมาโดยตรง พี่ตั้วจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ แต่อาศัยว่ามีคุณแม่เป็นเจ้าของโรงเรียนสอนตัดเสื้อ “ดวงใจ” จึงได้ความรู้พื้นฐานมาจากตรงนี้ และเริ่มทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่ช่วงเรียนที่ธรรมศาสตร์นี้เอง จนเมื่อจบปริญญาตรีถึงได้เดินทางไปเรียนออกแบบจริงจังที่ฝรั่งเศส ช่วงเวลา 4 ปีที่เรียนที่ กู เดอ กู๊บ เลเนต์ ก็ได้กลับมาทำเสื้อโชว์ให้กับโรงเรียนสอนตัดเสื้อของคุณแม่อยู่สองครั้ง เมื่อเรียนจบจึงได้เดินทางกลับมาเปิดร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปของตัวเองที่โอเรียนเต็ลพลาซ่า ซึ่งก็คือแบรนด์ ดวงใจ บีส นี่เอง และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นอย่างกว้างขวางเมื่อทำเสื้อถ่ายแฟชั่นฃลงนิตยสาร “ลลนา” ซึ่งถือว่าเป็นนิตยสารแฟชั่นที่เปรี้ยวที่สุดของยุค
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเสื้อดวงใจบีส คือรูปแบบเสื้อผ้าแบบฝรั่ง เต็มไปด้วยรายละเอียดแบบกูตูร์ที่ถูกถ่ายทอดลงมาอยู่บนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นงานปัก งานลูกไม้ และความกล้าในการใช้สีสด รวมไปถึงลวดลายต่างๆที่ผสมคู่สีอย่างลงตัว ถือว่าเป็นดีไซเนอร์แถวหน้าที่ทำเสื้อผ้า Ready-to-Wear ในยุคบุกเบิกของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ถ้าใครจะพูดถึงประวัติศาสตร์แฟชั่นของเมืองไทยแล้วขาดชื่อของ ตั้ว กีรติ ชลสิทธิ์ และ ดวงใจบีส ก็เรียกได้ว่า คนนั้นไม่รู้เรื่องแฟชั่นจริงๆ
ช่วงที่ฉันเริ่มเข้ามาทำงานในวงการเป็นช่วงที่พี่ตั้วเริ่มถอยตัวออกห่างจากวงการไปบ้างแล้ว และมีดีไซเนอร์แบรนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย แต่ดวงใจบีสก็ยังมีลูกค้าประจำเป็นเหล่าคนดังในวงการแฟชั่นและบันเทิงมากมาย ตัวพี่ตั้วเองก็ได้รับการยอมรับนับถือจากคนในแวดวงอย่างกว้างขวางเช่นเดิม ฉันซึ่งเป็นเด็กน้อยเพิ่งเข้าวงการก็ได้แต่ยกมือไหว้เมื่อเจอดีไซเนอร์ใหญ่ท่านนี้ตามงานอีเว้นต์ต่างๆ จนเมื่อปีที่แล้วได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกสุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการมีมติให้ยกย่องกีรติ ชลสิทธิ์ เป็นหนึ่งในสุดยอดผลงานร่วมกับดีไซเนอร์และแบรนด์เสื้ออีก 31 รายชื่อ นับว่าเป็นเกียรติคุณสุดท้ายก่อนเสียชีวิต หลังจากที่พี่ตั้วเกษียณตัวเองเพื่อไปดูแลคุณแม่ และแบรนด์เสื้อได้ปิดลงไปเมื่อสามปีที่แล้ว นับเป็นช่วงชีวิตที่พาดผ่านมาเจอกันของฉันกับดีไซเนอร์ระดับตำนานท่านนี้ ที่ไม่เคยแม้แต่จะได้คุยกันสักครั้ง แต่เหมือนรู้จักกันมานานแสนนาน
ขอไว้อาลัยให้กับพี่ตั้ว กีรติ ชลสิทธิ์ มา ณ ที่นี้
ภาพจากเพจ เปิดกล่องนิตยสารเก่า
Comments