top of page
  • Black Facebook Icon
  • Instagram

Welcome to the world where truth doesn't hurt

โคโยตี้สาวจากบ้านนา ที่ชีวิตไม่ได้โสภาเหมือน La La Land


คุณส้มหวาน สาวบ้านนาผู้มีการเต้นนำทางชีวิต

ทันทีที่เพลง Can’t Fight the Moonlight จากแผ่น VCD ผีเรื่อง Coyote Ugly ที่เธอได้ดูจบลง เธอก็รู้ทันทีว่าความฝันของเธอ คือการได้เป็นนักเต้นโคโยตี้ที่เร่าร้อน


แต่ชีวิตมักไม่เคยเป็นดั่งใจคิด นี่คือเรื่องราวของคุณหวาน หรือ ส้มหวาน บุญสนั่น ลูกสาวชาวสวนยางวัย 22 ปี จากหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอปง จังหวัดพะเยา ผู้ที่ความฝันการเป็นนักเต้นมอดไหม้วอดวาย จนทำให้เธอตัดสินใจหันหลังให้สวนยาง แล้วมุ่งหน้าไปสู้ความฝันในเมืองกรุง

“หนูได้ดู Coyote Ugly ครั้งแรกตอนหนูอายุ 10 ขวบ” เธอรำลึก “แต่พอดูจบก็คลั่งไปเลยค่ะ พวกเธอเท่มาก ดูแข็งแรง มั่นใจ เป็นผู้หญิงยุคใหม่”


ด้วยฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย คุณส้มหวานจึงได้เรียนแค่ ม.3 แต่เมื่อเธอย่างเข้าอายุ 18 เธอขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ทำตามความฝัน ด้วยการเปิดบาร์โคโยตี้เล็กๆ ในหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับการช่วยทำสวนยาง ซึ่งทั้งสองท่านก็ไม่ติดขัดอะไรด้วยเห็นว่าลูกสาวเป็นคนทำอะไรจริงจัง จึงยกเรือนเพาะชำกล้ายางให้เธอดัดแปลงเป็นบาร์โคโยตี้ คุณส้มหวานใช้เงินเก็บของเธอเนรมิตบาร์เท่าที่จะเป็นได้ โดยมีเธอเป็นทั้งเด็กบาร์และนักเต้นในตัวคนเดียว ส่วนเครื่องดื่มในบาร์ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกยาดองและเหล้าหมักที่คนในหมู่บ้านนำมาฝากขาย เธอตั้งชื่อบาร์เล็กริมทางของเธอแห่งนี้ว่า “พะเยา โคโยตี้” (Payao Coyote) ตามชื่อบาร์ในหนังเรื่องโปรดของเธอ

“พะเยา โคโยตี้” บาร์โคโยตี้เรียบง่ายของคุณส้มหวาน

ศูนย์กลางของความฝันของเธอ อยู่บนบาร์ที่สูงและแข็งแรงพอให้เธอขึ้นไปวาดลวดลายได้ เธอสร้างมันด้วยไม้ยางจากสวนของเธอ ออกแบบ เลื่อยไม้ ตอกตะปูทุกตัวด้วยตัวเอง แม้ภาพบาร์จะไม่ออกมาใกล้เคียงกับในเรื่อง Coyote Ugly เท่าใดนัก แต่มันอัดแน่นด้วยความฝัน ความภูมิใจและจริงใจของคุณส้มหวานในทุกตารางมิลลิเมตร


ใช้เวลาไม่นานเลย ที่ “พะเยาโคโยตี้” กลายเป็นที่พักผ่อนของคนในหมู่บ้านหลังเลิกงานจากเรือกสวนไร่นา บางคืนเธอมีลูกค้าถึง 20 คน ซึ่งเยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีกันอยู่แค่ 300 คน แม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ยังนิยมมาแฮงก์เอาท์ พบปะสังสรรค์ และดูคุณส้มหวานสะบัดสเต็ปจนท้องทุ่งสะเทือน ความสำเร็จอีกอย่างที่คุณส้มหวานภาคภูมิใจ คือสามารถทำให้คนในหมู่บ้าน เปลี่ยนการเรียกบาร์ของเธอจาก “ร้านไอ้หวาน” เป็น “พะเยาโคโยตี้” ได้ในที่สุด


“Coyote Ugly เป็นหนังที่หนูดูประมาณร้อยรอบได้  (หัวเราะ) จนจำขึ้นใจทุกประโยคเลยล่ะค่ะ” เธอทำท่าฉีดน้ำใส่ลูกค้าเลียนแบบฉากในหนัง พร้อมตะโกน “HELL NO H2O! HELL NO H2O!” 

ฉากเด่นในหนังเรื่อง Coyote Ugly ที่ถ้าลูกค้าคนไหนสั่งน้ำเปล่า จะโดนฉีดน้ำใส่เป็นการลงโทษ

แต่ทันใดนั้น แววตาร่าเริงดุจสาวนิวเจอร์ซีย์เพิ่งเห็นนิวยอร์กเป็นครั้งแรกก็พลันสลด เมื่อภาพความทรงจำอันเลวร้ายฉายขึ้นในใจเธอ


“มีอยู่คืนหนึ่ง” เธอเล่า “คืนนั้นตาฉ่อยเพิ่งเลิกจากนาของแกที่อยู่หลังบาร์หนู แกก็เดินตีนเปล่าเข้ามาสั่งน้ำที่บาร์ พอได้ยินว่าน้ำเปล่า หนูก็ตะโกน ‘HELL NO H2O!’ แล้วเอาสายยางฉีดใส่แกเหมือนในหนัง แต่หนูไม่รู้ว่าไฟมันรั่วลงพื้น แกเลย…แกเลย…” เธอก้มหน้าซุกฝ่ามือทั้งสอง ร้องไห้ตัวสั่นเทิ้ม “แล้วบาร์หนูมันเป็นไม้ยาง แป๊บเดียวไฟมันก็ลามไปทั้งบาร์ (สะอื้น) แล้ว…แล้วมันก็ลามเข้านาตาฉ่อย กว่ารถดับเพลิงในอำเภอจะมาถึง…” เธอสะอื้นหนักจนต้องหยุดตั้งสติครู่หนึ่ง ก่อนเล่าว่าตาฉ่อยโดนเผาทั้งเป็น ส่วนนาข้าวตาฉ่อยแกก็มอดไหม้ทั้งหมด “โถ่…ตาฉ่อย! ฮือๆๆ หนูมันเลว! หนูมันอีโคโยตี้เผานา!”

ฉากเต้นโคโยตี้อันร้อนแรงจากเรื่อง Coyote Ugly

สภาพทุ่งข้าวของตาฉ่อยเมื่อรถดับเพลิงไปถึง

ด้วยเหตุนี้ คุณส้มหวานจึงตัดสินใจใช้เงินเก็บที่มีอยู่น้อยนิด มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหันหลังให้ความฝันที่มอดไหม้ แต่เหตุการณ์รุนแรงที่บาร์โคโยตี้ปลายนาครั้งนั้น มันทำให้คุณส้มหวานกลายเป็นโรคกลัวการเต้นบนที่สูงอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นบนบาร์หรือบนเวที

“กรุงเทพฯ มีทุกอย่าง ยกเว้นความฝันของหนู” คุณส้มหวานเล่าถึงความท้อใจเมื่อเข้ามาในเมืองหลวงใหม่ๆ

“พอหนูป่วยแบบนี้ไปสมัครบาร์ไหนเขาก็ไม่รับ จะเต้นอะโกโก้มันก็ต้องปีนเสา จะลองเต้นฮิปฮิอปเขาก็ให้หนูลองไปเต้นบนลำโพง เคยลองไปสมัครเต้นร็อคกับปาร์ตี้ชื่อ Dudesweet เขาก็บอกให้หนูลองขึ้นไปเต้นบนตู้แอมป์อีก ตอนนั้นหนูท้อแท้มาก ร้องไห้ทุกคืนเลย เงินทองก็ร่อยหรอ คิดว่าชีวิตการเต้นจบลงแล้วแน่ๆ”


แต่คงเพราะชีวิตลิขิตให้เธอเป็นนักเต้น ในคืนที่ 5 ของการเดินหางานอย่างสิ้นหวังและสะเปะสำปะเหมือนฝนหลงฤดูบนถนนสีลม เธอก็ได้พบกับ The Hop โรงเต้น swing dance เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างซอยสีลม 18 กับ 20

“มันเป็นโรงเต้นและโรงเรียนเต้นด้วย พอหนูได้เห็นว่าเขาเต้นกันบนพื้นเรียบๆ หนูก็บอกกับตัวเองทันทีเลยว่า เอาเว้ย ชีวิตไม่สิ้น ก็ดิ้นกันต่อ และที่สำคัญ การเต้นสวิงแบบนี้ต้องเต้นเป็นคู่ ซึ่งมันทำให้หนูรู้สึกปลอดภัยว่ามีคนคอยประคอง ซึ่งมันก็ทำให้หนูกลัวการเต้นบนที่สูงน้อยลงค่ะ”

Rock-Step-Step: พื้นฐานโคโยตี้ทำให้คุณส้มหวานเรียนรู้ swing dance ได้อย่างรวดเร็ว

บรรยากาศโรงเต้นสวิงที่ The Hop facebook.com/thehopbangkok


เพราะโคโยตี้เป็นศาสตร์การเต้นที่ต้องใช้ความพริ้วของร่างกายและการฟังจังหวะอย่างมาก มันจึงช่วยให้เธอเรียนรู้การจับจังหวะสวิงได้อย่างรวดเร็ว และยังทำให้เธอหมุนตัวได้พริ้วสวยกว่าคนอื่นที่เริ่มเรียนพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังต่อยอดให้เธอได้รู้จักศิลปะการเต้นคลาสสิคในสายพันธุ์เดียวกัน เช่น Tap Dance, Lindy Hop, Chaleston ฯลฯ ทำให้เธอเข้าใจที่มาที่ไปของการเต้นในยุคปัจจุบันมากขึ้น


ระหว่างนี้ คุณส้มหวานทำงานเป็นคนทำความสะอาด The Hop ชั่วคราวเพื่อแลกกับค่าเรียน และค่าขนมอีกนิดหน่อย แต่สิ่งที่เธอประทับใจเป็นพิเศษ คือสังคมของ The Hop ที่ทำให้เธอได้เจอะเจอผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพและเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นหมอ ทนาย ค้าขาย นักดนตรี นักออกแบบ หรือแม้แต่ชาวสวนเช่นเธอ


“หนูไม่เคยอยู่ในห้องที่มีความหลายหลายของผู้คนขนาดนี้มาก่อน” เธอบอก “ทุกคนพูดคุยกันแต่เรื่องดีๆ อยู่กับเพลงแจ๊ช เพลงสวิง มันเป็บโลกเล็กๆ น่ารักที่ทำให้หนูรู้สึกเหมือนตอนอยู่บ้านนอก นี่เป็นสิ่งที่หนูไม่เคยรู้ว่ากรุงเทพฯ จะมี”


เธอแอบกระซิบเราว่า การที่ต้องเต้นคู่กับหนุ่มไม่ซ้ำหน้าแบบนี้ เธอหวังว่าจะได้เจอหนุ่มน่ารักสักคน ที่จะคอยจับมือและประคองเอวเธอ ไม่ให้เธอต้องกลัวความสูงอีกต่อไป


แต่เมื่อถามถึงเรื่องการชดใช้หนี้ตาฉ่อย เธอตอบง่ายๆ ว่า “อ๋อ หนูลืมไปแล้วค่ะ ช่างมันเหอะ”


 

Comments


bottom of page