โดย พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
Bauhaus คือสถาบันสอนศิลปะและการออกแบบที่ถือกำเนิดในเมืองไวร์มาณ์ ประเทศเยอรมันนี ที่แม้จะเปิดทำการอยู่แค่ 14 ปี แต่ก็กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากๆ ทางศิลปะและการออกแบบ อิทธิพลของโรงเรียนบาวเฮาส์ยังมีให้เราเห็นอยู่รอบตัวถึงปัจจุบัน ทั้งอาคาร เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงฟอนต์และกราฟิกดีไซน์ หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนศิลปะหลายแห่งในโลก ก็ประยุกต์มาจากโรงเรียนนี้ รวมถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรของไทยเราด้วย สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งโดยสถาปนิก วอลเตอร์ โกรเปียส ในปี 1919 ย้ายโรงเรียนไปมาอยู่สามเมือง จนสุดท้ายโดนนาซีสั่งปิดในปี 1933 เพราะเดิ้นจนนาซีเกรงว่าจะกลายเป็นแหล่งเพาะขบถศิลปิน
ตึกเรียนบาวเฮาส์ เมื่อย้ายจากไวร์มาร์มาอยู่เมืองเดสโซ ยุคพีคของบาวเฮาส์เกิดที่ตึกนี้ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์และยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ตึกเป็นมรดกโลก
ความพิเศษของบาวเฮาส์ในตอนนั้นคือเป็นโรงเรียนที่โมเดิร์นมากของยุคโมเดิร์นนิสม์ เป็นโรงเรียนแรกที่รวมศาสตร์ทางศิลปะและการออกแบบเข้าด้วยกัน เด็กนักเรียนบาวเฮาส์เป็นเด็กยุคแรกๆ ที่ทำตัว ต้องซ่า ต้องกล้า ใช้ชีวิตให้คุ้ม เพราะบาวเฮาส์เน้นสอนให้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ หนึ่งความพิเศษคือ ในยุคที่ผู้หญิงได้รับการเรียนการสอนเกี่ยวกับศิลปะได้เฉพาะที่บ้าน หรือจากอาจารย์สอนพิเศษตัวต่อตัว แต่คุณโกรเปียสผู้ก่อตั้ง ได้ประกาศออกสื่อว่า สถาบันของเขาเปิดรับ “ใครก็ตามที่มีความสามารถ ไม่จำกัดอายุหรือเพศ” ทำให้บาวเฮาส์เป็นสถาบันแรกในเยอรมัน หรือแทบจะในยุโรป ที่เปิดให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวอาร์ตจึงไม่รอช้า ปีแรกที่บาวเฮาส์เปิด มีผู้หญิงมาสมัครเรียนมากกว่าผู้ชายเสียอีก มีทั้งผู้หญิงที่มีความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ และเฟอร์นิเจอร์ โดยอาจารย์โกรเปียสก็ยืนยันว่า “การเรียนการสอนจะไม่มีความแตกต่างสำหรับเพศที่สวยงามและเพศที่แข็งแรง” แต่เอ๊ะ ฟังดูเหมือนจะให้ทั้งสองเพศเท่าเทียมกัน แต่ทำไมมันแหม่งๆ จังเลย
แล้วก็เป็นจริงอย่างว่า นักเรียนหญิงในบาวเฮาส์ต้องเซ็งกันไปหลายคน เพราะเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว แทนที่จะได้เรียนวิชาที่อยากเรียนอย่างสถาปัตยกรรม หรือจิตรกรรม ตามที่บอกไว้ตอนสมัคร กลายเป็นว่าพวกเธอถูกจำกัดให้เรียนเฉพาะวิชาของ “เพศที่สวยงาม” อย่างวิชาการทอผ้า หรือวิชาปั้นหม้อ หนังสือหลายเล่มก็ถูกจำกัดไม่ให้อ่าน และเมื่อเรียนจบแล้ว ผลงานของพวกเธอก็ไม่ได้รับการจัดแสดงหรือสนับสนุนเท่าผลงานจากนักเรียนชาย
ก็ถึงปากจะบอกไม่จำกัดเพ๊ศศศศ ไม่เล้ย! แต่โกรเปียสกลับพูดว่า “เพศชายเป็นเพศที่คิดได้สามมิติ ในขณะที่เพศหญิงคิดได้แค่สองมิติ” เอ๊า อะไรของลุงเนี่ย
แต่กลายเป็นว่าสาวอาร์ตส่วนใหญ่จากบาวเฮาส์กลับสร้างชื่อเสียง และผลงานที่เป็นที่จดจำหลังจากออกไปแล้ว ซะมากกว่า เช่น เอลเซ่ เฟลิ่ง ที่ออกจากบาวเฮาส์ไปเป็นฟรีแลนซ์ออกแบบฉาก, คอสตูมการแสดง และสร้างผลงานปติมากรรมจากเหล็กและหินโด่งดังอยู่ในเบอร์ลิน หรือ แอนนิ อัลเบอส์ ที่ออกจากบาวเฮาส์และออกจากเยอรมันนี เพื่อไปเป็นอาจารย์ในอเมริกา ต่อมาได้เป็นนักออกแบบสิ่งทอให้ Knoll และผลงานสิ่งทอโด่งดัง มีงานแสดงเดี่ยวที่ MOMA
ส่วนสาวแกร่งบางนางก็เลือกที่จะไม่ยอมก้มหัวให้สถาบัน เช่นมาการเร็ต เฮย์แมนเลือกที่จะไม่เรียนวิชาทอผ้าเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ แต่ตามตื๊ออาจารย์โกรเปียสจนเขายอมให้เธอได้ลงเรียนวิชาเซรามิค แต่พอได้เรียนสมใจแค่ปีเดียวก็ออก เพราะไปมีปากเสียงกับอาจารย์ในวิชาเซรามิคเอง แต่ผลงานเซรามิคของเธอกลับประสบความสำเร็จขนาดที่มีวางขายอยู่ตามร้านค้าชิคๆ ในยุโรปและอเมริกา
สาวแสบบางคนก็กับไม่ง้ออาจารย์ อย่างนางสาวเกอทรูด อันต์ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เธอก็ไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนสักที เธอเลยเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองซะเลย แล้วทำได้ดีจนผลงานการถ่ายภาพของเธอปูทางให้ช่างภาพสมัยใหม่หลายต่อหลายคน
ความสตรองของผู้หญิงบาวเฮาส์มีมาไม่รู้จบ หนึ่งในคนที่มีผลงานคลาสสิคคือ มาเรียน แบรนดต์ กับผลงานที่เป็นที่ถูกใจ ลาสโซ โมโฮลี่ นากี ศิลปินและอาจารย์ในตำนาน จนเขายอมให้เธอได้เรียนในเวิร์คชอปโลหะ และเธอคนนี้แหละ ที่ออกแบบผลงานที่เป็นไอค่อนแห่งบาวเฮาส์อย่างกาน้ำชา ที่เขี่ยบุหรี่ และโคมไฟสุดคลาสสิคที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ เพราะเธอแหกหน้านักเรียนชายคนอื่นด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นอาจารย์สอนเวิร์คชอปโลหะแทนอาจารย์โมโฮโล่-นากีหลังจากเขาเกษียณไป และเมื่อเธอออกจากบาวเฮาส์ในปี 1929 เธอก็ได้ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการในบริษัทโลหะ Ruppelwerk Metallwarenfabrik GmbH ให้ไปออกแบบของแต่งบ้านเท่ๆ ที่งานดีไซน์ของเธอยังมีคนก๊อปขายให้เห็นตามจตุจักรและตลาดรถไฟ
นักเรียนหญิงในบาวเฮาส์เป็นผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยความสดใหม่ เป็นอิสระ และมีชีวิตชีวา เราจะเห็นภาพของพวกเธอในลุคผมบ๊อบ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าตัดเย็บเอง ใส่เครื่องประดับรูปทรงเรขาคณิต เล่นแซกโซโฟน เต้น หรือมีการแสดงหวือหวา แต่นอกจากไลฟ์สไตล์ของเธอแล้ว ก็คือความสามารถของพวกเธอ ที่กรุยทางให้นักออกแบบหญิงในรุ่นต่อๆ มาได้แสดงฝีมือโดยไม่ต้องมาหงุดหงิดกังวลว่าจะมีผู้ชายที่ไหนมาหยามได้ ว่าเป็นเพศที่ “คิดได้แค่สองมิติ” อีกต่อไป
Comments