บ้าไปแล้ว! จู่ๆ ผู้ว่า กทม.–พล.ต.อ.อัศวิน ก็บอกว่าอยากเอาโต๊ะเก้าอี้มาวางไว้ในหอศิลป์ BACC สักสองพันชุด ให้คนใช้หอศิลป์เป็น co-working space
แต่ไม่ทราบว่าเพราะประชาชนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากและรุนแรง หรือเพราะพระมหาบารมีของพระสยามเทวาธิราช จึงบันดาลให้ทั่นผู้ว่าเปลี่ยนใจ พร้อมแสดงจุดยืนว่าจะอยู่ข้างศิลปะและสัญญาจะส่งเสริมศิลปะ BACC จึงรอดพ้นการเป็นหอศิลป์ระดับชาติที่เดียวในโลก ที่มีที่ให้คนมานั่งทำงาน จัดสัมนาขายตรง และเป็นให้ไลฟ์โคชมาอบรมเข็มทิศชีวิต โล่งอกไปที นับว่าแต้มบุนของ BACC ยังพอมี
ปีนี้ BACC มีอายุครบสิบปี แต่ก่อนหน้านั้น หอศิลป์ของประชาชนแห่งนี้เสียเวลายึกยักอยู่สิบปี กว่าจะได้ลงเสาเข็มต้นแรก เพราะวัฒนธรรมการเปลี่ยนขั้วอำนาจเมื่อไหร่ ก็ต้องโละเรื่องที่คนเดิมทำไว้แทนที่จะสานต่อ กำลังเกลี่ยดินกันอยู่ดีๆ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่า กทม. คนใหม่ในตอนนั้น ก็รื้อโครงการสร้างหอศิลป์ที่ทุกคนเฝ้ารอเสียอย่างนั้น โดยจะให้เป็นศูนย์การค้าและอาคารจอดรถกลางเมืองที่มีห้องแสดงงานศิลปะเป็นของประดับ ศิลปินและประชนผู้รักศิลปะต้องออกมาช่วยกันประท้วงรอบแล้วรอบเล่ากว่าจะได้มา การเดินทางของ BACC ไม่เคยราบรื่นตั้งแต่วันแรกที่คิดจะสร้าง ปัจจุบันมันเป็นหอศิลป์เบี้ยน้อยหอยน้อย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลปีละเพียง 40 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 75 ล้านบาท
แต่จงภูมิใจเถิดที่เรามี BACC จงภูมิใจแม้มันจะเป็นหอศิลป์หน้าตาประหลาดด้วยผนังโค้งขัดกับธรรมชาติของเฟรมเขียนรูป มีทางลาดที่ชันที่เด็กสเก็ตคงอยากมาเล่นลองบอร์ด และคนแก่ข้อเข่าไม่ดีต้องคอยเกาะแขนลูกหลานขณะเดินชมงาน มีระเบียงที่ไม่เคยได้เปิดใช้ มีลิฟต์ขนาดจิ๋วที่ที่หิ้วคนได้รอบละแค่ไม่เกิน 8 คน มีนางผีเสื้อสมุทรตนนั้น ที่เห็นย้ายมุมวางไปมาอยู่หลายปี เหมือนไม่รู้จะเอาไปไว้ไหนดี (ตอนนี้หายไปแล้ว)
แต่จงภูมิใจ เพราะมันคือหอศิลป์ที่ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนอย่างแท้จริง
สัมภาษณ์โดยโน้ต พงษ์สรวง ภาพ จาก facebook ของ BACC
สัมภาษณ์ผู้อำนวยการคนใหม่ใน 4 เรื่อง 1. เรื่องเปลี่ยนหอศิลป์เป็น co-working space
ตอนนี้อาจารย์เตรียมเก้าอี้สองพันตัวไว้หรือยังครับ
เอ๊ะ ผมอ่านมาว่าสองพันชุดนะ ไม่ใช่สองพันตัว แต่ท่านผู้ว่าก็แถลงแล้ว ว่าเนื่องจากว่าประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่เข้าไปยุ่ง ฉะนั้น เดี๋ยวปี 64 ก็ค่อยว่ากัน
วาระของอาจารย์กี่ปีครับ?
สี่ปีครับ แต่ต่อได้ครั้งนึง แต่ปัญหาที่ออกข่าวก็ยังไม่เท่ากับตอนนี้ คือเรื่องที่ว่าปีนี้เรายังเบิกงบประมาณจากสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวของ กทม. ไม่ได้เลย
อ้าว แล้วเอาที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนกันล่ะครับ? ก็เงินสะสมจากปีที่ผ่านๆ มาครับ เป็นเงินที่กทม. สนับสนุนส่วนหนึ่ง แล้วก็เงินที่มูลนิธิ (หอศิลป์กรุงเทพฯ) ทำงานบริหารพื้นที่ต่างๆ ได้มาอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็สปอนเซอร์ส่วนหนึ่ง ที่พอหักลบค่าใช้จ่ายแต่ละปีมันก็จะเหลือเป็นเงินสะสมอยู่ แต่ก็มันก็จะหมดไปทุกวันๆ ถ้ายังเคลียร์กับเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วก็ยังมีเรื่องงบประมาณปีหน้าที่ขอไปงบสนับสนุนไป ซึ่งกำลังจะเข้าสภา กทม.
ที่ปีนี้ที่มันมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ก็เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วทางกทม. เขาไม่อนุมัติงบประมาณสนับสนุน เขาก็เลยย้ายงบไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งสำนักยังไม่สามารถเบิกจ่ายตรงนี้ออกมาได้ แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องเลือกตั้งเรื่องสรรหากรรมการมูลนิธิ เพราะกรรมการมูลนิธิหมดวาระ ซึ่งคนที่จะแต่งตั้งกรรมการสรรหาร ก็คือผู้ว่าฯ
ในระบบการสรรหาที่ว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะอยู่ในระบบไหมครับ? ผู้ว่าฯ จะเป็นคนแต่งตั้งกรรมการสรรหาครับ แล้วกรรมการสรรหาก็จะไปเลือกมา ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งศิลปิน มีทั้งนักวิชาการ และมีผู้บริหาร นักบริหารมือออาชีพที่อยู่ในธุรกิจ [ศิลปะ]
2. เรื่องศิลปะกับชีวิตประจำวัน
อาจารย์จะดึงคนให้เข้ามาหาศิลปะให้มากขึ้นได้อย่างไรครับ?
อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพูดไปตอนที่เขาเรียกแสดงวิสัยทัศน์กับกรรมการมูลนิธิ ซึ่งจะคล้ายๆ การสอบสัมภาษณ์ คือผมเป็นอาจารย์มาตลอดชีวิต ตอนนี้ผมก็ยังเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษามันเป็นเรื่องแรกสำหรับผม แล้วผมก็เห็นว่าเมืองไทยเราพัฒนาศิลปินเยอะมาก เราทุ่มเทกับการบ่มเพาะศิลปิน แต่สิ่งที่เราไม่ได้พัฒนาไม่ได้บ่มเพาะเลยคือคนดู เพราะฉะนั้นผมจะพยายามคิด แล้วฝ่ายการศึกษา [ของ BACC] ก็จะช่วยกันคิดวิธีการต่างๆ ให้คนที่มาดูนิทรรศการจะต้องได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับงานนั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือความรู้และข้อมูลที่ได้ มันต้องไปเชื่อมโยงอะไรได้กับชีวิตประจำวัน อันนี้นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ
แล้วผมก็อยากให้ศิลปินแต่ละสายออกนอกคอมฟอร์ตโซนไปทำงานกับสาขาอื่นบ้าง เช่นไปทำงานกับนักวิทยาศาสตร์บ้าง อย่างกิจกรรมที่เราจัดในนิทรรศการคาราวัจโจ เราก็เชิญนักวิทยาศาสตร์มา [ทำทอล์คเรื่องศิลปะ] ด้วย เราใช้ชื่อว่า ‘จับวิทย์ชนศิลป์’ เพราะจริงๆ แล้วคาราวัจโจก็เหมือนกับดา วินซี คือเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย คือคนสมัยก่อนผมว่าโชคดีกว่าเรา ตรงที่เขาได้เรียนทั้งสองด้าน แต่ปัจจุบันมันต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทีนี้มันก็กลายเป็นปัญหาของประเทศนี้ คือการที่เราแยกคนเป็น 2 ประเภทนี่ ทั้งที่จริงสมองมันมีสองด้าน ชีวิตคนก็มีทั้งสองด้าน ทุกวันคนเราต้องใช้ทั้งสองอย่างอยู่ด้วยกัน
ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นแหล่งเรียนรู้ เราจะทำอย่างไรที่จะเอาไอ้สองด้านนี้ให้กลับมาเข้าเจอกันได้อีก อย่างในมหาวิทยาลัยเขาก็พยายามทำ แต่เขาทำแล้วไม่สำเร็จ เพราะอย่างภาควิชาที่เขาสอนศิลปะ ทัศนศิลป์มีอยู่ชั้นนึง นาฎศิลป์ก็อยู่อีกชั้น ภาควิชาดนตีก็อยู่อีกชั้น ละครก็อยู่อีกชั้นหนึง แต่ไอ้สี่ชั้นนี้ไม่เทำงานด้วยกันเลยแม้จะอยู่ตึกเดียวกัน อยู่คณะเดียวกัน นี่คือปัญหา
แล้วอีกเหตุผลสำคัญที่ [ที่ต้องจับความรู้สาขาต่างๆ มาเจอกัน] ก็คือแนวโน้มศิลปะร่วมสมัยตอนนี้ทุกอย่างมันกลืนกันหมดใช่ไหมครับ นักดนตรีก็มาเล่นละครแล้วก็มาทำงานนาฎศิลป์ด้วย นักดนตรีมาทำงานทัศนศิลป์ก็มี นี่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราจะตามเขาทันไหม ถ้าสถาบันการศึกษายังแบ่งแยกอยู่แบบนี้ แล้วพอศิลปินแยกเป็นสาขา แยกเป็นสายๆ อย่างนี้ คนดูก็แยกเหมือนกัน แต่ BACC –ด้วยโครงสร้างนะครับ มันทำมาเพื่อทุกสาย และมันต้องการให้คนได้ดูงานศิลปะหลายๆ สาขาอยู่แล้ว ผมว่ามันก็เป็นความท้าทายของผม เช่นตอนนี้ที่คาราวัจโจได้รับกระแสความนิยม คนก็จะมาแต่งานคาราวัจโจอย่างเดียว แต่ไม่ขึ้นไปดูงานพี่วสันต์
เสียดายจัง งานนั้นดีมากเลยครับ ผมชอบมาก คือถ้าถามผมนะ ตอนนี้นิทรรศการที่ผมชอบที่สุดคือนิทรรศการพี่วสันต์ เราได้เห็นภาพรวมของศิลปินคนหนึ่ง แล้วก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องสังคมการเมืองของประเทศไทยด้วยนะครับ ซึ่งมันคุยกันได้หลายประเด็นมาก
แล้วมีวันหนึ่ง เป็นวันอังคารประมาณ 11 โมง ผมพาท่านทูตเปรูขึ้นไปนิทรรศการชั้น 8 ของพี่วสันต์ แล้วก็เจอนิสิตจุฬาฯ กลุ่มหนึ่ง เขามากับอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ผมก็คุยกับเขาว่ามาทำอะไรกันแต่เช้าเลย เขาบอกเขามาเรียนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส คือแทนที่จะสอนในห้องหรือจะพาไปคาเฟ่ จิบกาแฟ กินครัวซองต์ เขากลับพามาที่นิทรรศการพี่วสันต์ ซึ่งผมว่าสิ่งที่เขาจะได้คือ 1. ได้คำศัพท์ที่ใหม่ๆ เยอะมาก และ 2. เขาได้คุยกันเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เพราะคนฝรั่งเศสเขาจะชอบคุยเรื่องการเมืองเรื่องสังคมอยู่แล้วใช่ไหมครับ อันนี้มันก็คือการเรียนรู้ แต่เรียนรู้ในที่ๆ ไม่ใช่ห้องเรียน ซึ่งถ้าครูทุกคนในเมืองไทยคิดแบบนี้ได้นี่ ไม่ใช่แค่วงการศิลปะที่จะเจริญ แต่ทุกอย่างมันจะเจริญน่ะ อย่างคุณครูคนนี้ที่มาสอนภาษาฝรั่งเศสในนิทรรศการศิลปะ เขาอาจไม่ได้มีความรู้เรื่องศิลปะ แต่ต้องการหาอะไรที่ใหม่ แล้วก็หาแรงบันดาลใจ หาข้อมูล
และได้หาเรื่องคุยกับนักเรียนด้วย ได้หาเรื่องคุยกันด้วย ซึ่งผมว่างานพี่วสันต์มีอะไรให้คุยได้เยอะ เหล่านี้มันคือสิ่งเราไม่ได้จัด แต่คนเขาก็เข้ามา เพราะว่าเป็นที่สาธารณะ
อาจารย์คิดว่าสังคมศิลปะในเมืองไทยเป็นสังคมคอนเซอร์เวทีฟหรือเปล่าครับ? ค่อนข้างนะ ผมว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจศิลปะร่วมสมัยนะครับ เพราะด้วยโครงสร้างต่างๆ ทำให้บางทีศิลปะมันยังเป็นของคนกลุ่มเดียว เป็นของคนชนชั้นเดียวที่จะเข้าใจได้ ซึ่งสมัยก่อนมันก็เป็นแบบนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว ศิลปะร่วมสมัยมันคือของคนทุกคน เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะมีหอศิลป์จากเงินภาษีประชาชนทำไม
แต่ปัญหานี้มันก็อยู่ตั้งแต่ระดับประถม คือเรามีวิชาวาดรูป มีวิชาปั้นดินน้ำมัน มีวิชาเรียนนาฎศิลป์ไทย มีเล่นดนตรีสากลด้วย แต่เราไม่เคยสอนให้นักเรียนดูภาพเขียน เราไม่เคยสอนให้นักเรียนฟังดนตรี เราไม่ได้เน้นตรงนั้นเลยนะครับ แล้วพอไม่เข้าใจศิลปะ ศิลปะมันก็เลยเป็นเรื่องไกลตัว และสุดท้ายแล้ว พอนักเรียนพวกนี้ถึงช่วงเวลาหนึ่ง เขาก็จะต้องเริ่มเข้าโรงเรียนกวดวิชา ที่เดี๋ยวนี้บางทีแค่ป.4 ก็กวดวิชาแล้ว ยิ่งพอ ป.6 นี่ยิ่งต้องเข้าทั้งปีเลย เขาก็จะห่างไกลจากศิลปะมากขึ้น มันก็เลยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขา
แม้ตอนนี้หอศิลป์จะมีคนเข้าเยอะ แต่ก็ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย มันไม่เหมือนอย่างประเทศฝรั่งเศสที่ใครๆ ก็ไปพิพิธภัณฑ์ มันเป็นเรื่องธรรมดามากที่คนฝรั่งเศสจะไปลูฟร์ เป็นเรื่องปกติมาก ก็เพราะเขาไปตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่ครูเขาพาไป แล้วครูพาไปก็ไม่ได้เพื่อเรียนศิลปะอย่างเดียว เขาไปเรียนสังคม เขาไปเรียนประวัติศาสตร์ ไปเรียนการเมืองด้วย
หรือว่าเพราะมิวเซียมประเทศเขามันมีอะไรให้ดูด้วยหรือเปล่า? มันก็ส่วนหนึ่งแหละครับ มันต้องมันก็มีอะไรให้ดูด้วย ซึ่งมันก็มาจากการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งเยอะมาก
3. เรื่องเงิน
ปีนี้ BACC มีอายุครบ 10 ปีแล้ว และผมสังเกตว่าคนเข้า BACC ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ นะครับ อาจารย์เคยคิดทำเรื่องให้องค์กรมีความอิสระที่รับบริจาคเองโดยไม่ต้องขึ้นกับอะไรได้ไหมครับ? เพราะผมว่าคนพร้อมจะบริจาคก็เยอะอยู่ เพราะทุกคนรู้กันดีว่า BACC เป็นหอศิลป์ที่ได้เงินน้อยมาก มันก็เป็นไปได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจก่อนนิดหนึ่ง ว่าการสนับสนุนเรื่องศิลปะของภาคเอกชนบ้านเรายังไม่ค่อยเหมือนต่างประเทศน่ะ ต่างประเทศเรื่องการทำ CSR ของเขาจะชัดเจนมาก โดยที่หลายๆ ประเทศเขาไม่ต้องขึ้นโลโก้ด้วยซ้ำ เขาจะสงบเงี่ยมมาก หรือจะบอกว่าให้รู้ว่าเขาทำแล้วกันนั่นคือส่วนหนึ่ง
แล้วอย่างที่สองก็คือว่าไอ้เรื่องแรงจูงใจครับ แรงจูงใจที่ระบบภาษีของรัฐบาลมีให้ เช่นในต่างประเทศเขาจะมีหลายอย่างมาก เช่น ถ้าใครสนับสนุนสถาบันการศึกษาหรือองค์กรทางศิลปะ เขาจะใช้หักภาษีคืนได้ 2 เท่า ส่วนเมืองไทยสถาบันการศึกษาและด้านศิลปวัฒนธรรมก็เป็นอย่างนั้น แต่มีอยู่แค่ 5 กองทุนที่จะหักคืนภาษีได้ 2 เท่า แล้ว 5 กองทุนนั้นอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมทั้งหมด
แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรมไหมครับ เราไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทหนึ่งเขาจะมาบริจาคให้ BACC แล้วเขาไม่ได้หักภาษี 2 เท่า เขาก็ไปบริจาคให้กระทรวงวัฒนธรรมไม่ดีกว่าหรือ
อาจารย์จะผลักดันเรื่องนี้ไหมครับ? ผลักดันครับ ผลักดันอยู่ เพราะก็รู้ว่ามีคนอยากจะสนับสนุนอยู่ และคนที่สนับสนุนเขาก็อยากช่วยจริงๆ
ที่นี่มีกล่องบริจาคไหมครับ? มีอยู่ครับ เคาเตอร์ประชาสัมพันธ์ชั้น 5 ก็มี ตอนนี้มีชั้น 7 8 9 มีหมดแล้ว และตอนนี้เนื่องจากสถานะทางการเงินไม่ดีอย่างแรง ก็บอกเจ้าหน้าที่นำชมว่าขอบริจาค แล้วคนก็ช่วย อย่างอาจารย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่วันนั้นมาบรรยาย อาจารย์เขาก็ไม่รับค่าตัวนะครับ หรือว่าคุณนที (อุตฤทธิ์) ที่เพิ่งมาบรรยาย เขาก็ไม่รับค่าตัว แล้วก็ขึ้นสไลด์ด้วยว่า Please Donate
อาจารย์คิดว่า ทำไมเราจึงควรสนับสนุนศิลปะครับ? เราหมายถึงใครครับ?
หมายถึงคนที่เขาจะบริจาคให้ศิลปะครับ เขามีเหตุผลอะไรในการที่จะบริจาคให้ BACC ผมมองว่าที่จริง BACC เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจนะครับ เอาง่ายๆ เลย จากสถิติ– 35% ของคนที่เข้ามาใน BACC เป็นนักเรียนนักศึกษา แล้วพอผู้ว่าฯ พูดถึงเรื่อง co-working space ผมเลยแปลกใจ เพราะพวกนักเรียนเขาก็มากันอยู่แล้ว แค่เขาไม่ได้มานั่งโต๊ะติวหนังสือกัน แต่เขามาเรียนรู้ในวิธีการของเขาที่เป็นแบบ self-lerning แล้วก็ในช่วงเวลาและจังหวะที่เขาอยากจะมา
แล้วก็อย่างที่เราคุยกันตั้งแต่ตอนแรก ว่าเราพัฒนาศิลปินเยอะแล้ว ฉะนั้นเราก็น่าจะมาพัฒนาเรื่องผู้ชม เพราะการบริหารจัดการศิลปะวัฒนธรรมมันจะมี 3 อย่าง คือศิลปิน ผู้สนับสนุน แล้วก็ผู้ชม ในส่วนของศิลปินเราก็พัฒนากันไปเยอะแล้ว ที่เหลือตอนนี้ก็กำลังมีปัญหากับผู้สนับสนุนแล้วก็ผู้ชม ซึ่งเป็นงานหลักที่จะต้องทำต่อไป
แล้วก็อย่างที่บอกไป ว่าถ้าตอนเด็กๆ ครูเคยพาเราไปพิพิธภัณฑ์ แล้วเราได้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร เช่นมันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เราจะเข้าใจว่างานศิลปะที่มีอยู่มันเกี่ยวข้องกับวิชาอื่นๆ อย่างไร ถ้าเเห็นว่าศิลปะวัฒนธรรมันเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนตั้งแต่เด็ก ปัญหาอย่างตอนนี้มันคงไม่เกิดขึ้น มันก็จะไม่มีการตั้งคำถาม ว่าทำไมภาครัฐจะต้องสนับสนุน หรือคำถามอย่างที่คุณถามนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
สิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ คือพยายามไปขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยอธิบายว่านี่คือสิ่งที่เรากำลังทำ ซึ่งเขาก็เห็นด้วยนะ แล้วก็คาดว่ามันก็จะค่อยๆ พัฒนากันไปจริงๆ ผมว่าอีกหน่อยก็จะมีคนอย่างครูฝรั่งเศสคนนั้นเยอะขึ้น เช่นตอนเดือนกรกฏานี้จะมีนิทรรศการภาพถ่ายที่จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย จะเป็นธีมเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมก็หวังว่าครูที่สอนชีวะจะสนใจ เพราะมันเป็นภาพสัตว์เยอะแยะมากมาย ครูก็อาจจะพาเด็กมา หรือเด็กจะมาเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ ไม่ได้มานิทรรศการภาพถ่ายเพื่อแค่จะเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ ผมก็หวังว่ามันจะเกิดอะไรแบบนั้นมากขึ้น
3. เรื่องการเมือง
เนื่องจาก BACC เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ดังนั้นจะสามารถแสดงงานศิลปะที่มีประเด็น controversy (ประเด็นเสี่ยงและท้าทาย) ทางการเมืองได้แค่ไหนครับ โห ของพี่วสันต์น่ะ บางรูปก็ controversial มากจนผมว่าไอ้รูปนี้ไม่รอดแน่ เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งผมก็บอกเพื่อนไว้ว่า เอ๊ย มาดูตั้งแต่วันแรกๆ นะ เพราะไม่รู้จะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่มันก็อยู่ได้นะ ซึ่งผมก็แปลกใจ
แต่ผมมองว่าในช่วงเวลานี้นะครับ ที่เราเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเราค่อนข้างจะจำกัด การที่เขาปล่อยให้มีงานแบบนี้ออกไปบ้างมันก็ดีนะ คือดีกับภาพลักษ์ของรัฐบาลปัจจุบันนี้นะ หรือบางภาพที่เป็นภาพที่มีเนื้อหาประเด็นทางเพศที่โจ่งแจ้ง มีการแสดงสัญลักษณ์ทางเพศที่โจ้งแจ้งนี่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของไทเป ซึ่งคล้ายๆ กับสถานทูตไต้หวัน เขายังบอกเลย ว่านี่ถ้าเป็นไต้หวันต้องกั้นม่านแล้วนะ ขนาดไต้หวันซึ่งเราการแสดงศิลปะวัฒนธรรมเขาเจริญกว่าเรา คือที่จริงเราก็ทำอะไรได้เยอะเหมือนกัน
ที่น่าสนใจก็คือ ก็กลับมาที่ประเด็นเดิม ว่าเราสอนให้เด็กดูงานศิลปะอย่างไร บางทีเราเซ็นเซอร์เด็กหรือเปล่า เพราะทุกวันก็จะมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาเป็นกลุ่ม แล้วก็มีเจ้าหน้าที่นำชมพาทัวร์ที่ต่างๆ ที่ผ่านมามีครูและอาจารย์จำนวนไม่น้อยเลย ที่เลือกจะไม่ดูนิทรรศการพี่วสันต์
เพราะโป๊? แต่ในขณะที่เพื่อนผมมีลูก 7 ขวบ เขาก็พามาแล้วเขาก็อธิบายได้ อีกคนลูก 12 ขวบ แล้วลูกเป็นแบบสามเณรปลูกปัญญานะครับ สไตล์ชอบสวดมนต์อะไรอย่างนี้ เขาก็พามา แล้วลูกก็ชอบ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ผู้ปกครองหรืออยู่ที่ครูแล้ว ว่าเลือกที่จะไม่พานักเรียนไปชมนิทรรศการพี่วสันต์เพราะว่าครูอธิบายไม่ได้หรือเปล่า
กลับมาที่การเมืองอีกที ถ้าเป็นความ controversy ในแง่การเมืองล่ะครับ BACC รับได้แค่ไหนครับ? ก็อย่างที่บอกว่างานพี่วสันต์บางอันก็การเมืองแรงมาก คือบางทีมันก็พูดยากนะ แต่เท่าที่ผมรู้จักที่นี่มานะ คนทำงานที่นี่เองก็มีหลายฝ่าย แล้วตอนนี้คนก็จะเข้าใจไปว่าที่เรามีปัญหาเรื่องงบประมาณแบบนี้ เป็นเพราะว่าเราเป็นพื้นที่ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า ซึ่งนโยบายปัจจุบันนี้มันก็คือว่า ถ้าจะมาประท้วงอะไรกันอย่างเดียวที่มันไม่เกี่ยวกับศิลปะเราก็ไม่อนุญาต แต่ถ้าคุณจะมาอ่านบทกวี มีคอนเสิร์ตมีอะไรต่างๆ นาๆ แล้วก็แสดงความคิดทางการเมืองของคุณก็ได้
อย่างนั้นก็แฟร์ดีนะครับ ก็แฟร์ดี เพราะมันก็เป็นศิลปะนี่ เพราะว่าคนบางคนที่มาดูงานนี้ เขาอาจจะไม่ได้เก็ตเรื่องประเด็นเรื่องการเมืองของคุณก็ได้ เขาแค่อยากฟังเพลงเพราะๆ เพลินๆ อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ทำให้เป็นที่เข้าใจกัน ว่าสุดท้ายศิลปะกับการเมืองมันก็แยกกันไม่ได้ แม้แต่รามเกียรติ์ก็เป็นเรื่องการเมืองใช่ไหมครับ
コメント